วันนี้ (10 ส.ค.2567) นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สนบ.จะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 ผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินทั้งหมด 40,000 ล้านบาท ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ในวันที่ 13-31 ส.ค. 2567
ประกอบด้วย รุ่นอายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3 % ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3.40% ต่อปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) โดยมีวงเงินขั้นต่ำตั้งแต่ 100 บาท ไม่เกิน 50 ล้านบาท (หน่วยละ 100 บาท)
การออกพันธบัตรออมทรัพย์จะเป็นชุดสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 โดยเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
สำหรับผู้ที่ซื้อผ่านช่องทางดังกล่าวไม่ทัน สบน. จะเปิดจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 6 ธนาคาร วงเงิน 25,000 ล้านบาท ในวันที่ 19-21 ส.ค. 2567 สำหรับผู้มีสิทธิซื้อ คือ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย วงเงินขั้นต่ำในการจองซื้อ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง หน่วยละ 1,000 บาท
โดยการจองซื้อจัดสรรแบบ Small lot first (การย่อยจัดสรร) ทวีคูณรอบละ 1,000 บาท ซึ่งลำดับในการจองซื้อก่อน-หลัง ไม่มีผลต่อการจัดสรร และในกรณีที่วงเงินพันธบัตรที่จะจัดสรรในรอบสุดท้ายไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ผู้ซื้อทุกราย ระบบคอมพิวเตอร์จะจัดสรรพันธบัตรในรอบสุดท้ายด้วยวิธีการสุ่ม (Random) จนครบวงเงินจำหน่าย
ขณะเดียวกัน ผู้จองซื้อจะทราบผลการจัดสรรพันธบัตรและได้รับเงินคืน กรณีที่ไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตร หรือได้รับจัดสรรไม่ครบตามวงเงินจองซื้อ ในวันที่ 22 ส.ค. 2567
สำหรับการจำหน่ายผ่าน 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นอกจากนี้ สบน. จะเปิดจำหน่ายให้กับนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท เฉพาะรุ่นอายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือนวงเงินขั้นต่ำ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง หน่วยละ 1,000 บาท
โดยจะเปิดจำหน่ายวันที่ 26-27 ส.ค. 2567 สำหรับผู้มีสิทธิ์ซื้อ ได้แก่ สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร ซึ่งจะเปิดจำหน่ายผ่าน 6 ธนาคาร
อ่านข่าว:
พิษสินค้าจีนถล่มตลาดอาเซียน กกร.ชี้ 667 โรงงาน ระส่ำปิดตัว