- รวมไฮไลต์น่ารู้ "พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024" และจุดเริ่มต้นมหกรรมกีฬาคนพิการ สุดยิ่งใหญ่
- ประเทศไหนบ้างขับเคลื่อนการบริหารด้วย "ทายาททางการเมือง"
กรณีดรามาเรื่องกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยนำเมล็ดตะแบกนาจำนวน 100 กิโลกรัมไปโปรย จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมเพราะตะแบกนาเข้าข่ายเไม้ต่างถิ่น
วันนี้ (20 ส.ค.2567) เพจเฟซบุ๊กกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อัปเดตว่าโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ เมล็ดพันธุ์ถูกสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และนำไปใช้โปรยให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดและนำเมล็ดพันธุ์ไปโปรย ในกรณีที่แผนบินการทำงาน ต้องบินผ่านพื้นที่อุทยานเท่านั้น
ในแต่ละพื้นที่ มีการกำหนดชนิดของเมล็ดพันธุ์ที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เข้ากับพื้นที่อุทยานนั้น พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ มะค่าโมง กระพี้จั่น แดง ตะแบกนา พะยูง
เจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร นำเมล็ดพันธุ์ไปโปรยปลูกป่า
เบรกโปรยป่าทางอากาศ-สอบเมล็ดพันธ์ุ
นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้สัม ภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า โครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ต้องมีการขออนุญาตระหว่างกรมอุทยานฯ และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งมีการตั้งงบประมาณดำเนินการในแต่ละปี และมีการคัดเลือกพันธุ์ไม้โปรยทางอากาศจะต้องเป็นไม้ในถิ่น ซึ่งเท่าที่ทราบปี 2567 ได้ทำโครงการตั้งแต่จากอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จนมาถึงแก่งกระจาน
โดยส่วนใหญ่การเลือกโปรยเมล็ดพันธุ์ทางอากาศ จะไม่โปรยในป่าทึบ แต่จะโปรยในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ป่าไผ่ ป่าที่โดนไฟไหม้ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์สามารถเจริญเติบได้ รวมทั้งการเลือกชนิดไม้ต้องเป็นไม้ที่มีในพื้นที่เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศ
กระแสดรามาต้นตะแบกนามาโปรยนั้น ไม่ใช่ไม้ที่อยู่ในป่าที่ขึ้นในป่าแก่งกระจาน และเมล็ดพันธุ์มาจากป่าอื่นๆ ป่าอีสานก็ไม่ถูกต้อง ส่วนต้นพะยูง แดง เป็นไม้ที่พบในพื้นที่ ดังนั้นขอตรวจสอบข้อมูลก่อน
อ่านข่าว ราคาพุ่ง "กล้วยน้ำว้า" ฉุดไม่อยู่ขายหวีละ 80 บาท
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ภาพกรมฝนหลวงและการบินเกษตร)
ห่วงกระทบนิเวศเมล็ดพันธุ์โปรยผิดป่า
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยอมรับว่าหากมีการโปรยตะแบกนาลงไปแล้ว กว่าตะแบกนาจะโตต้องใช้เวลาหลายปี และในป่าเองก็จะมีการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว และในแง่ของประโยชน์ของตะแบกนาไม่ได้เป็นอาหารสัตว์ได้ ส่วนจะกระทบโครงสร้างป่าหรือไม่นั้นต้องศึกษาในระยะยาว เพราะก่อนหน้านี้แก่งกระจานก็เคยเจอปัญหาเถาวัลย์กินป่าเมื่อ 10 ปีก่อน
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน โดยเบื้องต้นอาจจะต้องทบทวนโครงการที่เหลืออยู่ก่อน
เนื่องจากเป็นห่วงว่าอาจจะกระทบกับระบบนิเวศของป่าไม้หากนำเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมกับชนิดของป่าแต่ละประเภท เช่นป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้นเป็นต้น
เมล็ดต้นแดง 1 ใน 13 ชนิดเมล็ดพันธุ์ที่นำไปโปรยใน 7 อุทยาน (ภาพสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่)
ขณะที่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นพ.รังสฤษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ามาแสดงความเห็นว่าพื้นที่ป่าสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะโปรยเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งพื้นที่ป่า ถูกรบกวน ป่ามีศักยภาพในการฟื้นฟูตนเองจะทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และพันธุกรรม มากกว่ามนุษย์เข้าไปยุ่ง โดยวิธีเลือกปฏิบัติ
พื้นที่ดังกล่าว ไม่ใช่พื้นที่ของตะแบกนา จึงเป็นพันธุ์ต่างถิ่น แม้เอาพืชพื้นถิ่น มาโปรยอาจถูกชนิด แต่พันธุกรรมย่อยผิดที่สำคัญ จะทำให้ องค์ประกอบโครงสร้างของนิเวศ เปลี่ยนส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงนิเวศป่า
7 อุทยานนำร่องโปรยป่าทางอากาศ
จากการตรวจสอบโครงการโปรยป่าทางอากาศ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวร่วมกับนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
โดยระบุว่าโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ จะกำหนดชนิดพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับผืนป่าและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ 7 แห่ง ได้แก่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.เพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู อุทยานแห่งไทรทอง จ.ชัยภูมิ อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แถลงโครงการโปรยป่าทางอากาศ (ภาพสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่)
โดยจะใช้เมล็ดพันธุ์พืช 13 ชนิด ได้แก่ กระพี้จั่นแดง มะขามป้อม มะค่าโมง ตะแบกนาสมอพิเภก พะยูง โมกมัน ทิ้งถ่อน อะราง สัก ประดู่ป่า และมะค่าแต้ จำนวน 7.2 ล้านเมล็ด รวม 1,651 กิโลกรัม
ส่วนวิธีการนั้น จะทำการนำเมล็ดพันธุ์พืชมาปั้นหุ้มดิน แล้วนำไปโปรยในพื้นที่ป่าควบคู่ไปในระหว่างการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์พืชและเพิ่มความหนาแน่นของพื้นที่ป่าไม้ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ และเพิ่มความชื้นสัมพัทธิ์ในอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างโอกาสการปฏิบัติการฝนหลวงให้เป็นผลสำเร็จมากขึ้นด้วย ตั้งแต่เดือนก.ค.-ก.ย.นี้
สำหรับในส่วนของ จ.เชียงใหม่นั้น จะดำเนินการโปรยเมล็ดพันธุ์ในเขตพื้นที่ 2,455 ไร่ ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อ.แม่แตง โดยมีเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ จำนวน 3 ชนิด คือ กระพี้จั่น แดง และ มะค่าโมง
อ่านข่าว
"พปชร." ออกแถลงการณ์ แจง "ประวิตร" ส่งชื่อ 4 รมต. ให้ นายกฯแล้ว