วันนี้ ( 26 ส.ค.2567) สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ทั้ง จ.เชียงราย น่าน แพร่ จนไล่มาถึงสุโขทัย สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตอย่างมหาศาล บ้านเรือนถูกน้ำพัดพังเสียหาย พื้นที่การเกษตรต่างถูกน้ำท่วมซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก
เนื่องจากหลังน้ำลดปัญหาที่ตามมา คือ การฟื้นสภาพความเป็นอยู่ ทั้งบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร บ้านบางหลังคาเรือนอาจจะถูกน้ำพัดหายไทั้งหลัง ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เป็นการตอกย้ำความเดือนร้อนทางด้านการเงินให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เพราะต้องหาเงินมาซ่อมแซมบ้านเรือน ไหนจะต้องจ่ายหนี้ที่มีอยู่กับสถานบันการเงินกลายเป็นปัญหาหนักอกซ้ำเติม
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดของประเทศ ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของลูกค้าประชาชนเป็นอย่างมาก ธนาคารออมสินได้ออกชุดมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ตามนโยบายรัฐบาล ทั้งพักหนี้ ลดดอกเบี้ย และมาตรการสินเชื่อ
สำหรับมาตรการพักหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระลูกหนี้ธนาคารออมสินที่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ โดยให้พักชำระเงินต้น เวลา 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ยครึ่งหนึ่ง ส่วนดอกเบี้ยที่เหลืออีกครึ่งธนาคารลดให้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ทั้งบุคคล และ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่รวมลูกค้าสินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐ (PSA) หรือโครงการผ่อนปรนอื่น ๆ ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการผ่านทางเว็บไซต์ธนาคารออมสิน หรือติดต่อธนาคารออมสินในพื้นที่ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม หลังครบกำหนดผ่อนผันพักชำระหนี้ครบ 3 เดือนแล้ว ให้ชำระเงินงวดตามสัญญาเดิม หากยังไม่สามารถชำระหนี้ต่อได้ สามารถปรึกษากับเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินเพื่อหาแนวทางอื่นต่อไป
ส่วนผู้ประสบภัยที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ฉุกเฉิน สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน หรือฟื้นฟูอาชีพ ไม่ต้องมีหลักประกันและไม่มีผู้ค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 10,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 15 เดือน
โดย 3 เดือนแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% ต่อเดือน และปลอดชำระเงินงวดนาน 3 เดือน หลังจากนั้นเดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.60% ต่อเดือน สามารถติดต่อขอสินเชื่อที่ธนาคารออมสินสาขาภายใน 30 วันนับตั้งแต่ประสบภัย โดยเปิดให้ยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัย
สำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่บ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม มีความจำเป็นต้องต่อเติมหรือซ่อมแซมในส่วนที่เสียหาย ให้วงเงินกู้สูงถึง 100% ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ยลดพิเศษเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 3.233% ต่อปี ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย 2% ปีที่ 2 - 3 = 3.85% ต่อปี (MRR-2.745%) และปีที่ 4 เป็นต้นไป = 5.845% ต่อปี (MRR-0.750%)
นอกจากนี้ ออมสิน เตรียมร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะวิทยาลัยเทคนิคในพื้นที่ จัดตั้ง คลินิกสารพัดซ่อม เพื่อให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด ในการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม ทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รถจักรยานยนต์ และอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหาย
ธอส. งัด 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้ากว่า 24,500 ราย
ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 9 จังหวัด 43 อำเภอ อย่างเต็มที่ ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567
โดยมีลูกค้า ธอส. ที่มีหลักประกันในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 24,588 ราย คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือกว่า 28,700 ล้านบาท ยืนยันพร้อมร่วมมือบริษัทพันธมิตรประกันวินาศภัย พิจารณาสินไหมเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ ได้รับเงินสินไหมทดแทนโดยเร็ว
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
ขณะนี้มีลูกค้ายื่นความประสงค์ขอรับสินไหมอย่างต่อเนื่อง สำหรับลูกค้าที่ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อสาขาธนาคารทั่วประเทศ เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ธอส. จัดทำ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567 รวม 7 มาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชน ที่ครอบคลุมทั้งการลดเงินงวดและดอกเบี้ย ให้กู้เพิ่ม/กู้ใหม่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ประนอมหนี้ ปลอดหนี้
รวมถึงการมอบสินไหมเร่งด่วนให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจากการสำรวจมีลูกค้า ธอส. ที่มีหลักประกันในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 24,588 ราย คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือกว่า 28,700 ล้านบาท โดย ธอส. ยืนยันพร้อมร่วมกับบริษัทพันธมิตรประกันวินาศภัย ประกอบด้วย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประสานงานให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ทำประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติแล้ว ให้ได้รับสินไหมเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษอย่างเต็มที่
ขณะนี้มีลูกค้ายื่นความประสงค์ขอรับสินไหมแล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้เอาประกันสามารถแจ้งความเสียหายพร้อมส่งภาพถ่ายหลักประกัน เพื่อขอรับค่าสินไหมตามความเสียหายจริงภายในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท
สำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงอีกไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามกรมธรรม์) ทั้งนี้ ธอส. ยืนยันพร้อมให้คำปรึกษาแนวทางช่วยเหลือผ่าน 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567 เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
สภาพัฒน์ฯ เล็งหามาตรการช่วยเหลือผปก.อิสระ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ผลกระทบของอุทกภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ของเกษตรกร ส่งผลให้มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายแล้ว 308,238 ไร่
ขณะที่ในช่วงกลางเดือนก.ค.-ก.ย. 67 คาดว่าประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนอง 60-80% ของพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงที่ภาคเกษตรกรรมจะได้รับความเสียหายมากขึ้น และจะกระทบต่อรายได้ ต้นทุนการเพาะปลูก และความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์
สำหรับผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมต่อพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากความรุนแรงของน้ำท่วมในครั้งนี้ยังไม่จบ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลายจังหวัด จึงต้องดูปริมาณน้ำกับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมว่ากระทบกับพื้นที่เพาะปลูกมากน้อยเท่าไร และมีพืชอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบ ถึงจะสามารถประเมินผลกระทบในภาพรวมได้
ความเสียหายในแง่บุคคลค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอิสระ ที่เปิดร้านค้าต่าง ๆ อาจต้องดูมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน ขณะที่เกษตรกร ในแง่ของการช่วยเหลือด้านสินเชื่อต่าง ๆ ก็ต้องสำรวจความเสียหายก่อนว่าขนาดไหน
“พาณิชย์” ตรวจเข้มป้องฉวยโอกาส ยันสินค้ามีเพียงพอ
ด้าน กรมการค้าภายใน ส่งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์สินค้าในพื้นที่น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ป้องกันการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา พร้อมประสานห้าง ร้านสะดวกซื้อ ห้างจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง จัดสินค้าให้เพียงพอ และช่วยจัดโปรโมชันลดราคา เพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วย ย้ำหากพบการเอารัดเอาเปรียบ เล่นงานตามกฎหมายเด็ดขาด
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีเกิดสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือในขณะนี้ ส่งผลให้บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตรของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก กรมได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากอย่างใกล้ชิด และกำกับดูแลให้สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ และห้ามมีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าโดยเด็ดขาด
โดยได้ประชุมร่วมกับห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ห้างท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง สมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก สมาคมรถบรรทุก ที่เป็นภาคีเครือข่าย ทั้ง โฮมโปร ไทวัสดุ ดูโฮม โกลบอลเฮ้าส์ เมกาโฮม แม็คโคร บิ๊กซี โลตัส โกโฮลเซลล์ ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ชมรมทายาทห้างค้าปลีก-ค้าส่งไทย นิ่มซี่เส็ง และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ตามปกติ
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน
เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ เช่น เตรียมกระสอบทราย พร้อมกับยืนยันว่า สต๊อกสินค้ามีเพียงพอ ไม่มีการปรับขึ้นราคา พร้อมจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าเพื่อช่วยเหลือประชาชน หากมีปัญหาในการจัดส่งให้แจ้งกรมฯ เพื่อจะได้ประสานต่อหน่วยราชการในพื้นที่หรือ กอ.รมน.
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า กรมฯตรวจเข้มไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้า และจัดเตรียมสินค้าไว้ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าขาดแคลน โดยเฉพาะของใช้จำเป็น รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมและทำความสะอาด เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยด้วย
สำหรับการขนส่งสินค้าผู้ประกอบการขนส่งทางภาคเหนือ ยืนยันว่ายังไม่ได้รับผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า แต่อาจมีน้ำท่วมในเส้นทางสายรองบ้างสามารถขนส่งสินค้าได้ตามปกติ พร้อมเตรียมแผนเส้นทางสำรองและรูปแบบในการขนส่ง ทั้งนี้หลังน้ำลดจะได้ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจัดสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน
นอกจากนี้ ได้กำชับให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด กำกับดูแลให้มีการปิดป้ายแสดงราคาสินค้า และเข้มงวดไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าว:
"สุโขทัยส่อระทม" ยอดน้ำยมสูงสุด เตือนภัย "ชาววังชิ้น" เตรียมรับมือ
คันดินแตกน้ำท่วม 4 หมู่บ้าน "ศรีสำโรง" สุโขทัย
สนทช.ประเมินสถานการณ์น้ำ 3 ปี เชื่อปีนี้ไม่รุนแรงเท่าปี 54 จับตาพายุ 2 ลูก