เจ้าของเครื่องบินตั้งคำถามมาตรฐาน “ทีมช่าง” บางกลุ่ม

สังคม
29 ส.ค. 67
18:12
407
Logo Thai PBS
เจ้าของเครื่องบินตั้งคำถามมาตรฐาน “ทีมช่าง” บางกลุ่ม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจ้าของเครื่องบินที่โพสต์ตั้งข้อสังเกตมาตรฐานการทำงานของ “ช่างซ่อมเครื่องบินบางกลุ่ม” เตรียมดำเนินการตามกฎหมาย หลังมองว่ารายละเอียดการซ่อมบำรุงที่มีการบันทึกไว้ อาจไม่ตรงกับสิ่งที่ตนเองเจอ

นายวรัทย์ ไล้ทอง เจ้าของอากาศยานส่วนบุคคลและยูทูปเบอร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Warat Laithong ตั้งคำถามถึงการทำงานและมาตรฐานของทีมช่างซ่อมบำรุงเครื่องบินทีมหนึ่ง

เนื้อหาระบุใจความว่า ได้ไปซื้อเครื่องบินเมื่อ 2 ปีก่อน และมีการซ่อมบำรุงก่อนส่งมอบ ที่ผ่านมาเปลี่ยนทีมช่างไป 3 ชุด จนเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2567 ช่างชุดสุดท้ายที่ดูแลเครื่อง แจ้งว่า เครื่องบินพร้อมบินแล้ว ให้ไปทดสอบและตรวจรับได้ พร้อมแจ้งว่าเครื่องบินได้รับ “ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ” เรียบร้อยแล้ว แต่ระหว่างบินทดสอบกลับเจอปัญหาหลายประการ หนักสุดคือรอบเครื่องยนต์ที่สูงเกินไป

หลังบินเครื่องนี้ได้ประมาณ 15 ชั่วโมงบิน มีโอกาสไปที่สนามบินบางพระ และทีมช่างที่นั่นพบว่าอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมรอบใบพัดติดตั้งผิด ทำให้รอบเครื่องยนต์ไม่นิ่ง ทีมช่างจึงได้ช่วยตรวจสอบเพิ่มเติมและพบข้อบกพร่องเป็นจำนวนมาก เช่น ฟองน้ำกรองอากาศหมดอายุ ไม่ใช่อะไหล่แท้, ท่อน้ำมันเชื้อเพลิง ท่ออากาศและยางรองแท่นเครื่องหมดอายุ, พบรอยสนิมที่ปีก, สายที่ใช้บังคับเครื่องบินแห้ง ไม่มีน้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Laithong

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Laithong

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Laithong

นอกจากนี้ยังพบรังนกอยู่ในโครงสร้างหลักของเครื่องบิน หรือ แอร์เฟรม ปริมาณถึง 3 กระสอบ และที่ผู้โพสต์ระบุว่า หนักที่สุดคือพบ “ไขควง” ที่ถูกลืมไว้ภายในห้องเครื่องยนต์

ผู้โพสต์ ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับทีมช่างที่ไปตรวจสอบพบความผิดปกติในภายหลัง เพราะเป็นคนละทีม และจริงๆ ต้องขอบคุณทีมช่างกลุ่มดังกล่าวด้วยซ้ำ เพราะหลังซ่อมบำรุงใหม่ เครื่องบินก็สามารถบินได้เต็มสมรรถนะ

อ่านข่าว : กพท.แจงออก “ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ” เตรียมสอบข้อเท็จจริง

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Laithong

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Laithong

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Laithong

ไทยพีบีเอส ได้พุดคุยกับนายวรัทย์ ซึ่งเป็นเจ้าของโพสต์ โดยระบุว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้เลือกทีมช่าง แต่ฝั่งคนขายเครื่องบินเป็นผู้เลือก ช่วงที่มีการซ่อมบำรุงก็สื่อสารกันตามปกติ กระทั่งมาตรวจสอบเครื่องและพบความผิดปกติ ภายหลังจึงตรวจสอบละเอียดขึ้นและไปพบข้อสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องเอกสาร

พอผมเริ่มตรวจสอบคุณภาพเครื่องบิน ผมก็เริ่มขอเอกสารอะไรหลายอย่างมากขึ้น เช่น เขาเคยบอกว่าเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ให้เครื่องผม ผมก็ขอดูเอกสารนำเข้าหน่อยว่านำเข้ามาเมื่อไหร่ ซื้อเมื่อไหร่ เพราะอะไหล่เหล่านั้นไม่มีขายในประเทศไทย ต้องมีใบสั่งซื้อหรือเอกสารนำเข้า เขาก็ไม่มีให้ผมดู

หลังเกิดกรณีดังกล่าว นายวรัทย์ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียด โดยตนเองและทีมทนายความอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

อยากฝากไปที่หน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ ลงมาช่วยตรวจสอบดูว่าบริษัทที่ให้บริการงานลักษณะนี้ มีทีมช่างที่มีคุณภาพจริง ๆ หรือเปล่า ทีมช่างที่เซนต์ลงไปใน Log Book เซนต์ปล่อยเครื่อง เป็นช่างที่มีความสามารถและมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกจริง ๆ หรือเปล่า

สำหรับนายวรัทย์ ยังมีบทบาทในการเป็นยูทูปเบอร์ที่โพสต์บันทึกการเดินทางด้วยอากาศยานส่วนบุคคล หลายครั้งมักถ่ายคลิปร่วมกับนายภูดิศ ศุภวัฒนกุล หรือ “ครูฝาย” ครูการบินที่ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในพื้นที่ ต.โคกขาม จ.สมุทรสาคร และเสียชีวิตเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

อ่านข่าว

“พาณิชย์” ลุยสอบเชิงลึก 165 ราย เข้าข่าย “นอมินี”

"ดินไม่ปลอดภัย" ห่วงอุโมงค์ถล่มซ้ำ ส่ง K9 ค้นหา 2 ชีวิต

อันตราย! หมอเตือนห้ามใช้แอลกอฮอล์ดื่มขับพิษเมทานอล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง