ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"Spot Check" ช่องโหว่ส่วยทางหลวง

เศรษฐกิจ
4 ก.ย. 67
21:26
607
Logo Thai PBS
"Spot Check" ช่องโหว่ส่วยทางหลวง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมทางหลวง สั่งออกจากราชการไว้ก่อน เจ้าหน้าที่เรียกรับเงินรถบรรทุก พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อขยายผล ยอมรับ "สปอตเช็ก" คือช่องโหว่ของการตรวจจับน้ำหนักเกิน ยืนยันจำเป็นต้องมี

วันนี้ (4 ก.ย.2567) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า จากกรณีตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร่วมบูรณาการกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. นำกำลังบุกตรวจค้น 11 เป้าหมาย ในพื้นที่ 7 จังหวัด พร้อมหมายจับเข้าควบคุมตัวนายนพดล และ นายเอนก เจ้าหน้าที่รัฐ ในสังกัด กรมทางหลวง และพลเรือนอีกหนึ่งคน ร่วมกันเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรถบรรทุก แลกกับการบรรทุกน้ำหนักเกินโดยไม่ถูกเอาผิด

พร้อมยอมรับว่า รูปแบบส่วนสติ๊กเกอร์ที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้มีจำนวนการจับกุมที่ลดลงเนื่องจากการตรวจเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงที่ถูกจับกุมนั้น เบื้องต้นมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว และจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อขยายผลต่อไป

สปอร์ตเช็กจุดรอยรั่วส่วยทางหลวง

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การปฏิบัติงานตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินโดยหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (spot check) เป็นจุดที่แตกต่างกับระบบการตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุกขณะรถวิ่ง หากพบว่ารถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือ Weight In Motion (WIM) เนื่องจาก WIM จะถูกติดตั้งเป็นด่านถาวร เมื่อรถบรรทุกวิ่งเข้าด่าน ระบบจะมีการตรวจน้ำหนักว่าบรรทุกเกินหรือไม่ และจะมีกล้องบันทึกป้ายทะเบียนรถ หากบรรทุกน้ำหนักเกินก็จะแจ้งมายังกรมทางหลวง และมีการบูรณาการความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในเรื่องของระบบ GPS นำมาใช้ร่วมกับระบบ WIM เพื่อติดตามรถบรรทุกที่คาดว่าจะมีน้ำหนักเกิน และดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย

แต่ยอมรับว่า สปอตเช็ก คือช่องโหว่ของการตรวจจับน้ำหนักเกิน เพราะเมื่อเป็นหน่วยเคลื่อนที่ก็ทำให้มีโอกาสระหว่างเจ้าหน้าที่และคนขับที่อาจจ่ายส่วยได้ แม้จะมีความเสี่ยงแต่สปอตเช็ก ยืนยันว่า จำเป็นต้องมี เพราะไม่สามารถตั้งด่านตรวจจับน้ำหนักเกินได้ทุกเส้นทาง เพราะยังมีเส้นทางหลบเลี่ยง วิธีการแก้ปัญหา มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ ทั่วประเทศ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความคุ้นเคยของเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการขนส่งเพื่อป้องกันโอกาสการทุจริต

“วันนี้ถามว่ารู้ว่ามีคนทำผิดไหมบอกว่ามี แต่คนที่คนที่รู้ก็ต้องแจ้งมาชัดๆ จะมีหลักฐานไปแอบถ่ายคลิปมาก็ได้นะครับ สำหรับความยากในการตรวจสอบ มองว่า คือมันจะเป็นอย่างนี้ครับ ทำไมเขาต้องให้เงินถ้าไม่ได้บรรทุกน้ำหนักเกิน คนรับก็ถือว่าผิด และคุณเป็นคนให้เงินก็ถือว่า ทำผิดมันก็ผิดทั้งคู่ ถ้าโดนก็โดนทั้งคู่”

เพราะฉะนั้นก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การจับยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามขอให้มีหลักฐานชัดเจน หรือหากมองว่าคนนี้มีพฤติกรรมขอให้แจ้งก็จะส่งต่อไปเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและนำไปสู่การจับกุมต่อไป

ระบบ WIM ดีกว่าแต่ใช้งบมากกว่า

แม้ว่าระบบ WIM จะดีกว่า แต่ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวนมาก 1 แห่ง อาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 20 ล้านบาท จึงไม่สามารถติดตั้งทั่วประเทศได้ ขณะเดียวกันก็จะมีการคัดกรองการตรวจสอบ เพราะไม่สามารถให้รถบรรทุกทุกคันเข้าตรวจสอบที่ด่านได้ เนื่องจากมีรถจำนวนมากและอาจมีปัญหาจราจรหน้าด่านได้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาส่วยสติ๊กเกอร์ ก็มีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ตรวจสอบหากพบว่าใครมีพฤติกรรมไม่ดีจะไม่ให้ออกตรวจ

ขณะเดียวกันยังได้หารือกับสำนักงบประมาณ ซึ่งได้งบประมาณมากกว่าปี 2568 เพื่อตั้งจุดตรวจรถบรรทุกใน กทม. โดยเตรียมติดตั้งจุดตรวจรอบนอก กทม.อีก 10 จุด เพื่อตรวจสอบรถบรรทุกที่เข้าออกไม่ให้บรรทุกเกินน้ำหนัก

ขณะที่ผลการดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของสถานีตรวจสอบน้ำหนักและหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) จากทุกสถานีฯ และหน่วยเฉพาะกิจส่วนกลาง ทำการออกสุ่มตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะทั่วประเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ต.ค.2566 - 1 ก.ย.2567) จับกุมรวมได้ 2,611 คัน

ซึ่งมีสถิติรถบรรทุกเข้าชั่งน้ำหนักที่สถานีฯ ปีงบประมาณ 2567 ถึงวันที่ 31 ส.ค.2567 จำนวน 30,818,812 คัน จับกุมที่สถานีได้ 1,279 คัน คิดเป็นอัตราส่วนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน อยู่ที่ 4.2 คัน/100,000 คัน

และการปฏิบัติงานตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินโดยหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (spot check) ในปีงบประมาณ 2567 มีการเรียกตรวจสอบรถบรรทุกจำนวน 33,167 คัน มีการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินจำนวน 1290 คันคิดเป็น 3.9%

รถบรรทุก ที่มีน้ำหนักเกินมากกว่า 10 ตัน ขึ้นไป เทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2566 และ 2567
-ปี 2566 จับกุม 3,149 คัน รถบรรทุกน้ำหนักเกินมากกว่า 10 ตัน จำนวน 231 คัน คิดเป็น 7.3 %
-ปี 2567 จับกุม 2,599 คัน รถบรรทุกน้ำหนักเกินมากกว่า 10 ตัน จำนวน 355 คัน คิดเป็น 13.6 %

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนน้ำหนักเกิน 10 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6.3 %

อ่านข่าว : 

ตร.ให้ประกัน 3 ผู้ต้องหาเรียกรับเงินรถบรรทุก-ขยายผลจับเครือข่าย

รวบหัวหน้าด่านชั่งน้ำหนักวังน้อย เก็บส่วยรถบรรทุก พบโยงบัญชีม้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง