"สาธิต" ซัดผู้บริหารชุดปัจจุบัน ไร้ DNA ประชาธิปัต​ย์​ หลังจับมือ "เพื่อไทย"

การเมือง
29 ส.ค. 67
10:34
1,063
Logo Thai PBS
"สาธิต" ซัดผู้บริหารชุดปัจจุบัน ไร้ DNA ประชาธิปัต​ย์​ หลังจับมือ "เพื่อไทย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"สาธิต ปิตุเตชะ" ซัดผู้บริหารชุดปัจจุบัน ไร้ดีเอ็นเอประชาธิปัต​ย์​ -ทิ้งอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อประชาชนกว่า 20 ปี ชี้ "เพื่อไทย" ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว

วันนี้ (29 ส.ค.2567) นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ กำลังจะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยว่า ตนเห็นภาพนี้มาตั้งแต่ 8-9 เดือนก่อนแล้ว และตั้งแต่ผู้บริหารชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหาร

เกิดความผิดสังเกตในแง่ของการปฎิบัติหน้าที่ในเชิงการเมือง ซึ่งมองว่าเป็นการบริหารแบบกลุ่มและพรรคพวก โดยเห็นได้จากการโหวตและแก้ไขข้อบังคับพรรคที่ผ่านมา ไม่มีการกระจายให้น้ำหนักผู้ที่มีส่วนในพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกผู้บริหาร เพราะการเป็นพรรคการเมืองต้องรับฟังเสียงจากทุกฝ่ายแต่พอเป็นแบบนี้ก็จะทำให้เห็นภาพของวันนี้ว่าจะเกิดขึ้น

นายสาธิต ยังมองว่า การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีอะไรผิด แต่ควรยึดโยงกับผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งประชาธิปัตย์ต้องต่อสู้กับการใช้อำนาจและธุรกิจการเมืองที่ไม่มีหลักการอื่นใด มุ่งแต่เรื่องได้ประโยชน์และเข้าหาเป็นหลักโดยไม่สนวิธีการ จึงเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น

วันนี้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ทำลายองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำลายระบบพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่มีแนวคิดแบบนี้ จึงตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยที่มีการต่อสู้มามากกว่า 20 ปี

พอจะมองได้ว่า อนาคตทางการเมืองหลังจากนี้จะหาคนสนับสนุนได้ยากเพราะจุดยืนไม่ชัดเจน กลายเป็นคนกลุ่มเดียว ไม่ใช่ผู้สนับสนุนเชิงอุดมการณ์และการเมืองที่ยึดโยงประชาชน

นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต สส.และอดีตผู้บริหาร พรรคประชาธิปัตย์

นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต สส.และอดีตผู้บริหาร พรรคประชาธิปัตย์

นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต สส.และอดีตผู้บริหาร พรรคประชาธิปัตย์

นายสาธิต ยอมรับว่า ดีเอ็นเอของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ หากคิดโยงกับผู้บริหาร พรรคไม่มีชีวิต พรรคจะมีจุดยืนตามผู้บริหาร พร้อมกับมองว่า ผู้บริหารชุดนี้และองค์ประกอบใหญ่ของพรรค ไม่มีดีเอ็นเอของการต่อสู้โดยอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองเพื่อประชาชนแล้ว แต่ที่ยังคงเหลืออยู่ คือ ปูชนียบุคคลบางส่วน และอาจจะมีคนรุ่นใหม่ที่สืบทอดเจตนารมณ์แต่กลายเป็นเสียงข้างน้อยไป จึงไม่สามารถยืนหลักที่แท้จริงของพรรคได้ 

นายสาธิต กล่าวอีกว่า ตนตัดสินใจถูกเพราะเห็นภาพนี้มานาน เมื่อถามว่า มองอนาคตทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์หรือไม่ นายสาธิต ระบุว่า คงสรุปถึงขนาดนั้นไม่ได้ เพราะในยุคการเมืองคอนเทนต์กับยุคธุรกิจการเมือง อาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ แต่อย่างน้อยความเป็นสถาบันของพรรคยังอยู่บ้าง แต่ถูกบดบังไปด้วยผู้นำทางจิตวิญญาณที่โกหกประชาชน บอกป่วยแต่ไม่ป่วย บอกเลิกแต่เล่นต่อ มันก็ยากที่จะฟื้นคืน

ส่วนที่บอกว่า สูญพันธุ์ตนขอใช้คำว่าฟื้นยาก สำหรับประชาธิปัตย์ที่ถ้ายังมีผู้นำชุดนี้อยู่ ในแง่ของการพรรคการเมืองและพรรคจะเล็กลงเรื่อย ๆ

ส่วนที่อธิบายว่า การร่วมรัฐบาลครั้งนี้เพื่อเดินหน้าประเทศและก้าวข้ามความขัดแย้งนั้น นายสาธิต กล่าวว่า คำอธิบายมีน้ำหนักเบาเพราะเสียงที่พรรคเพื่อไทยมีนั้นพออยู่แล้วที่จะตั้งรัฐบาล และไม่มีความขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น การทำงานของพรรคการเมือง เป็นการทำงานที่ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่ต้องเป็นการตรวจสอบที่ต้องให้ประชาชนได้เห็นการทำงาน เพราะฉะนั้นข้ออ้างที่บอกให้ประเทศเดินหน้าหากประชาธิปัตย์ไม่เข้าไป เขาก็เดินหน้าได้อยู่แล้ว และไม่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เขาก็เดินหน้าตั้งรัฐบาลกันได้อยู่แล้ว

ส่วนการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย ที่ดึงประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล นายสาธิต มองว่า ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย เป็นคนเก่งทางการเมืองอยู่แล้ว ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวคือ 1.ทำลายพรรคประชาธิปัตย์ไปด้วยโดยผู้บริหารชุดนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยทำได้ 2.เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น

เขาก็แชร์เศษเนื้อ หรือ ผลประโยชน์ ที่อ้างว่าเป็นการทำงานเพื่อประชาชน แต่จะต้องไปตรวจสอบว่าตำแหน่งที่ได้มา เป็นการทำงานเพื่อผลประโยชน์หรือเพื่อประชาชนกันแน่

นายสาธิต ยังฝากไปถึงผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ ชุดปัจจุบันว่า ดีเอ็นเอประชาธิปัตย์อยู่กับตน 100 % แต่ผู้บริหารชุดนี้เป็นเพียงคนมาแสวงหาผลประโยชน์ในพรรค ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ของเขาจะทำให้ประชาธิปัตย์ไม่สามารถกลับมาได้ด้วยน้ำมือของเขาอย่างแท้จริง

ขณะที่ น.ส.​วทัยา​ บุนนาค​ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว​ "เดียร์​ วทันยา​ บุนนาค" ถึงกรณีดังกล่าวว่า "ก้าวข้ามความขัดแย้ง หรือ ก้าวข้ามหัวประชาชน ? "

การร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ที่อ้างว่า คนรุ่นนี้ไม่รับมรดกความขัดแย้งของรุ่นก่อนหน้า ฟังดูเป็นการตัดตอนอย่างง่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ ?

แท้จริงแล้ว ภาพความขัดแย้งที่ผู้บริหารชุดนี้เหมารวม มันคือ การทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มกำลังมาทุกยุคทุกสมัย ไม่อ่อนข้อหรือล้มมวยเพื่อเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ต่างตอบแทน

"ผู้แทนประชาชน" คือ ตัวแทนประชาชนที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน

น.ส.​วทันยา​ บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

น.ส.​วทันยา​ บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

น.ส.​วทันยา​ บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

"ผู้แทนประชาชนที่ดี" จึงต้อง "กล้า…ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง และกล้า…ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมเมื่อขัดแย้งกับประโยชน์ส่วนรวม" ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ใช่การเข้ามาทำหน้าที่เพื่อสู้รบ หรือรักกับใครเพราะการแบ่งผลประโยชน์ส่วนตนนั้นลงตัว

แม้ในตลอดกว่าช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ชนะการเลือกตั้ง การเมืองเผชิญความวุ่นวาย จนพรรคได้รับบทเรียนเหลือ ส.ส.จำนวน 25 คน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยสูญเสียเกียรติ และความภาคภูมิใจเพราะสมาชิกพรรคต่างตระหนักรู้ดีว่า การตัดสินใจของสมาชิกไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำประโยชน์เพียงเพื่อคนไม่กี่คน หรือใครคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้น การกอบกู้วิกฤตพรรคที่วันนี้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง คือการทำหน้าที่เพื่อประชาชนในฐานะฝ่ายค้าน ตรวจสอบถ่วงดุลอย่างสุดกำลังความสามารถ ไม่ใช่การสบช่องหาโอกาส เพื่อเข้าสู้อำนาจโดยก้าวข้ามความรู้สึกประชาชนที่ยังคงให้ความไว้วางใจในพรรคประชาธิปัตย์

การตัดสินใจของผู้บริหารพรรคชุดนี้ไม่เพียงซ้ำเติม ทำลายวิกฤตศรัทธาของพรรคที่ชาวประชาธิปัตย์ในอดีตเพียรสร้างมาอย่างสิ้นเชิง หากแต่คือการทำลายวิกฤตศรัทธาของการเมืองไทย ที่สุดท้ายนักการเมืองไม่อาจเป็นความหวัง การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม ให้นักการเมืองเข้ามาร่วมกันแสวงหาประโยชน์ของตนเอง

อ่านข่าว : พท.เทียบเชิญ ปชป.ร่วมรัฐบาล "เดชอิศม์" รอมติพรรคบอกได้ 2 รมต.

จากอดีตที่ยิ่งใหญ่ของ ปชป. ถึงวันอยู่ใต้อาณัติ “ชินวัตร”  

8 ทศวรรษ "ประชาธิปัตย์" ศัตรูเพื่อไทย กลายเป็น "มิตร" การเมือง

“ชวน” มั่นใจไม่ร่วม “เพื่อไทย” อยู่คนเดียวได้ ไม่มีปัญหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง