- เช็กนิยาม "หมาอันตราย" คาดกฎหมายลูกบังคับใช้เร็วสุดสิ้นปีนี้
- เตี้ย ล่ำ ตัน สัญชาตญาณนักล่า "ต่ำ" สุนัขสายพันธุ์อเมริกันบูลลี่
วันนี้ (1 ส.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีชายอายุ 18 ปีถูกสุนัขสายพันธุ์อเมริกัน บูลลี รุมกัดจนเสียชีวิตในบ้านพักที่ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา
ครอบครัวของผู้เสียชีวิตยังอยู่ในอาการโศกเศร้า โดยเฉพาะพี่ชาย ผู้เป็นเจ้าของสุนัขทั้ง 3 ตัวที่รุมกัดน้องชายตัวเองจนเสียชีวิต ยอมรับว่าทำใจเลี้ยงต่อไม่ไหว โดยมีหน่วยงานกลาง และมีบุคคลติดต่อขอรับเลี้ยงแล้ว แต่อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมและตกลงเงื่อนไขต่อกัน ส่วนสาเหตุที่สุนัขมีพฤติกรรมดุร้าย คาดว่าอาจเกิดจากความเครียดสะสม
อ่านข่าว : วงจรปิดบันทึกเหตุชาย 18 ปีถูก 3 สุนัขอเมริกันบุลลีขย้ำตาย
ขณะเดียวกันมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพาะเลี้ยงและประกวดสุนัขสายพันธุ์อเมริกัน บูลลี มานานกว่า 20 ปี ระบุว่า สุนัขสายพันธุ์นี้มีการรับรองว่าเป็นมิตรสูง มั่นคงทางอารมณ์ ไม่ก้าวร้าว แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเลี้ยงแบบฝูง โดยมีข้อสังเกตว่าทุกครั้งที่มีข่าวสายพันธุ์นี้ทำร้ายมนุษย์ พบในลักษณะการเลี้ยงเป็นฝูง 2-3 ตัวขึ้นไป อาจมีการปลุกเร้าอารมณ์ หรือหวงถิ่นเกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังคาดว่า สุนัข 3 ตัวอาจไม่ใช่สายพันธุ์อเมริกัน บูลลี แท้ และจากลักษณะกะโหลกศีรษะมีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์พิตบูล จึงแนะนำให้ส่งตรวจสอบสายพันธุ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม
ผู้เชี่ยวชาญ ระบุอีกว่า ปัจจุบันมีบรีดเดอร์ หรือกลุ่มผู้เพาะพันธุ์สุนัขอเมริกันบูลลี รวมกลุ่มและเพาะเลี้ยงกันอย่างมีมาตรฐาน มีใบรับรองสายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับผู้ต้องการเลี้ยงเลือกซื้อหาจากฟาร์มที่เชื่อถือได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำยืนยันดังกล่าว แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบตรวจสอบกลางที่ชัดเจนเหมือนต่างประเทศ เช่น ไม่มีข้อกำหนดเรื่องเนื้อที่การเลี้ยง และการกำหนดให้ดูแลได้กี่ตัว
กฎหมายขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงยังไม่บังคับใช้
ก่อนหน้านี้ มีความพยายามแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมทั้งการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ รวมถึงสวัสดิภาพสัตว์ การป้องกันโรคระบาด จำกัดการแพร่พันธุ์ ไปจนถึงการคุ้มครองป้องกันเมื่อเกิดการทำร้ายมนุษย์
เมื่อปี 2561 มีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ สาระสำคัญ เสนอให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง โดยให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ กำหนดค่าธรรมเนียมเรียกเก็บ เพื่อใช้ในการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ได้แก่ ค่าไมโครชิป หรือ คิวอาร์โค้ด ตลอดจนเป็นค่าฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมกำหนดค่าปรับไม่เกิน 25,000 บาท กรณีที่ไม่นำสัตว์เลี้ยงขึ้นทะเบียน
แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการประกาศบังคับใช้ โดยเป็นเพียงการเชิญชวนให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงขอขึ้นทะเบียนกับองค์กรท้องถิ่น เพื่อรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าประจำปี ในลักษณะสมัครใจ
อ่านข่าว
เช็กอาการเสี่ยง! ปศุสัตว์แม่สาย ประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้า
ผลเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี "กำนันตุ้ย" คะแนนนำทิ้งห่างคู่แข่ง
เร่งตามจับชาวเมียนมาฆ่ายกครัวเพื่อนร่วมชาติ คาดข้ามฝั่งหลบหนี