ตลอดทั้งปี 2567 หมอกควันและไฟป่า ทีมข่าวศูนย์ข่าวภาคเหนือ ได้ติดตามสถานการณ์มาต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนปัญหาทั้งระดับนโยบายรัฐ จังหวัด และภาคประชาชน ที่อยากให้เห็นการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม
ก่อนเกิดวิกฤตหมอกควันและไฟป่า นายเศรษฐา ทวีศิลป์ อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 29 พ.ย.2566 เพื่อมอบโยบายให้กับผู้ว่าราชการในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด
โดยระบุว่า เป็นงานแรกๆ ที่รัฐบาลตั้งเป้าแก้ปัญหา พร้อมรับข้อเสนอจากนาย บัณรส บัวคลี่ ตัวแทนจากสภาลมหายใจภาคเหนือ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาป่า 11 แปลงใหญ่ ที่ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของฝุ่นในภาคเหนือ มากถึงร้อยละ 70 เนื่องจากพบจุดความร้อน มากกว่า 1.7 แสนจุด และพื้นที่เผาไหม้กว่า 20 ล้านไร่
สภาลมหายใจภาคเหนือ จึงเสนอให้รัฐบาล “นายเศรษฐา” เน้นเป็นวาระสำคัญตั้งเป้าลดพื้นที่จุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ให้ลดลงร้อยละ 50 และเร่งผลักดันนโยบายร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ตลอดจนร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งแก้ปัญหาสุขภาพและการท่องเที่ยว
รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับเรื่องอากาศสะอาด อากาศสะอาดเป็นของฟรี หากรัฐบาลไม่ให้ความสนใจหรือสามารถทำให้ดีขึ้นได้ จะกลายเป็นปัญหา รัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก
ส่วนการแก้ปัญหาข้าวโพดและพืชผลทางการเกษตรที่ทำให้เกิดฝุ่นรัฐบาลมองว่า ภาคเอกชนที่รับซื้อ และการกำจัดเศษซังข้าวโพด ตอข้าวต้องได้ถูกจัดการอย่างถูกต้องตามหลักการที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่
หากพูดจากันแล้วไม่ทำตาม มาตรการภาษีก็ต้องมีมา นายทุนจากบ้านเราไปทำมาหากินในประเทศเขา และไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รัฐบาลนี้ก็ยอมรับไม่ได้
11 ป่าแปลงใหญ่ โจทย์ท้าทายแก้ฝุ่น
“ป่าแม่ปิง” พื้นที่ป่าเหนือเขื่อนภูมิพล ที่ผ่านมาเป็นจุดที่เกิดไฟป่ามากกว่า 8 แสนไร่ เป็นสาเหตุสำคัญของฝุ่นควันในพื้นภาคเหนือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วางแผนลดฝุ่นจุดนี้ให้ลดลงให้ได้มากกว่าร้อยละ 50
แต่ก็เป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย ในผืนป่าขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา หน้าผาสูงชัน ทำให้ยากต่อการเข้าถึงหากเกิดไฟป่า
นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผอ.สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า เคยระบุการว่าแก้ปัญหาป่าขนาดใหญ่ เช่น ผืนป่าแม่ปิง ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น รอยต่อ จ.เชียงใหม่ ลำพูน และตาก จะต้องมีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่เสือไฟ กว่า 300 นาย เข้าพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผอ.สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า
การเพิ่มกำลังคน ตั้งจุดสกัด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ารอยต่อ ที่มักลามเข้ามาใจกลางป่าอนุรักษ์ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนทั้ง ฝ่ายปกครอง กรมทหารราบที่ 7 และภาคประชาชน
ด้าน พล.ท.ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 จัดกำลังพลเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อฝึกการดับไฟป่าและเรียนรู้ข้อมูลแผนเผชิญเหตุก่อนปฏิบัติงาน ซึ่งการทำงานจะเป็นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยกองทัพสนับสนุน กำลังพล อุปกรณ์ และอากาศยาน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ก็ตาม
งบประมาณ-การถ่ายโอนท้องถิ่น โจทย์ใหญ่แก้ไฟป่า
โจทย์ใหญ่การแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุว่า ยังเป็นโจทย์เดิม คืองบประมาณ และการถ่ายโอนภารกิจให้กับท้องถิ่น
ซึ่งที่ผ่านมานายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เคยนำเสนอกับรัฐบาลแม้รัฐบาลได้กำหนดหลายๆ ยุทธศาสตร์ โดยฟังเสียงของประชาชนและหลายๆ ฝ่าย เช่น การแก้ปัญหาไฟไหม้ในผืนป่าขนาดใหญ่ การขับเคลื่อน พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่ภาคประชานก็ยังมีข้อกังวลเรื่องการกระจายงบประมาณแก้ปัญหา และการถ่ายโอนภารกิจให้กับท้องถิ่น
ซึ่งต่อมาก็เป็นไปตามที่ภาคประชาชนกังวล คืองบประมาณเกี่ยวกับไฟป่าของรัฐบาลนายเศรษฐา มาในช่วงท้ายๆของฤดูฝุ่น ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายได้หลายส่วน และที่สำคัญท้องถิ่นยังขาดการทำแผนงบประมาณด้านไฟป่า
ส่องงบประมาณรัฐแก้ปัญหาไฟป่าภาคเหนือ
หากดูข้อมูลย้อนหลังงบประมาณสำหรับแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จากสถิติโครงการป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2566 จะเห็นได้ว่ามีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เช่น
ปี 2558 ใช้เงินจำนวน 33 ล้านบาท
ปี 2559 ใช้เงินจำนวน 23 ล้านบาท
ปี 2560 ใช้เงินจำนวน 57 ล้านบาท
ปี 2561 ใช้เงินจำนวน 213 ล้านบาท
ปี 2562 ใช้เงินจำนวน 160 ล้านบาท
ปี 2563 ใช้เงินจำนวน 205 ล้านบาท
ปี 2564 ใช้เงินจำนวน 183 ล้านบาท
ปี 2565 ใช้เงินจำนวน 149 ล้านบาท
และปี 2566 ซึ่งแก้ปัญหาไฟป่าในปีนี้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2567 ครม.ยุคนายเศรษฐา ได้อนุมัติงบประมาณรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินทั้งสิ้น 272,655,350 บาท
แบ่งเป็นของกรมป่าไม้ เป็นเงิน 109,946,650 บาท และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 162,708,700 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
ทั้งนี้จังหวัดที่ต้องใช้งบฯ เกี่ยวกับการควบคุมไฟป่ามากที่สุด 3 อันดับ คือ เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ไฟป่า โดยปี 2558-2560 ใช้งบฯ ปีละ 20-50 ล้านบาท แต่ในปี 2561-2566 พบว่างบฯ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ปีละ 150-200 ล้านบาท
2567 ยกระดับการเตือน ปรับค่าPM 2.5
สาเหตุการยกระดับการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนให้มีความเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งการปรับมาตรฐานค่าฝุ่น ต้องเป็นตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ซึ่งนายปินสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุ ว่า เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักรู้และเฝ้าระวัง และมีรายงานสถานการณ์แจ้งเตือนต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อฝุ่นเริ่มเกินค่า
การวัดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และดัชนีอากาศที่เข้มขึ้น จากเดิมค่าเฉลี่ยฝุ่น 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัม ปีนี้ปรับใหม่เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนรายวัน และพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า 7 วัน รวมถึงแถลงเหตุการณ์ด่วนเมื่อสภาวะอากาศอยู่ในระดับวิกฤต
ส่วนมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน ปี 2567 ถือว่าเป็นปีแรกที่กรมควบคุมมลพิษ ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านติดตั้งระบบวัดค่าคุณภาพอากาศ และยกระดับเจรจาระดับพหุภาคี ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Clear Sky Strategy
อช.ออบหลวง-แม่โถ ไฟป่ารุนแรงภาคเหนือ
ภาพไฟป่าที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติออบหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กลายเป็นกระแสข่าวนานนับสัปดาห์ที่ไทยพีเอสภาคเหนือ เกาะติดสถานการณ์ สถานการณ์ไฟป่าในช่วงเผชิญเหตุ จนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในขณะนั้น ได้สั่งให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
นี่คือความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งในพื้นที่ป่า ไปจนถึงก่อปัญหาฝุ่นควัน โดยรอบครอบคลุมหลายจังหวัด ต้นเหตุมาจากการลอบเผา หาของป่า ทั้งที่มีคำสั่งไปแล้ว แต่ยังมีผู้ละเมิดกฎหมาย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการเร่งควบคุมเพลิง
ต่อมานายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ทุกส่วนอย่างใกล้ชิด และกลายเป็นนโยบายจังหวัด “ไฟป่าดับให้ได้ภายในวันเดียว” โดยเพิ่งกำลังพลและ บูรณาการทุกภาคส่วน ร่วมถึง นายกฤชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่ที่อนุรักษ์ที่ 16 กำชับกำลังพลในการดับไฟป่าและใช้เฮลิคอปเตอร์ ช่วยดับไฟป่า
รองผู้ว่าฯเชียงใหม่ ชี้สาเหตุไฟป่า
นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ไฟในพื้นที่ป่าผืนใหญ่โซนใต้ เชียงใหม่ กลุ่มพื้นที่ อ.ฮอด และรอยต่อ อ.แม่แจ่ม และ อ.จอมทอง ล้วนมีสาเหตุเกิดจากมนุษย์ โดยเมื่อวิเคราะห์แล้วก็พบหลายปัจจัย ได้แก่
ไฟจากความเชื่อและพฤติกรรมเดิม ๆ ที่ฝังลึกคือ เผาเพื่อหวัง ผักหวานป่า เห็ดถอบ ไข่มดแดง หรือ ให้ป่าโล่งสะดวกในการหาของป่า ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนค่านิยม สร้างอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ไฟจำเป็น ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ไฟสามารถยื่นขออนุญาตได้ผ่านเจ้าหน้าที่หรือ ระบบ Fire D แต่ปัญหา คือ ผู้บริหารระดับสูง โยกย้ายหลายตำแหน่ง อาจยังไม่เข้าใจนโยบาย และ ขาดความร่วมมือกับชุมชน ส่งผลให้มีการลักลอบจุดไฟ
ไฟแค้น เพราะในพื้นที่ยังมีกลุ่มนายทุน ผู้นำ และชาวบ้านบางคน ร่วมขบวนการลักลอบหาผลประโยชน์จากเขตป่าไม้ ล่าสุด ช่วงต้นปี มีคดีตัดไม้ประดู่ และมีเจ้าหน้าที่บางคนพัวพันและถูกไล่ออก ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุความขัดแย้งที่ไม่ได้ตัดทิ้ง ซึ่งต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด
ไฟอิจฉาริษยา เนื่องจากการสนับสนุน เงินทุนดับไฟป่า จะมอบให้กับหมู่บ้านที่เกิดจุดความร้อนมาก หมู่บ้านที่ไม่ได้อาจเกิดความน้อยใจ รวมทั้งการแข่งขันเลือกตั้งผู้นำระดับตำบล หมู่บ้าน คนแพ้จะค่อยขัดขวาง และ สร้างสถานการณ์ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจาก งบประมาณ และ ระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจที่ล่าช้า เนื่องจากการปรับเปลี่ยนฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ และ สภาพภูมิอากาศ ไม่เป็นใจ ปีนี้ไม่มีฝนมาช่วยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เหมือนปีก่อน และ การประกาศว่าจะเกิดพายุฤดูร้อน ก็ส่งผลให้ชาวบ้านบางกลุ่มเร่งจุดไฟ
เสนอทางออกแก้คนหาของป่า
นายเดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) มองว่าการห้ามเข้าหาของป่า เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ความจริงกฎหมายมีการปรับแก้ไขไว้แล้วใน ม.65 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ แต่ก็ยังไม่ดีพอ และไม่มีการนำมาบังคับใช้ ด้วยเหตุรอการตราอนุบัญญัติ
หากมีแล้วการนำมาวางแผน กับชุมชนมองว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ควรคิดเชิงรุกจากบทเรียนที่ออบหลวง ว่าต้องการระบบ กลไก ที่นำไปสู่ความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา ไม่ต้องการแค่การไล่จับใครมาโชว์แล้วปัญหาทางโครงสร้างยังดำรงอยู่เหมือนเดิม
อุบัติเหตุดับไฟป่า สวัสดิการคนทำงาน
กรณีรถของชุดปฏิบัติงานลาดตระเวนและดับไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทอง เสียหลักพลิกคว่ำตกดอยบ้านห้วยขนุน ต.ดอนแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บ 14 คน สาหัส 6 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 คน คือ นายสุรสิทธิ์ สัจจาบุญฤทธิ์ เป็นภาพสะท้อนคนทำงานดับไฟป่าที่ไร้กองทุนและสวัสดิการเยียวยา โดยเฉพาะอาสาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน ไม่มีสวัสดิการดูแล
สำหรับมาตรการจัดการเชื้อเพลิง เช่น ชิงเผา ทำแนวกันไฟ จัดการการเผา ห้ามเผา นำมาใช้หลายๆจังหวัด โดยเฉพาะเชียงใหม่มีการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ไฟดี” เป็นที่มาของเชียงใหม่โมเดล
ส่วนการปิดป่ายังเป็นมาตรการสำคัญที่ภาครัฐที่นำมาใช้กับสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรง เช่น พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้มีการแก้ปัญหาไฟป่าและการจัดการที่พักในพื้นที่ โดยห้ามบุคคลภายนอกเข้าพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนที่ผ่าน และอีกหลายพื้นที่ป่าที่เกิดไฟป่าและป้องกันไฟป่า
นี่เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์หมอกควัน และไฟป่า ประเด็น นโยบายรัฐบาล งบประมาณ กำลังคน และมาตรการต่างๆ ในปี 2567 ที่ทีมข่าวศูนย์ข่าวภาคเหนือขยายให้เห็นภาพกว้างๆ ติดตามซีรีส์ข่าวประเด็น “หมอกควัน-ไฟป่า” ได้ทุกเสาร์-อาทิตย์นี้
รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ
อ่านข่าว : "อภิสิทธิ์" เชื่อ ปชป.ร่วมรัฐบาล พท. กระทบจิตใจผู้สนับสนุน