ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แสงสุดท้าย "ตากใบ" โศกนาฏกรรม ในวันคดีใกล้หมดอายุความ

อาชญากรรม
23 ส.ค. 67
16:06
5,479
Logo Thai PBS
แสงสุดท้าย "ตากใบ" โศกนาฏกรรม ในวันคดีใกล้หมดอายุความ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.47 มีประชาชนเสียชีวิตรวม 85 คน และมีผู้บาดเจ็บ พิการไปจนถึงสูญหายอีกหลายคน แม้จะผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี แต่ไม่นานพอที่จะทำให้การสูญเสียผู้เป็นที่รักในวันนั้นลางเลือนไปและการต่อสู้อดทนของพวกเขาก็เป็นผล หลังยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐรวม 9 คน ด้วยตัวเอง วันนี้ศาลจังหวัดนราธิวาส รับฟ้องคดีพร้อมนัดสอบคำให้การ 12 ก.ย.นี้

แม้เหตุการณ์อันโศกสลด จะผ่านไปนานเกือบ 20 ปี แต่บาดแผลที่อยู่กลางใจของชาวบ้านและครอบ ครัวผู้สูญเสีย จากเหตุการณ์ชุมนุมปิดล้อม สภ.ตากใบในวันนั้น ก็ยังไม่จางหาย

หากย้อนเหตุการณ์กลับไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค.47 เกิดขึ้นหลังจาก ตำรวจคุมตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. บ.โคกกูแว ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เอาไว้ 6 คน หลังเข้าแจ้งความว่า ถูกกลุ่มติดอาวุธปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้รวม 6 กระบอก สาเหตุเพราะ ตำรวจ เชื่อว่า ทั้งหมดแจ้งความเท็จ

ประชาชนในพื้นที่เข้าสมทบกันมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คนจากสิบเป็นร้อย จากร้อยเพิ่มเป็นพันคน จนเกิดเหตุวุ่นวาย ยากต่อการควบคุม นำไปสู่การสลายชุมนุม โดยมีการระบุว่า ผู้สั่งการ คือ พล.ท.พิศาล รัตนวงคีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นเป็นผู้สั่งการ

รายงานคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุข้อมูลว่า มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต จากการสลายการชุมนุม 7 คน ในจำนวนนี้มี 5 คน ที่ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือถูกควบคุมตัว 1,370 คน ผู้ชายถูกถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลังทุกคนและมีจำนวนหนึ่งที่ถูกพันธนาการด้วยเชือก ลักษณะผูกร้อยเข้าด้วยกันเป็นชุด ชุดละประมาณ 10 คน

ทั้งหมดถูกคุมขึ้นรถบรรทุกของทหาร โดยจัดเรียงขึ้นกระบะรถบรรทุกในลักษณะนอนซ้อนทับกัน ซึ่งด้านข้างของกระบะรถบรรทุกเป็นโครงเหล็กพร้อมมีผ้าใบปกคลุมเป็นหลังคา แต่ผ้าใบมิได้คลี่ลงมา จากนั้นขบวนรถบรรทุกรวม 25 คัน ก็เคลื่อนตัวสู่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างออกไปจากพื้นที่ชุมนุม 150 กิโลเมตร

เมื่อขบวนรถเคลื่อนที่ไปถึงปลายทาง ก็พบว่า ประชาชนที่ถูกพันธนาการนอนเกยกันอยู่ท้ายกระบะรถบรรทุกนั้น เสียชีวิตมากถึง 78 คน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตจำนวนหนึ่ง กลายสภาพเป็นผู้เจ็บป่วยและพิการ อาทิ กล้ามเนื้อเปื่อยจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน

เมื่อมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการต้องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 150 คือ เป็นการตายผิดธรรมชาติ ที่ต้องชันสูตรพลิกศพและต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ให้ศาลไต่สวน

ผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง 7 คน ไม่มีการไต่สวนผลชันสูตรพลิกศพ โดยพบว่า ปลายปี พ.ศ.2549 มีหนังสือของอัยการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น ลงความเห็นว่า ไม่พบผู้กระทำความผิด งดการสอบสวน

ส่วน 78 คน ศาลสงขลามีคำสั่งผลการไต่สวนสำนวนชันสูตรพลิกศพ ในปี พ.ศ.2552 ว่า "เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ "

นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ว่า ภายหลังที่ศาลสงขลา มีผลการไต่สวนผลชันสูตรพลิกศพทั้ง 78 คน พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก ได้สรุปสำนวนคดี โดยมีใจความสำคัญว่า "ไม่มีผู้กระทำความผิดทางอาญา จึงมีความเห็นให้ยุติการสอบสวน" จากนั้นส่งสำนวนคดีไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในขณะนั้น ซึ่งผู้ว่าฯ ได้มีคำสั่งตอบรับ ไม่ขัดข้องต่อความเห็นของพนักงานสอบสวน ด้วยเหตุนี้คดีนี้จึงยุติลงไปในช่วงปี พ.ศ.2554 โดยอ้างอิงตามรายงานของกตำรวจ ที่รายงานต่อ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2567

แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 150 ผลการไต่สวนสำนวนการชันสูตรพลิกศพของศาล จะต้องถูกส่งไปให้ อัยการสูงสุด พิจารณาชี้ขาด ซึ่งปรากฏว่า สำนวนดังกล่าวไม่เคยถูกส่งถึงมืออัยการสูงสุดมาก่อนเลย

กระทั่ง 25 เม.ย.67 ปรากฏว่า คดีนี้ได้กลับสู่กระบวนการอย่างที่ควรจะเป็น โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือที่ ตช.0011.22/1438 ส่งสำนวนคดีอาญาที่ 13/2567 ของ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี จำนวน 4 แฟ้ม พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ จำนวน 4 แฟ้ม ไปยังอัยการสูงสุด พร้อมมีความเห็น สั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจนถึงขณะนี้ สำนวนคดีอยู่ระหว่างนกระบวนการพิจารณาฯ ของอัยการสูงสุด

เกือบ 20 ปี สำหรับการเดินทางของ สำนวนคดีการตายของประชาชนคนตากใบทั้ง 78 คน คดีนี้มีอายุความ 20 ปี นั่นหมายความว่า เหลือเวลาอีก 2 เดือนก็จะสิ้นอายุความ

ศาลฯ รับฟ้อง "48 ครอบครัวผู้เสียหาย" ที่ยื่นฟ้องเอง

เมื่อผู้เสียหาย เกิดความไม่ไว้ใจในกระบวนการของรัฐ จึงต้องเรียกร้องความยุติธรรมด้วยตัวเอง แต่ก็ใช้เวลานานทีเดียวที่ครอบครัวของผู้วายชนม์ จะกล้าออกมเปิดหน้าสู้ กระทั่ง 25 เม.ย.67 ผู้เสียหาย 48 ครอบครัว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส

วันนี้ 23 ส.ค.67 ศาลฯ มีคำสั่งรับฟ้องจำเลย รวม 7 คน พร้อมนัดสอบคำให้การวันที่ 12 ก.ย.67 จำเลย ทั้ง 7 ประกอบด้วย

จำเลยที่ 1 พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
จำเลยที่ 2 พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ยศในขณะนั้น อดีต ผู้บัญชาการ พล. ร. 5
จำเลยที่ 3 พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และเป็นอดีต สว.
จำเลยที่ 4 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้น ในฐานะอดีต ผบช.ภ.9 อดีต สว.
จำเลยที่ 5 พ.ต.อ.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับกการ สภ.ตากใบ ในขณะนั้น
จำเลยที่ 6 ศิวะ แสงมณี ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รอง ผอ. กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
จำเลยที่ 7 วิชม ทองสงค์ ในเวลานั้น เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

เปิดขั้นตอน "คดีวิสามัญฯ – ตายระหว่างถูกควบคุม" โดยจนท.รัฐ

ทุกการวิสามัญฆาตกรรมรวมถึงการตายในระหว่างถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องนำเข้าสู่กระบวน การตรวจสอบ ว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่ โดยมีกฎหมายกำหนดให้ต้องทำ 3 สำนวนคดี

สำนวนที่ 1 คือ กล่าวหาผู้เสียชีวิตว่า พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ตามหลักการสำนวนนี้พนักงานสอบสวนจะสั่งไม่ฟ้องเพราะผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิต จากนั้นก็ส่งสำนวนคดีให้กับอัยการเพื่อสั่งยุติคดี

สำนวนที่ 2 เป็นสำนวนกล่าวหาเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติ หรือ ผู้กระทำให้เสียชีวิต ฐานฆ่าคนตาย ซึ่งในทางปฏิบัติ พนักงานสอบสวนจะลงความเห็นว่า เป็นการปฎิบัติตามหน้าที่ราชการ หรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นการป้องกันโดยสมควรแก่เหตุ และส่งให้อัยการรับเรื่องไว้รอการไต่สวนผลชันสูตรพลิกศพ

สำนวนที่ 3 เป็นสำนวนการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ซึ่งกำหนดให้ต้องมี พนักงานอัยการ,แพทย์,ฝ่ายปกครองและพนักงานสอบสวน รวม 4 ฝ่าย ร่วมกันชันสูตรพลิกศพ เพื่อถ่วงดุลอำนาจอย่างครบวงจรและสำนวนคดีนี้ ต้องมีพนักงานอัยการกับพนักงานสอบสวน ทำสำนวนร่วมกัน กฎหมายกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่หากไม่ทันสามารถขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ในครั้งละไม่เกิน 30 วัน

เมื่อสำนวนเสร็จสิ้นก็ส่งให้อัยการ เพื่อให้ยื่นคำร้องต่อศาล ให้ไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งในชั้นนี้จะต้องแจ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต เมื่อถึงนัดไต่สวนอัยการก็จะเบิกความไปตามสำนวนคดี เพื่อบอกว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และระบุถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย

และในชั้นนี้ฝ่ายครอบครัวของผู้เสียชีวิตสามารถตั้งทนายขึ้นมาซักค้าน ต่อสู้หักล้างกับอัยการ

จากนั้นศาลจะพิจารณาพยานหลักฐาน พร้อมลงความเห็นกำกับไว้ ว่า เป็นการตายเพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือเป็นการปฏิบัติที่เกินสมควรแก่เหตุ หรือ เป็นเจตนาฆ่าคนตายและส่งผลการไต่สวนฯ ให้อัยการ เพื่อนำไปรวมเข้ากับสำนวนที่ 2 ก่อนจะส่งคืนให้พนักงานสอบสวนและเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ที่จะสรุปสำนวนคดีส่งให้กับอัยการสูงสุด เป็นผู้พิจารณาชี้ขาด

คดีตากใบ เกิดขึ้นในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ต่อมาปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยียวยาผู้เสียชีวิต คนละ 7,500,000 บาทและเยียวยาผู้บาดเจ็บสูงสุดคนละ 500,000 บาท และในวันนี้ที่คดีขึ้นสู่ชั้นศาลฯ มีรัฐบาลเป็นแพทองธาร ชินวัตร

สำหรับชาวบ้านและครอบครัวผู้สูญเสีย วันเวลาที่ล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี อาจยาวนานและล่าช้าเหลือเกิน 

"วิลเลียม เอวาร์ต แกล็ดสโตน" (William Ewart Gladstone) รัฐบุรุษอังกฤษ เคยกล่าวว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม" 

บาดแผลและความเจ็บปวดของผู้สูญเสียเบาบางลงไปได้คงไม่ใช่เงินทอง หากคือ ความรับผิดชอบ จากผู้ที่กระทำการต่อผู้เสียชีวิต

รายงานโดย : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : ศาลนราธิวาส รับฟ้องคดีตากใบ นัดสอบคำให้การ 12 ก.ย.นี้ 

เครือข่ายทนายความ ยื่นฟ้อง 9 จนท.รัฐ "คดีตากใบ" 25 เม.ย.นี้ 

บทวิเคราะห์ : 18 ปี ตากใบ กับเสียงคนปักษ์ใต้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง