ช่วงนี้ราคากล้วยน้ำว้าราคาพุ่งถึง 60 บาทต่อหวีต่อเนื่องเกือบ 1 เดือนแล้ว ส่งผลกระทบให้พ่อค้าแม่ค้า ต้องนำกล้วยมาแปรรูปขาย และผู้บริโภคต้องซื้อกล้วยในราคาที่แพงขึ้น มีการคาดว่าราคากล้วยน้ำว้าจะพุ่งสูงไปถึงปีละ 80 บาท
ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ไปสำรวจสวนกล้วยน้ำว้า ในพื้นที่ของ ต.บ้านยาง อ.เมืองนครปฐม หลังจากที่ราคากล้วยน้ำว้าในตลาดพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง มานานเกือบ 1 เดือน ราคาซื้อขายหน้าตลาดอยู่ที่ หวีละ 60 บาท ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าที่ราคาพุ่งสูงเกิดจากสาเหตุอะไร
นางปราณี วาดเขียน เจ้าของสวนกล้วยน้ำว้า บอกว่า ตอนนี้ชาวสวนกำลังเนื้อหอมอย่างมาก เพราะมีพ่อค้าคนกลางคิดต่อรับซื้อกล้วยจำนวนมาก แต่ผลผลิตไม่พอขายเนื่องจากว่าสภาพอากาศที่ร้อนจัดจากภาวะโลกเดือดในปีนี้ ทำให้กล้วยน้ำว้าเป็นโรคใบเหลือง และโรคหนอนจำนวนมาก ไม่เจริญเติบโต
นางปราณี วาดเขียน เจ้าของสวนกล้วยน้ำว้าจ.นครปฐม
ทำให้ราคาซื้อขายจากหน้าสวนติดพุ่งสูงขึ้นจากเดิมขายหวีละ 10 บาท เป็น 20 บาทต่อหวี แต่ไม่ได้ราคาถึง 60 บาท เหมือนราคาหน้าตลาดนั้นอาจเป็นเพราะ กลไกของตลาด ยิ่งมีผลผลิตน้อยความต้องการก็จะยิ่งมากขึ้น
มีคนโทรมาซื้อ 18-20 บาท มีแล้วแบ่งส่งเจ้าที่นำไปทำแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ และถ้าหวีใหญ่ก็จะราคาสูงขึ้น
ชาวสวนบอกว่า ราคากล้วยน้ำว้าพุ่งสูง เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ปีนี้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แบบไม่เคยเป็นมาก่อน เชื่อว่าราคาจะสูงไปอีก 2-3 เดือน เนื่องจากฝนยังไม่ตกลงมาเต็มที่ ผลผลิตก็ยิ่งน้อยลง
อ่านข่าว สะพัด!ธรรมนัส ยกก๊วนย่องพบ "เฉลิมชัย" ดีลปชป.ร่วมเพื่อไทย
ผลผลิตกล้วยน้ำว้าน้อย อากาศร้อนแล้งช่วงหน้าร้อน
ผลผลิตออกน้อยช่วงส.ค.
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรที่ปลูกกล้วยน้ำว้า ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศ 43,878 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 109,086 ไร่ ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และสังคมเมืองที่ขยายตัว การปลูกกล้วยเพื่อบริโภคในครัวเรือนลดน้อยลง กล้วยน้ำว้า จึงกลายเป็นสินค้าที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเขตเมือง และเขตชนบท
ข้อมูลการศึกษาต้นทุน และผลตอบแทนของการปลูกกล้วยน้ำว้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พบว่าเกษตรกรมีรายได้ 5,544 บาทต่อไร่ต่อปี ต้นทุนการผลิต 9.60 บาทต่อหวีโดยเกษตรกรมีรายได้ต่อหวีอยู่ที่ 2.64 บาท
ปัจจัยผลผลิตกล้วยน้อย เพราะสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิสูงขึ้น บางช่วงของฤดูกาลจะมีผลผลิตออกมากขึ้นจนเกินความต้องการของตลาดก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าจึงต้องแบกรับภาระ และกระจายความเสี่ยงนำกล้วยน้ำว้าไปแปรรูปสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามสภาวะการตลาดที่เปลี่ยนแปลง
กล้วยน้ำว้าราคาแพง คาดอาจราคาพุงถึงหวีละ 80 บาทเพราะผลผลิตน้อย
สอดคล้องกับข้อมูลจากการวิเคราะห์ราคากล้วยน้ำว้าเบอร์กลางที่ตลาดไท พบว่า ราคากล้วยน้ำว้าสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.2567 ซึ่งปกติอายุของผลกล้วยตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3–4 เดือน กล้วยน้ำว้าจึงอาจออกดอกติดผลในช่วงแล้งและร้อนจัดที่ผ่านมา (มี.ค.-เม.ย. )
ทำให้ผลผลิตกล้วยน้ำว้ามีน้อย ราคาสูง ผลขนาดเล็ก และมีคุณภาพไม่ตรงตามที่ผู้รับซื้อต้องการ แนวโน้มสถานการณ์ราคากล้วยน้ำว้าน่าจะสูงอย่างต่อเนื่อง หรืออาจจะลดลงเล็กน้อยจนถึงปลายปี 2567
เนื่องจากต้นกล้วยบางส่วนเสียหาย จากภัยแล้งบางส่วนที่ถูกโรค และแมลงเข้าทำลายภายหลังเกิดภัยแล้ง แต้ต้นกล้วยที่รอดผ่านภัยแล้งมาได้น่าจะให้ผลผลิตได้ตามปกติในช่วงปลายปี 2567 หรืออย่างช้าต้นปี 2568
สอดคล้องกับข้อมูลราคาเฉลี่ยสินค้าเกษตรกล้วยน้ำว้า ของกระทรวงพาณิชย์ ย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2563-2567) ที่พบว่าราคากล้วยน้ำว้าจะสูงในช่วงเดือนส.ค.ของทุกปี และจะลดลงในช่วงปลายปีจนราคาตกต่ำในช่วงแล้งปีถัดไป
อ่านข่าว
ต่อคิวล้นปั๊ม! ชาวเมียนมาแห่เติมน้ำมัน หวั่นขาดตลาด