จบปริญญาตรี พูดภาษาอังกฤษได้ โจทย์ใหญ่ รร.ไทยพร้อมหรือยัง

สังคม
30 ส.ค. 67
15:19
598
Logo Thai PBS
จบปริญญาตรี พูดภาษาอังกฤษได้ โจทย์ใหญ่ รร.ไทยพร้อมหรือยัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

17 มกราคม 2567 คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) ออกประกาศเรื่อง นโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2567 ประกาศฉบับนี้ ระบุว่า ให้สถาบันอุดมศึกษากำหนดนโยบายและเป้าหมายการยกระดับภาษาอังกฤษในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาทักษะความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษของนิสิตนักศึกษาให้มีความพร้อมมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้งานได้ ซี่งมีเกณฑ์ที่ใช้ในการวัดผลระบุไว้ด้วย

“ข้อ 8 ... ให้สถาบันอุดมศึกษาพิจารณาจัดให้นิสิตนักศึกษาทุกคน สอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้นหรือแบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่นๆ โดยเทียบเคียงผลกับ Common European Framework of Reference for Language (CEFR) เพื่อให้ทราบถึงผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษของนิสิตนักศึกษาแต่ละคน และสถาบันอุดมศึกษาอาจพิจารณานำผลการทดสอบความรู้และทักษะภาษาอังกฤษบันทึกในใบรับรองผลการศึกษา หรือจัดทำเป็นประกาศนียบัตร ทั้งนี้ เป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษ มีดังนี้ ...

(2) ระดับปริญญาตรี ควรกำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา เทียบเคียงกับผล CEFR ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B2 ขึ้นไป”

ประกาศฉบับนี้ มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ประกาศ คือ 17 มกราคม 2567 แต่เพิ่งถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา หลังถูกแชร์ออกมาในโลกออนไลน์ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ยังมีข้อห่วงใย

ฝ่ายที่เห็นด้วย มองว่า ประเทศไทยควรจะมีเกณฑ์วัดทักษะภาษาอังกฤษให้นักศึกษาที่จะจบปริญญาตรีต้องใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้เป็นอย่างน้อย เพราะหลักเกณฑ์แบบเดียวกันนี้ถูกบังคับใช้ไปนานแล้วในหลายประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม

ส่วนที่ฝ่ายที่ยังมีข้อกังวล ตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศให้วัดทักษะภาษาอังกฤษด้วยหลักเกณฑ์ CEFR ในระดับ B2 กับนักศึกษาที่จะจบปริญญาตรีในทีเดียว เหมือนเป็นการมองข้ามการเรียนพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ควรจะต้องถูกบ่มเพาะมาเรื่อยๆตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหรือไม่ ซึ่งมองตามความเป็นจริงๆแล้ว ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ยังไม่มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงพอจะช่วยส่งทุกคนไปถึงระดับ B2 ในมหาวิทยาลัย เว้นแต่นักเรียนจะไปเรียนเสริมด้วยตนเองหรือต้องจ่ายเงินค่าหลักสูตรภาษาอังกฤษเพิ่ม

แต่การจะหาคำตอบนี้ ต้องผ่านกระบวนการทำความเข้าใจในคำถามย่อยอีกหลายข้อ ตั้งแต่ ... ระดับ B2 ใน CEFR คืออะไร นักศึกษาที่จะจบปริญญาตรีตามประกาศนี้ต้องมีทักษะในระดับไหน ทำอะไรได้บ้าง … การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีศักยภาพพอที่จะทำให้เด็กไทยทุกคนมีทักษะภาษาอังกฤษไปถึงระดับที่ต้องการหรือไม่ และกระบวนการผลิตครูในประเทศไทย พร้อมแล้วสำหรับการช่วยยกระดับมาตรฐานทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนไทย ... ใช่หรือไม่?

หนึ่งในคนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดี คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการผลิตครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ผศ.ดร.จุฑารัตน์ วิบูลผล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาต่างประเทศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย

“ไทยต้องยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ ควบคู่กับการสอนของพลเมืองพร้อมกัน”

“เห็นด้วยกับการกำหนดเป้าหมายว่า การศึกษาไทยจะต้องช่วยยกระดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทยให้ดีขึ้น เพราะถ้าเด็กที่จะจบปริญญาตรีในประเทศไทย ยังไม่สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารภาษาอังกฤษได้ เราก็จะตามไม่ทันความรู้ใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ... ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายเช่นนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องขับเคลื่อนไปให้ได้พร้อมกันทั้งระบบ จะไปเริ่มแค่ที่ระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้”

อาจารย์จุฑารัตน์ อธิบายถึงหลักคิดที่จะไขปริศนาต่างๆเหล่านี้ โดยต้องยอมรับก่อนว่า ความพยายามที่จะยกระดับทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทย เป็นสิ่งที่ควรทำ และมีความพยายามหลายครั้งที่จะแก้ปัญหานี้ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่ที่ยังไม่เห็นผล เพราะนโยบายที่เคยถูกประกาศออกมา มักจะล้มเลิกไปเงียบๆ ไม่ถูกนำไปผลักดันอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้ไปจัดการที่ระบบหรือโครงสร้างการศึกษามากพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง

“ประกาศฉบับนี้ออกมาตั้งแต่ต้นปี 2567 แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นการดำเนินการในระดับมหาวิทยาลัย ในเรื่องของการกำหนดให้มีการทดสอบความสามารถทางภาษาอังกฤษและการกำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ ที่เป็นประเด็นในสื่อออนไลน์ หากอ่านข้อความ ข้อ 8 ในประกาศอย่างละเอียด ก็จะเห็นการใช้คำว่า ...ให้สถาบันอุดมศึกษา “พิจารณา” และ “อาจพิจารณา” ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่การบังคับให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องกำหนดให้มีการสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา เลยคิดว่าน่าจะเป็นการเริ่ม “ส่งสัญญาณ” ให้มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและหาวิธีทำให้นิสิตนักศึกษาที่กำลังจะจบปริญญาตรีต้องพัฒนาภาษาอังกฤษไปให้ถึงระดับ B2 มากกว่า”

“และในประกาศ ยังอ้างถึงที่มาว่า ... คณะรัฐมนตรี (28 พฤศจิกายน 2566) ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือโครงการการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในทุกระดับการศึกษา .... ดังนั้น นโยบายนี้น่าจะมีความมุ่งหวังให้เกิดการยกระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนไทยตั้งแต่ระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐาน”

อาจารย์จุฑารัตน์ อธิบายเนื้อหาที่สามารถตีความออกมาได้จากประกาศ เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้ประกาศจะระบุถึงเป้าหมายการกำหนดเกณฑ์ความสามารถของนิสิตนักศึกษาที่จะเรียนจบในระดับปริญญาตรี แต่ก็มีนัยยะของความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลงไปถึงพื้นฐานของการศึกษาไทย

คำถามข้อที่ 1 ...ระดับ B2 ใน CEFR คืออะไร นักศึกษาที่จะจบปริญญาตรีตามประกาศนี้ต้องมีทักษะในระดับไหน ทำอะไรได้บ้าง ?

“ระดับ B2 ในเกณฑ์ CEFR คือ ระดับความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ที่ต้องสามารถใช้ภาษาเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวหรือเรื่องที่คุ้นเคยได้”

อาจารย์จุฑารัตน์ นำคำอธิบายจากกรอบที่ใช้ในการประเมินตนเองของผู้เรียนมาอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า หากกำหนดให้ผู้ที่เรียนจบระดับปริญญาตรี จะต้องมีความสามารถทางภาษาระดับ CEFR B2 บัณฑิตคนนั้น จะต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับไหน

“ถ้าเป็นเรื่อง ... การฟัง ... จะต้องฟังการบรรยายภาษาอังกฤษที่มีความยาวพอสมควรได้ ต้องฟังและมีความเข้าใจมากพอที่จะสามารถจับประเด็นที่ซับซ้อนในเรื่องที่คุ้นเคยได้ สามารถติดตามรายการข่าวหรือรายการทั่วไปได้ สามารถดูภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงมาตรฐานได้ ....

ถ้าเป็นเรื่อง ... การพูด ... ในระดับ B2 บอกว่า จะต้องสามารถคุยและโต้ตอบกับเจ้าของภาษาได้ สามารถร่วมพูดคุยหรืออภิปรายด้วยภาษาอังกฤษในหัวข้อที่คุ้นเคยได้ เป็นต้น”

เมื่อดูจากหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อผ่านระดับ B2 ในทักษะการฟังและการพูดแล้ว อาจารย์จุฑารัตน์ ระบุว่า B2 คือ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในบริบทที่เป็นเรื่องใกล้ตัว แม้ในสภาวะปัจจุบัน อาจจะยังมองเป็นระดับที่ยากสำหรับเด็กไทยส่วนใหญ่ แต่ระบบการศึกษาต้องมีกระบวนการที่ทำให้ B2 เป็นระดับที่ควรต้องทำให้ได้ ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่สูงเกินไป ซึ่งตอนนี้ กระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายไล่ขึ้นมาทีละระดับแล้ว เช่น จบ ป.6 ต้องใช้ภาษาได้ในระดับ A1 ,จบ ม.3 ระดับ A2 ,จบ ม.6 หรือ ปวช. ต้องได้ระดับ B1 หากพัฒนาได้ตามนี้จริงตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นิสิตนักศึกษาก็จะมีเวลา 4 ปี ในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาจากระดับ B1 ไปสู่ B2

คำถามที่ 2 ...การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย มีศักยภาพพอที่จะทำให้เด็กไทยทุกคนมีทักษะภาษาอังกฤษไปถึงระดับที่ต้องการหรือไม่ ?

“เมื่อปี 2557 ประเทศไทยเคยมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ แต่การดำเนินการไม่ต่อเนื่อง”

นโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่ประกาศไว้เมื่อปี 2557 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ อาจารย์จุฑารัตน์ ค้นหามาเพื่อยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการ เคยมีความพยายามที่จะผลักดันนโยบายการยกระดับทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทยมาแล้ว โดยในเอกสารแนวปฏิบัติฯ เมื่อปี 2557 ระบุว่า ...

ปี 2557 กระทรวงศึกษาธิการกำหนดนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้

  •  ให้ใช้กรอบ CEFR เป็นกรอบความคิดหลักในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทย ทั้งการออกแบบหลักสูตร การพัฒนาการเรียนการสอน การทดสอบ การวัดผล การพัฒนาครู รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้
  • ปรับจุดเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ จากที่เน้นสอนไวยากรณ์ ไปเน้นที่การสื่อสาร ฟัง พูด อ่าน เขียน
  • ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐานหลัก แต่ใช้วิธีการที่แตกต่างกันได้ตามความถนัดของสถานศึกษา
  • ส่งเสริมการยกระดับความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษ ด้วยการขยายโครงการพิเศษต่างๆมาใช้ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น English Program (EP) ,Mini English Program (MEP) ,International Program (IP) ,English Bilingual Education

“แต่นโยบายนี้ถูกใช้ได้ไม่นาน จึงยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง”

อาจารย์จุฑารัตน์ ทบทวนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาตลอด 10 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2567 โดยเล่าว่า สิ่งที่ดูจะเป็นผลจากประกาศกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2557 คือ โรงเรียนหลายแห่งมีการเปิดห้องเรียนพิเศษที่พัฒนาภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น ซึ่งเป็นการพัฒนาในรูปแบบของห้องเรียนพิเศษ ซึ่งไม่ใช่คำนิยามของคำว่า การศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ อย่างเช่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสาธารณสุขที่ทำให้ทุกคนต้องเข้าถึงได้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ

“โจทย์สำคัญที่ต้องตอบให้ได้ก็คือ หากประเทศไทยต้องการให้ “คนไทยทุกคน” มีทักษะภาษาอังกฤษไปถึงระดับ B2 เมื่อเรียนจบปริญญาตรี เราจะต้องทำให้การสอนภาษาอังกฤษในระดับชั้นต่างๆ ช่วยพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ชั้น ป.1 ไปจนจบ ม.6 หรือ ปวช. ได้อย่างไร และสำคัญมากกว่าคือทำอย่างไรให้เป็นการพัฒนาที่เกิดขึ้นใน ... ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งในโรงเรียนของรัฐและเอกชน ... ไม่ใช่มีสอนแค่ในห้องเรียนพิเศษที่ต้องผ่านการคัดเลือกแบบพิเศษ และต้องจ่ายเงินเพิ่มมากกว่าการเรียนหลักสูตรปกติ”

ปัจจัยสำคัญที่ อาจารย์จุฑารัตน์ เห็นว่า ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการปรับการเรียนการสอนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตและพัฒนาครู เพื่อให้เรามีครูไทยที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องพึ่งครูต่างชาติ

คำถามที่ 3 ... กระบวนการผลิตครูพร้อมสำหรับการช่วยยกระดับมาตรฐานทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนไทย ... ใช่หรือไม่ ?

“หากย้อนกลับไป ปี 2544 เรามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษ โดยกำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องเริ่มสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้น ป.1 แต่นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน เราเตรียมครูไม่ทัน”

อาจารย์จุฑารัตน์ บอกต่อว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเกิดขึ้นเร็วเกินไป ไม่มีการเตรียมการมากพอ แม้จะมีเจตนาที่ดีที่จะให้นักเรียนได้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษเร็วขึ้น แต่โรงเรียนประถมส่วนใหญ่ไม่มีบุคลากรครูที่เรียนจบมาเพื่อสอนภาษาอังกฤษโดยตรงเพียงพอ จึงทำให้ต้องใช้ครูจากสาขาวิชาอื่นไปสอนภาษาอังกฤษ และจนมาถึงปัจจุบันนี้เชื่อว่าเรายังคงมีครูสอนภาษาอังกฤษที่ต้องพัฒนาภาษาอังกฤษเพิ่มอีกมาก

“เมื่อเรามีเป้าหมายที่จะทำให้เด็กไทยต้องเก่งภาษาอังกฤษ จะจบปริญญาตรีต้องผ่านเกณฑ์ระดับ B2 เราก็ต้องทำให้โรงเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐมีศักยภาพในการพัฒนาภาษาอังกฤษของนักเรียนไล่ไปตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม ดังนั้น คณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันผลิตครู ต้องช่วยพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

“แต่ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาศักยภาพครูของเรา มักจะเป็นโครงการระยะสั้นๆ ไม่ยั่งยืน”

อาจารย์ยกตัวอย่าง โครงการพัฒนาครูภาษาอังกฤษที่จัดเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ชื่อโครงการ Boot Camp ซึ่งมีการทดสอบความสามารถครูภาษาอังกฤษทั่วประเทศ แล้วคัดครูที่มีความสามารถสูงเข้ามาอบรมเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารแบบเข้มข้น โดยหวังให้ครูกลุ่มนี้เป็นแม่ข่ายออกไปช่วยอบรมครูในเขตพื้นที่การศึกษาที่ตัวเองสังกัดให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ทำอยู่ได้แค่ 2-3 ปี ก็หยุดไป

ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามจะพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกวิชาเอก ผ่านการทำงานของศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) ที่จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ และมีการสร้างแรงจูงใจให้ครูพัฒนาภาษาอังกฤษ โดยครูที่มีสมรรถนะภาษาอังกฤษเทียบเท่า CEFR ระดับ B2 ขึ้นไป จะสามารถลดระยะเวลาในการขอเลื่อนวิทยฐานะ ทำให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ในหลักสูตรปริญญาตรี ครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ก็มีการกำหนดให้ทุกวิชาเอกต้องเรียนภาษาอังกฤษสำหรับการจัดการเรียนการสอนด้วย

“ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมา เราจะเห็นว่า เป็นกลยุทธ์ที่ใช้สร้างแรงจูงใจให้ครูไปพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองมากกว่า ยังไม่ใช่การจัดการกับระบบการผลิตครูใหม่หรือการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูประจำการแบบเป็นองค์รวมเพื่อให้ปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้ทั้งระบบอย่างแท้จริง”

“แนวคิดการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ควรเน้นการพัฒนาสมรรถนะในการสื่อสาร สอนให้ใช้ภาษาได้จริง ในหลายโรงเรียนมีการจ้างครูชาวต่างชาติมาช่วยสอนและสร้างบรรยากาศในการใช้ภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียน แต่มีการบริหารจัดการที่น่าเป็นกังวล ในระดับ ม.ต้น ที่หลักสูตรกำหนดให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษ 3 คาบต่อสัปดาห์ หลายโรงเรียนแบ่งคาบให้ครูไทยสอนไวยากรณ์ (Grammar) 2 คาบ และให้ครูต่างชาติมาสอนทักษะการสื่อสาร 1 คาบ เป็นการเรียนภาษาแบบแยกส่วน ในการเรียนภาษาเพื่อการสื่อสาร เราเรียนไวยากรณ์เพื่อใช้สื่อความหมายบางอย่าง ไม่ใช่เรียนเพื่อแค่รู้หลักไวยากรณ์”

“พอเราสอนกันแบบนี้ และให้ความสำคัญกับการสอบที่เน้นวัดความรู้ทางไวยากรณ์มากกว่าการสื่อความหมาย เราสอนให้เด็กเรียนแต่กฎของภาษา ไม่ใช่เพื่อให้เด็กใช้ภาษาอังกฤษไปคุยเล่นได้ ใช้ไปดูหนังฟังเพลงได้ ก็ทำให้เด็กไม่สนุก ไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษ ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้เรียนจะมีพัฒนาการทางภาษาได้เองถ้าได้สนุกกับการใช้ภาษา ห้องเรียนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ของเรายังไม่มีบรรยากาศแบบนั้น”

คือปัญหาที่ อาจารย์จุฑารัตน์ ชี้ให้เห็นประเด็นที่ต้องแก้ไขตั้งแต่ระบบการผลิตและพัฒนาครู การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งเป็นวงจรเชื่อมต่อกัน

“ในฐานะนักครุศึกษาด้านการสอนภาษาอังกฤษ เห็นด้วยกับความพยายามของรัฐที่จะยกระดับทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทย เพราะภาษาอังกฤษ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ก็ขับเคลื่อนในเรื่องนี้”

“ถ้าวันนี้ เรากำหนดให้ทักษะภาษาอังกฤษ ในระดับ B2 เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของบัณฑิตปริญญาตรี เด็กไทยทุกคนก็ควรจะได้รับการพัฒนาเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ตั้งแต่การเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงมหาวิทยาลัย”

“การผลิตและพัฒนาครูต้องกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาภาษาอังกฤษของครูไทยที่ชัดเจน ทำให้ครูมีทักษะภาษาอังกฤษมากพอที่จะสอนเด็กในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ห้องเรียนแบบ English Program ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนในวิชาเนื้อหาบางวิชา ควรเป็นห้องเรียนที่นักเรียนทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงได้ทั้งในโรงเรียนของรัฐและเอกชน ส่วนหลักสูตรพิเศษที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ก็อาจยกระดับคุณภาพให้สูงไปกว่านั้นได้” ผศ.ดร.จุฑารัตน์ ทิ้งท้าย

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวข่าว :

SONP ชวนส่งผลงานประกวด “ข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม 2567”

เปิดมิติแห่งการพัฒนา "เยาวชนผู้พิการ-ผู้ด้อยโอกาส" ด้วยศิลปะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง