ส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน

เศรษฐกิจ
27 ส.ค. 67
15:59
647
Logo Thai PBS
ส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พาณิชย์เผยส่งออก เดือนก.ค. ขยายตัวแรง 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน หลังตลาดส่งออกหลักของไทยฟื้นตัวดี ทั้งสหรัฐ จีน อาเซียน ยุโรป มั่นใจเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัว จับตาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-นโยบายเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งหลายประเทศ กดดันส่งออกไทย

วันนี้ (27 ส.ค.2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกไทยเดือนก.ค.ว่า ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง มีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ938,285 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 15.2 สูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2565

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ยังคงขยายตัวร้อยละ 9.3 โดยการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลก ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการฟื้นตัวนี้ ขณะที่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว เป็นปัจจัยบวกต่อ

ทั้งนี้ปัจจัยบวกมาจากตลาดหลักที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด

สำหรับการนำเข้า มีมูลค่า 27,093.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.1 แต่ไทยยังดุลการค้า ขาดดุล 1,373.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 177,626.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.4 ขณะที่ดุลการค้า 7 เดือนแรกของ ไทยขาดดุล 6,615.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนมูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนก.ค. มีมูลค่า 938,285 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 999,755 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.4 โดยไทยยังดุลการค้า ขาดดุล 61,470 ล้านบาท ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 6,129,300 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 6,437,235 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 ดุลการค้า 7 เดือนแรกขาดดุล 307,935 ล้านบาท

ผอ.สนค.กล่าวอีกว่า ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 โดยสินค้าที่ขยายตัว เช่น ยางพารา ข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และเครื่องดื่ม

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม พบว่า กลับมาขยายตัวร้อยละ 15.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบและเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องยนต์สันดาปภายในลูกสูบและส่วนประกอบ

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี ตามภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีสัญญาณปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน อาเซียน (5) กลุ่ม CLMV และสหภาพยุโรป ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 16.2 โดยขยายตัวต่อเนื่องใน ตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (27) และ CLMV และกลับมาขยายตัวในตลาดจีน และอาเซียน (5) ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น ยังคงหดตัว

ส่วน ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 4.6 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ลาตินอเมริกา รัสเซียและกลุ่ม CIS และสหราชอาณาจักร ขณะที่หดตัวในตลาด ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ร้อยละ ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 331.3

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าส่งออกของไทยในปี 2567 จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกันคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องค่าระวางเรือ ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องหนักใจ แม้ว่ายังอยู่ในระดับสูง ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ส่วนค่าระวางไปยุโรป เพิ่มขึ้น 2 เท่า ไปอเมริกา เริ่มอ่อนตัวลง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ มีเพียงพอ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้กำไรลดลง แต่คำสั่งซื้อใหม่ที่จะเข้ามาช่วงปลายปีถึงปีใหม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ สำหรับเป้าส่งออกทั้งปี มั่นใจว่า จะทำได้ตามเป้า 1-2% ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน

อ่านข่าว:

สภาพัฒน์ฯเผย คนไทยว่างงาน-หนี้เกินตัว ใช้โซเชียลกู้ยืมนอกระบบ

เฟดเปิดทางลดดอกเบี้ย กรุงศรี ชี้เงินบาทซื้อขาย 33.75-34.30

กรมพัฒน์ฯ ชวน เกษตรกร ใช้ ต้นไม้ขอสินเชื่อ ต่อยอดธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง