วันนี้ (26 ส.ค.2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึง สถานการณ์แรงงานไตรมาส 2/67 พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 66 ที่ 0.4% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5% ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวที่ 1.5% โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้า ปรับตัวดีขึ้น 9%
ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังคงขยายตัวได้ดีที่ 4.9% มีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การส่งออก ส่วนสาขาก่อสร้างขยายตัวชะลอลงตามการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย ขณะที่อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 1.07% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.01% ในไตรมาส 1/67
คาดว่า ตัวเลขการว่างงานในช่วงถัดไป ถ้าดูตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มองว่าจะมีส่วนทำให้การว่างงานปรับตัวดีขึ้น ส่วนการว่างงานในไตรมาสนี้ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.07% ยังอยู่ในระดับที่ไม่อันตรายสำหรับเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แรงงานไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต หลังจากที่ World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ภายในปี 2570 งานในภาคธุรกิจกว่า 42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI โดยทักษะที่แรงงานไทยต้องปรับคือการคิดวิเคราะห์ การสร้างสรรค์ และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวม 7.2% ในไตรมาส 4/66 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อีกทั้งดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ยังเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานได้
นายดนุชา กล่วอีกว่า ปัจจุบันรูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบเริ่มมีหลากหลาย โดยเฉพาะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่มาพร้อมกับเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่าย จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย อีกทั้งมีความเสี่ยงการมีหนี้สินพ้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่
การให้กู้ยืมนอกระบบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่อนไปใช้ไป หรือผ่อนครบรับของ ผ่านทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง Line, X, Instagram และ Tiktokซึ่งส่งผลให้คนมีหนี้เกินตัวได้ง่าย
ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งช่วยเหลือ คือ การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้คืน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับอัตราการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนม.ค. 67 ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วน ไม่สามารถปรับตัวและมีปัญหาในการชำระคืน
ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงไว้ที่ 8% ซึ่งจริงๆควรต้องอยู่ที่ 10% ต้องดูว่ามาตรการจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนหนึ่งมีผลแน่นอนกับคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต ผ่อนชำระ ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระลง ส่วนทบทวนตัวเลขหรือไม่นั้น ต้องมาพูดคุยกัน
อ่านข่าว:
กรมพัฒน์ฯ ชวน เกษตรกร ใช้ ต้นไม้ขอสินเชื่อ ต่อยอดธุรกิจ
3 แบงก์รัฐออกมาตรการบรรเทา "ภาระหนี้" จากผู้ประสบภัยน้ำท่วม
Negative Income Tax ภาษีเงินได้ที่ทำให้คนที่ไม่มีรายได้ "ได้เงิน"