"สวีเดน" พบคนแรกติดเชื้อ "เอ็มพอกซ์" นอกแอฟริกา

ต่างประเทศ
16 ส.ค. 67
06:37
708
Logo Thai PBS
"สวีเดน" พบคนแรกติดเชื้อ "เอ็มพอกซ์" นอกแอฟริกา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สวีเดนประกาศพบผู้ติดเชื้อเอ็มพอกซ์คนแรกนอกทวีปแอฟริกา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะพบการระบาดเพิ่มขึ้นอีกในประเทศต่าง ๆ

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2567 หน่วยงานด้านสาธารณสุขสวีเดน แถลงยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์ (Mpox) หรือชื่อเดิมคือ "ฝีดาษลิง" เป็นคนแรก โดยระบุว่าเป็นไวรัสประเภท Clade 1b ที่อันตรายมากกว่าและกำลังเดินหน้าป้องกันการระบาด โดยประสานงานในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

ขณะนี้ผู้ป่วยกำลังรักษาตัวอยู่ในกรุงสตอกโฮล์ม โดยได้รับเชื้อระหว่างการพำนักในพื้นที่หนึ่งของทวีปแอฟริกาที่พบการระบาดของโรค และเป็นการติดเชื้อ Clade 1 นอกทวีปแอฟริกาคนแรกเท่าที่ทราบข้อมูล เท่ากับว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ Clade 1b แล้วที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก บุรุนดี เคนยา รวันดาและสวีเดน

เจ้าหน้าที่สวีเดน ระบุว่า การที่ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในสวีเดนไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจายเป็นวงกว้างแต่อย่างใด และผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ Clade 1b ในสวีเดนจะไม่สูงเท่ากับในแอฟริกา ด้วยระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็เชื่อว่าจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในที่อื่น ๆ ทั่วโลก เนื่องจากยังไม่มีกลไกป้องกันการระบาดหรือการนำเชื้อเข้าประเทศต่าง ๆ ในเวลานี้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคยุโรป ระบุว่า ผู้ติดเชื้อเอ็มพอกซ์มักแสดงอาการประมาณ 6-13 วันหลังได้รับเชื้อ โดยมีอาการไข้และปวดหัว ผื่นขึ้น หรือมีแผลพุพองและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คนส่วนมากที่ติดเชื้อมักมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ก่อนจะหายเป็นปกติ แต่ผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่องจะเผชิญความเสี่ยงมากกว่า โดยขณะนี้มีวัคซีนสำหรับป้องกัน แต่เกรงว่าจำนวนจะไม่เพียงพอสำหรับพื้นที่ที่จำเป็น

ความคืบหน้าของการพบผู้ติดเชื้อคนแรกนอกแอฟริกาในสวีเดนครั้งนี้ มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคเอ็มพอกซ์ในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกา มีสถานะเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นรอบที่ 2 หลังเคยประกาศเตือนแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2022 ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแอฟริกาเพิ่งประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขไปก่อนหน้านี้

ตั้งแต่ต้นปี 2024 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พบผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 13,700 คนและมีผู้เสียชีวิตกว่า 450 คน จากนั้นพบในประเทศอื่น ๆ ทั้งบุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เคนยา และรวันดา หรือแพร่ในหลายประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออก ซึ่งพบว่าเป็น Clade 1b หรือไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงช่วงประมาณเดือน ก.ย.2023 กลายพันธุ์จนเป็นสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุดเท่าที่เคยมีมา

อ่านข่าว

WHO ประกาศ "ฝีดาษลิง" ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก

ญี่ปุ่นเตรียมผลัดใบ! จับตานายกฯ คนใหม่ ก.ย.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง