ป.ป.ช.ภาค 9 ตรวจสอบการบุกรุกป่า จ.ยะลา

ภูมิภาค
16 ส.ค. 67
11:01
224
Logo Thai PBS
ป.ป.ช.ภาค 9 ตรวจสอบการบุกรุกป่า จ.ยะลา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ป.ป.ช.ภาค 9 และป.ป.ป.ประจำ จ.ยะลา บินสำรวจพื้นที่ป่าใน จ.ยะลา พบสภาพภูเขาสูงหลายแห่งถูกเปลี่ยนแปลงไปปลูกทุเรียนมากขึ้น แต่ยังไม่พบการบุกรุกป่าที่ชัดเจน

แนวโน้มการบุกรุกป่า ที่ยังพบโดยทั่วไปใน จ.ยะลา ทำให้ ป.ป.ช.ภาค 9 ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือถึงแนวทางปฏิบัติ โดยพบว่า สภาพปัญหาของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในจังหวัดยะลา

มีทั้งการบุกรุกป่าที่สงวนหวงห้าม การลักลอบตัดไม้สำคัญ และปัญหาการบุกรุกในพื้นที่นิคมสร้างต้นเอง 3 แห่ง คือ นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ.ยะลา มีเนื้อที่กว่า 200,000 ไร่ พื้นที่นิคมสร้างตนเองธารโต และพื้นที่นิคมสร้างตนเองเบตง และยังพบปัญหาการเปลี่ยนมือในการถือครองที่ดินแทนชาวบ้านเดิมที่ไร้ที่ทำกิน

“มีคำถามว่า คนที่ถือครองที่ดินในนิคมต่าง ๆ เป็นนอมินีหรือเปล่า เป็นกลุ่มนายทุนหรือเปล่า เพราะจากที่เราบินสำรวจ จะเห็นว่า มีสวนทุเรียนแปลงใหญ่ ค่อนข้างมาก และสิ่งที่เจอคือ คนที่ถือครองที่ในนิคมบางส่วน เป็นข้าราชการเกษียณ จึงมีคำถามว่า ข้าราชการเกษียณเข้าหลักเกณฑ์มีสิทธิครอบครองได้ไหม

เพราะบางคนรับบำเหน็จบำนาญไปแล้ว แต่มีชื่อเป็นผู้ครอบครอง จริง ๆ ตอนกรอกขอรับการจัดสรรที่ดิน ก็จะมีช่องให้กรอกว่า มีรายได้เท่าไร แต่ทางนิคมแจ้งว่า มีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะตรวจเช็คได้ทั้งหมด จึงให้เป็นแนวทางว่า เราจะทำยังไงว่าจะตรวจสอบคนที่ครอบครองเหล่านั้นว่ามีรายได้เกิน และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินเพราะมีการร้องเรียนกันมากขึ้น” นพพร บุญโชติตระกูล ผอ.สนง.ป.ป.ช.จ.ยะลา กล่าว

ด้านตัวแทนนิคมทั้ง 3 แห่ง และหน่วยงานด้านป่าไม้ ชี้แจง กับ ป.ป.ช ว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำเกิดการบุกรุกป่า เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ การเข้าจับกุมก็มักจะไม่พบตัวผู้กระทำความผิด และปัญหาการไม่มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดี โดยเฉพาะในส่วนของนิคมสร้างตนเอง ที่ผู้ปกครองนิคม ทำได้เพียงการลงบันทึกประจำวัน และต้องให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้มอบอำนาจให้ผู้ปกครองนิคมดำเนินคดีแทน แต่ก็มักจะล่าช้า

เวลาเราเข้าไปตรวจสอบ ก็มักจะไม่พบคนกระทำผิด และต้องยอมรับว่า บางแปลงยังไม่ได้ทำการรังวัด พอเราขอดูเอกสาร ก็ไม่มีเอกสารมาให้เราดูได้ อีกประเด็นหนึ่งคือการซื้อขายกันแบบปากเปล่า ก็ยอมรับว่าค่อนข้างเยอะ

ตัวแทนนิคมสร้างตนเองธารโต จ.ยะลา กล่าว

ความมีชื่อเสียงของทุเรียนใน จ.ยะลา และราคาขายที่แพง เป็นอีกหนึ่งตัวเร่ง ที่ ป.ป.ช.ภาค 9 มองว่า ทำให้ปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตรมีมากขึ้น อีกทั้งการเป็นครอบครัวขยายของคนในพื้นที่ ทำให้ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ

“วันนี้เราต้องมาถอดกันว่า มีการบุกรุกใหม่กี่เปอร์เซ็นต์ และมีที่ทำกินที่จัดสรรให้อยู่เดิมตามระเบียบเท่าไร สิ่งที่เรากังวลจริง ๆ คือ การบุกรุกเข้าไปในหัวใจของป่า หรือ ป่าต้นน้ำ ซึ่งวันนี้ หลายหน่วยบอกว่า ป้องกันอย่างเต็มที่ มีการติดตามจับกุมต่อเนื่อง เราก็อาจต้องขอให้ทุกหน่วย ทำงานแบบบูรณาการกัน ใช้เครืองมือทั้งหมดที่มี อย่าให้มันลุกลาม” เกียรติศักดิ์ พุฒพันธุ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 9 กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมป่าไม้ พบว่า จังหวัดยะลามีเนื้อที่ป่ากว่า 980,000 ไร่ มีทั้งพื้นที่ในความรับผิดชอบทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยาน และนิคมสร้างตนเอง แต่ยังพบการบุกรุกในหลายส่วน ทำให้ ป.ป.ช.เขตพื้นที่ 9 ต้องเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น

เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

อ่านข่าว :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง