เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้งกรณีการรื้อฟื้นสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" กั้นแม่น้ำยมป้องกันน้ำท่วม และกักเก็บน้ำ ทำให้ชาว ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกมาคัดค้าน และเตรียมรวมตัวเคลื่อนไหวใหญ่ในสัปดาห์หน้า
หลังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ออกมาพูดถึงสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือ โดยขอให้เป็นประเด็นสาธารณะที่จะพิจารณา
ปลุกผีแก่งเสือเต้นป้องกันน้ำท่วม
นายภูมิธรรม บอกว่า ถึงเวลาที่ต้องพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทำการศึกษาอย่างรอบด้านอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.แพร่ และสุโขทัย พร้อมจะประสานเวิลด์แบงก์
ถึงเวลาต้องพูดเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาทำอะไรไม่ได้ เพราะยังมีความเห็นต่างสองฝ่าย ระหว่างชาวบ้านที่เผชิญน้ำหลาก น้ำขัง และอีกมุมเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คงไม่มีสิ่งใดที่ได้อย่างเดียว ต้องดูผลกระทบ แต่ขอให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะที่จะพิจารณาอย่างถ่องแท้
นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ และประธานคณะกรรมการต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บริเวณศาลาวัดดอนชัยหมู่ 1 ต.สะเอียบ เพื่อคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น มีการต่อสู้เรื่องนี้มานาน 30 ปี
ชาวบ้านบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อน เพราะจะส่งผลกระทบกับชุมชนนับพันครอบครัว รวมถึงทำลายป่าสักทองนับ 10,000 ไร่ โดยในวันที่ 7 ก.ย.นี้ กลุ่มชาวบ้านในตำบลสะเอียบ เตรียมรวมตัวเคลื่อนไหวอีกครั้ง ด้วยการเผาหุ่นผู้ที่ออกมาให้ความเห็นสนับสนุน 3 คน คือ นายภูมิธรรม นายสมศักดิ์ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี พร้อมจะต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ถึงที่สุด
ไม่ใช่ทางออกแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะมีการบริหารจัดการน้ำภายใต้สะเอียบโมเดล ใช้เป็นแนวทางป้องกันน้ำไม่ให้หลากด้านล่าง
ชี้เขื่อนไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมจ.สุโขทัย
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่า ต่อให้มีเขื่อนแก่งเสือเต้นน้ำก็ยังท่วมสุโขทัย เพราะน้ำไม่ได้มาจากลำน้ำยมเพียงอย่างเดียว มีนักวิชาการวิเคราะห์หลายคน หลายสำนักว่าต่อให้มีเขื่อนแก่งเสือเต้น สุโขทัยก็ยังเสี่ยงน้ำท่วมเช่นเดิม แม้จะเก็บกักได้ระดับ
แต่ละปีปริมาณน้ำที่เข้าสุโขทัยมาไม่ได้มาจากแพร่ และหากทุกปียังท่วมอีก คำถามคือมันไม่ได้คุ้มค่าที่จะแลกป่าที่สูญเสียหรือไม่
ไทม์ไลน์ 30 ปีเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่แผ่ว
การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกผลักดันมาแล้วในหลายรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2523 ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ
- 2532 กฟผ.โอนให้กรมชลประทานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- 2539 ชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวชุมนุมให้ยกเลิกโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ชะลอออกไปก่อน
หลังจากนั้นในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ผลักดันโครงการอีกครั้ง แต่ก็เผชิญกับเสียงคัดค้าน
- 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยิบยกโครงการนี้ขึ้นมาศึกษา
โครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำยม หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งมีรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ และผลกระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้านนับพันครอบครัว ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ออกมาคัดค้าน และเคลื่อนไหวต่อต้านมายาวนาน 35 ปี
อ่านข่าว :