ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เงินจ๊าดอ่อนค่า กระทบเศรษฐกิจเมียนมาหนัก

ภูมิภาค
4 ส.ค. 67
17:51
402
Logo Thai PBS
เงินจ๊าดอ่อนค่า กระทบเศรษฐกิจเมียนมาหนัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ค่าเงินจ๊าด (MMK) ของเมียนมา ที่ประสบปัญหาการอ่อนค่ามาอย่างต่อเนื่อง ทำกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเมียนมา และการตัดสินใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราจะมาสำรวจว่าค่าเงินที่อ่อนค่านี้มีความหมายและผลกระทบอย่างไร

สาเหตุการอ่อนค่าของเงินจ๊าด

1. ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเศรษฐกิจ ทำให้มีการถอนเงินออกจากธนาคารในเมียนมาเป็นจำนวนมาก

2. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เมียนมามีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากการนำเข้าที่มากกว่าการส่งออก ทำให้ค่าเงินต้องเผชิญกับแรงกดดัน

3. การคว่ำบาตรระหว่างประเทศ การคว่ำบาตรจากนานาประเทศส่งผลให้การลงทุนและการค้าในเมียนมาถูกจำกัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและค่าเงิน

ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินจ๊าด

1. สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ:
 การลงทุนที่ต้นทุนต่ำลง: การอ่อนค่าของเงินจ๊าดทำให้การลงทุนในเมียนมามีต้นทุนต่ำลงสำหรับนักลงทุนที่ใช้สกุลเงินอื่นๆ ที่แข็งค่า ทำให้โอกาสการลงทุนในสินทรัพย์หรือธุรกิจในเมียนมาดูน่าสนใจขึ้น
 ความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอน: ค่าเงินที่อ่อนค่าอาจสะท้อนถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุน


2. สำหรับบริษัทในเมียนมา:
 ข้อได้เปรียบในการส่งออก: ค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่าทำให้สินค้าส่งออกของเมียนมามีราคาถูกลงในตลาดโลก ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
 ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น: การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าอาจมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าภายในประเทศและอัตราเงินเฟ้อ

มุมมองของตัวแทนภาคธุรกิจ

ทีมข่าวมีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนภาคธุรกิจในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมองว่า ค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่ามีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ซึ่งอาจมีนักลงทุนตัดสินใจลงทุนในประเทศเมียนมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงโอกาสที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของตลาด ซึ่งนักลงทุนน่าจะต้องพิจารณาด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ รวมถึงการตรวจสอบนโยบายการเงินของรัฐบาลและธนาคารกลางของเมียนมา
 
นักธุรกิจพื้นที่ชายแดน จังหวัดตาก ยังมองว่า ค่าเงินจ๊าดจะคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น เนื่องจากไม่มีปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินจ๊าดกลับมาแข็งค่าได้ แต่อย่างไรก็ตามจะไม่กระทบกับการค้าชายแดนมากนัก แม้ว่าค่าเงินจ๊าดจะอ่อนค่าลง เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าชายแดนรับรู้ถึงปัญหาค่าเงินจ๊าด ที่อ่อนค่าลงมาโดยตลอดระยะเวลาหลายสิบปี นอกจากนั้นชาวเมียนมา ยังคงต้องพึ่งสินค้าไทยในการอุปโภคและบริโภค แม้มีสินค้าจากประเทศจีนมาตีตลาดในเมียนมา แต่สิ่งของจากประเทศไทยก็ยังคงมีการต้องการใช้และนิยมมาอย่างยาวนาน  แม้ว่าขณะนี้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในเมียนมาพุ่งสูงขึ้น และยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลงก็ตาม


ตอนนี้หวังให้รัฐบาลไทยหาแนวทางที่จะทำให้สินค้าผ่านเส้นทาง AH1 ให้ได้ จากการที่ได้รับผลกระทบจากฤดูฝน และการสู้รบ โดยไม่ต้องอ้อมไปใช้เส้นทางอื่น ซึ่งหากเส้นทางนี้ผ่านได้ แม้ว่าค่าเงินจ๊าดจะอ่อนค่าลง แต่สินค้าจากไทยก็ยังคงได้รับความนิยม เพราะในเมียนมายังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงมีกำลังในการซื้อสินค้า

ขณะที่เวิลด์แบงก์คาดเงินเฟ้อปี 67 ใน "เมียนมา" จะสูงถึงร้อย 20 ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ภาพรวมเศรษกิจภาพเมียนมา ค่าเงินจ๊าดซื้อขายขณะนี้ที่ 5,400 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ จากต้นเดือนกรกฏาคม 4,800 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ก่อนการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินจ๊าดซื้อขาย 1,300 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับราคาทองคำ ตลาดภายในประเทศพุ่งกว่า 6.8 ล้านจ๊าดต่อ 16.33 กรัม สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากช่วงก่อนเกิดการรัฐประหาร ราคาทองคำอยู่ที่ 1.3 ล้านจ๊าด ต่อ16.33 กรัม

รายงาน:ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง