กรณีที่มีข้อมูลเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการซ่อมอากาศยานไม่ได้มาตรฐาน และมีข้อกังวลถึงการออกใบสำคัญสมควรเดินอากาศ
วันนี้ (29 ส.ค.2567) นายขจรพัฒน์ มากลิ่น รองผู้อำนวยการสายงานกำกับมาตรฐานและความปลอดภัยการบินพลเรือน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ข้อมูลชี้แจงว่า อากาศยานดังกล่าวเป็นอากาศยานแบบ Commander 114 ซึ่งเป็นอากาศยานส่วนบุคคลขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง ได้รับการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566 และออกใบสำคัญสมควรเดินอากาศเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567
เครื่องบินส่วนบุคคลขนาดเล็ก ปกติจะเป็นการซ่อมบำรุงในลักษณะแบบรายปี โดยมี 2 แบบ คือให้ช่างที่มีใบอนุญาต หรือไลเซ่น จาก กพท. สาเหตุที่ช่างจะต้องมีไลเซ่น เนื่องจากต้องมีการเซ็นกำกับมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องบินลำนั้น และศูนย์ซ่อมเครื่องบินก็ต้องมีไลเซ่นจาก กพท.เช่นเดียวกัน แต่ต้องได้รับการรับรองตรวจรับรองเพื่อได้ใบอนุญาต และต้องมีขีดความสามารถในการซ่อมเครื่องบินรุ่นนั้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่กำหนดไว้เฉพาะเครื่องบินขนาดเล็ก
อ่านข่าว : เจ้าของเครื่องบินตั้งคำถามมาตรฐาน “ทีมช่าง” บางกลุ่ม
สำหรับใบสำคัญสมควรเดินอากาศ หรือ C of A เครื่องบินขนาดเล็กจะมีการตรวจของ กพท.ทุก 3 ปี โดยในช่วง 3 ปีนี้ เจ้าของเครื่องบินจะต้องดำเนินการซ่อมบำรุงรักษาให้ได้ตามมาตรฐาน ก่อนจะมีการตรวจสอบจาก กพท. หากผ่านการตรวจสอบก็จะได้รับใบสำคัญสมควรเดินอากาศ
สำหรับการดำเนินการตรวจสอบเพื่อออกหรือต่ออายุใบสำคัญสมควรเดินอากาศ ประกอบไปด้วย การตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ประวัติการบำรุงรักษา การควบคุมอายุการใช้งานของอุปกรณ์บนอากาศยาน การปฏิบัติตามคำสั่งสมควรเดินอากาศ การปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยจากผู้ผลิต และตรวจสอบสภาพอากาศยาน (Physical Aircraft Inspection) ได้แก่ ตรวจสภาพลำตัวอากาศยาน เครื่องยนต์ ใบพัด รวมไปถึงการทำงานของระบบต่าง ๆ ของอากาศยาน เช่น ระบบการบังคับอากาศยาน (Flight Control) ระบบเบรก อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ หลังจากได้รับใบสำคัญสมควรเดินอากาศ C of A เจ้าของอากาศยานและช่างประจำเครื่องมีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาสภาพอากาศยานให้สมบูรณ์ และมีความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หากเจ้าของอากาศยานเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายช่างภาคพื้นดินที่ดำเนินการซ่อมอากาศยานอาจเข้าข่ายมีความผิดต่อ พ.ร.บ.การเดินอากาศ สามารถส่งเรื่องให้ CAAT ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้
หลังจากนี้ กพท.จะให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจสอบกับนักบินและช่างที่ทำการซ่อมบำรุงเพื่อหาข้อเท็จจริง แต่หากตรวจสอบและพบว่าผู้ประจำหน้าที่ เช่น ช่าง ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎการบิน ก็จะเข้าข่ายกระทำผิดร้ายแรง อาจถูกเพิกถอน พักใช้ใบอนุญาต จนถึงดำเนินคดีตามกฎหมาย
นอกจากนี้ขอชื่นชมเจ้าของเครื่องบินที่นำข้อมูลมาเปิดเผย และขอให้เจ้าของเครื่องบินทุกลำหากตรวจพบสิ่งผิดปกติ ขอให้มีการรายงานเพื่อตรวจสอบความเสี่ยงมายัง กพท. เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานและตรวจสอบการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย SafetyCulture
อ่านข่าว
หอการค้าฯ ชี้ “น้ำท่วมเหนือ” เศรษฐกิจเสียหาย 6 พันล้านบาท
ตร.เก็บหลักฐานโรงงานผลิตเหล้าเถื่อนเพิ่ม-เร่งหาที่มาเมทานอล
"อนุทิน" คาดแรงงานติดอุโมงค์ถล่มคนแรกตายมาแล้ว 3-5 วัน เร่งช่วยอีก 2 คน