ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขอบังคับโทษประหาร "บรรยิน" เสียงทวงยุติธรรมคืน "เสี่ยชูวงษ์"

อาชญากรรม
2 ส.ค. 67
14:01
1,106
Logo Thai PBS
ขอบังคับโทษประหาร "บรรยิน" เสียงทวงยุติธรรมคืน "เสี่ยชูวงษ์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"ก็รู้สึกว่า น่ากลัว และกังวล ว่าสิ่งที่เราต่อสู้ผ่านมา 9 ปี เราลำบาก ถูกข่มขู่ คุกคาม หากนักโทษ กลับออกมาได้อีก จะเกิดอะไรขึ้น เราคงต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทั้งที่เป็นผู้เสียหาย น้องชายถูกฆาตกรรม และยังต้องมานั่งระวังตัวอีก ... ถามว่า เราได้ความเป็นธรรมหรือยัง" วันเพ็ญ ธนธรรมศิริ พี่สาวของ "เสี่ยจืด" ชูวงษ์ แซ่ตั๊ง กล่าวขณะนำเอกสารมายื่นกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอให้บังคับโทษประหารชีวิต "บรรยิน ตั้งภากรณ์" อดีต รมช.พาณิชย์ และ อดีต สส.นครสวรรค์ หลายสมัย ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมอำพราง เมื่อบ่ายวานนี้ (1 ส.ค.) ที่กรมราชทัณฑ์

คดีนี้ศาลฎีกามีคำสั่งยืนประหารชีวิต "บรรยิน" เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการปิดฉากคดีนี้ไปแล้ว หลังจากใช้เวลาต่อสู้คดี แต่เหตุที่ทำให้ "วันเพ็ญ" ต้องออกมาขอให้บังคับโทษประหาร ด้วยเหตุผลว่านักโทษเด็ดขาดชายรายนี้ ก่อเหตุคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ มีพฤติกรรมโหดร้ายทารุณ และทำความผิดต่อเนื่อง ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ศาลมีคำสั่งให้ประหารชีวิตถึง 2 คดี คือ คดีฆาตกรรมอำพราง "เสี่ยจืด" ชูวงษ์ และคดีอุ้มฆ่า นายวีรชัย พี่ชายผู้พิพากษา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นผู้พิพากษา ทำคดีโกงหุ้นของ "เสี่ยจืด" ชูวงษ์ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

วันเพ็ญ กล่าวว่า คดีที่นักโทษรายนี้ ก่อเหตุในคดีอาญารวม 5 คดี ถือเป็นนักโทษที่ทำผิดซ้ำซาก ก่อเหตุร้ายแรง และยังมีคดีโกงหุ้นอีก 8 ปี คดีฟอกเงินที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ปปง. อีก 20 ปี และในขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำฯ ก็ยังมีพฤติการณ์หลบหนี ก่อคดี แหกคุกขู่อุ้มภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำอีก ศาลลงโทษตัดสิน 3 ปี มีพฤติกรรมซ้ำซากในการกระทำความผิด จึงอยากให้นักโทษรายนี้ได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาล

นางวันเพ็ญ ธนธรรมศิริ พี่สาวของ

นางวันเพ็ญ ธนธรรมศิริ พี่สาวของ

นางวันเพ็ญ ธนธรรมศิริ พี่สาวของ "เสี่ยจืด" นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง

"เมื่อศาลฎีกาตัดสินถึงขั้นสุดท้ายแล้ว เขาก็ยังสามารถที่จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งตามกรอบเวลาแล้ว นักโทษจะมีกรอบเวลา 60 วัน เราไม่อาจก้าวล่วงได้ในการพระราชทานอภัยโทษ แต่มองว่า ต้นทาง คือ กรมราชทัณฑ์ เห็นสมควรที่จะยื่นให้อภัยโทษนักโทษที่มีพฤติกรรมซ้ำซากหรือไม่ … ที่ผ่านมา 10 ปี ถามว่าเราได้ยินข่าวว่ามีการประหารนักโทษไปกี่คน ล่าสุด คือ มิก หรือ ธีรศักดิ์ หลงจิ ในปี 2561 หลังจากนั้นยังไม่เคยมีใครได้รับโทษประหารจริงเลย" วันเพ็ญ กล่าว

หากมองย้อนคดีอุกฉกรรจ์ที่เคยเกิดขึ้น วันเพ็ญ มองว่า ไม่ว่าศาลฎีกาจะตัดสินโทษประหารไปกี่คดี แต่ข้อเท็จจริงคือ แทบจะไม่มีการประหารชีวิต เคยเห็นแต่นักโทษที่ได้รับโทษประหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ผู้ต้องหาก็พ้นโทษออกมาหมด จึงทำให้กังวลว่า นักโทษคนนี้ก่อคดีร้ายแรงและก่อคดีอุกอาจ อุ้มพี่ชายของผู้พิพากษาที่หน้าศาลเลยด้วยซ้ำ ไปฆ่านั่งยาง และยังนำชิ้นส่วนของศพไปทิ้งในหลายจุด

"คดีที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบใช้ทรัพยากรและบุคคลกรจำนวนมาก กว่าจะสืบคดีและหาพยานหลักฐานเอาผิด ผู้ต้องหาได้ ตำรวจกองปราบฯ และ อัยการฯ ได้ทำหน้าที่ที่ดี ผู้พิพากษาทุกศาลฯ ก็ได้ตัดสินในทิศทางเดียวกัน จึงอยากให้ กรมราชทัณฑ์ยึดถือ คำพิพากษาของศาลฎีกาจนถึงที่สุด คือ ประหารตามคำพิพากษา"

อย่างไรก็ตาม แม้การขอพระราชทานอภัยโทษจะเป็นสิทธิตามกฎหมายของนักโทษ และไม่มีใครจะสามารถก้าวล่วงได้ แต่การที่นักโทษจะได้รับการอภัยโทษหรือไม่ ต้องมาจากต้นทาง คือ กรมราชทัณฑ์ ซึ่งควรต้องมีการจัดลำดับชั้นนักโทษว่า อยู่ในชั้นไหน จึงสมควรจะได้รับสิทธิฯ จึงต้องมายื่นเอกสารชี้เพื่อยืนยันให้กรมราชทัณฑ์ทราบว่า นักโทษรายนี้ เคยก่อเหตุทั้งหมดกี่คดี และสมควรที่ทางเรือนจำฯ จะทำหนังสือเสนอไปหรือไม่

วันเพ็ญ ย้อนในช่วงที่ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฆาตกรรมเสี่ยจืด "ชูวงษ์" ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ว่า ตอนที่ไปฟังคำตัดสินคดี นักโทษก็เดาทิศทางการต่อสู้ได้ สุดท้าย เมื่อศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ ก็เห็นผู้ต้องหาก็นั่งฟังคำตัดสินแบบชิล ๆ ไม่สะทกสะท้าน ... จริง ๆ เรารอคำพิพากษาของศาลฎีกามา 9 ปี ตัดสินประหารชีวิตผู้ต้องหา แต่วันนี้ ยังต้องมารอลุ้นอีกว่า กรมราชทัณฑ์ จะตัดสินประหารชีวิตหรือไม่อย่างไร

เรื่องการถูกข่มขู่ยังตอบไม่ได้ขนาดนั้น แต่ความหวาดระแวง ยังคงมีอยู่ ... อยากให้ทำตามคำพิพากษาศาลฎีกามากกว่า คือ ประหารชีวิต ตามกฎหมาย เราต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมมาตลอด และยื่นไปตามสิทธิที่ยื่นได้ คดีเมื่อเกิดขึ้นกับทุกครอบครัว อย่างไร ผู้เสียหายก็ได้รับผลกระทบ เพราะเสียคนที่รักและเสาหลักของครอบครัวไป ก็ได้รับความทุกข์ ทรมานอยู่แล้ว

พี่สาวของเสี่ยจืด "ชูวงษ์" บอกว่า การอภัยโทษเป็นสิ่งที่ดี ทำให้คนที่เคยทำผิด สามารถกลับใจกลับตัวเป็นคดีได้ แต่ต้องยกเว้นนักโทษที่โหดร้ายทารุณ กระทำการแบบวางแผนแยบยล ซ่อนเร้น อำพรางศพ แล้วไม่ได้ครั้งเดียว แต่ทำ 2 คดีติดกัน มีโทษประหารซ้ำซ้อน จึงอยากถามกลับว่า นักโทษแบบนี้จะเยียวยาได้หรือไม่

ในขณะที่ สมภพ สังคุตแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ได้รับคำพิพากษาจากศาล ว่า คดีนี้ประหารชีวิต ซึ่งตามขั้นตอนในการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ จะให้ผู้ต้องขังได้ยื่นถวายฎีกา ซึ่งถือเป็นขั้นตอนในการปฏิบัติ ตามสิทธิของผู้ต้องขังภายใน 60 วัน ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์จะรวบรวมเอกสารทั้งหมด ส่งไปตามความต้องการของผู้ต้องขัง ถึงผู้ต้องขังจะเป็นนักโทษเด็ดขาดคดีร้ายแรง ทางกรมราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิคัดค้าน

นายสมภพ สังคุตแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

นายสมภพ สังคุตแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

นายสมภพ สังคุตแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

"...คำถวายฎีกาออกมาเป็นอย่างไรต้องปฏิบัติตาม ทางกรมราชทัณฑ์เป็นฝ่ายควบคุมตัว ไม่มีอำนาจในการตัดสิน และต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่ตามกฎหมายเราก็ต้องให้โอกาสกับผู้ต้องขัง เพื่อที่จะทูลเกล้าถวายฎีกาภายใน 60 วัน และคำถวายฎีกาผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ต้องทำตามกฎหมาย"

สำหรับนักโทษเด็ดขาดที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต ปัจจุบันมีประมาณ 300 คน และตามกรอบของกฎหมาย โดยนักโทษทุกคนมีสิทธิที่จะยื่นทูลเกล้าถวายฎีกา

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่านายบรรยิน ยื่นเรื่องอภัยโทษจากเรือนจำบางขวาง ส่วนกรณีพี่สาวนายชูวงษ์ จะยื่นเรื่องบังคับขอให้ประหารชีวิตนั้นไม่มีผลต่อการยื่นอภัยโทษ เพราะตามขั้นตอนกฎหมายการยื่นถวายฎีกา กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจใด ๆ ถือเป็นพระราชอำนาจ และ ผู้ต้องขังแต่ละคนจะสามารถยื่นถวายฎีกาได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น และไม่มีสิทธิยื่นซ้ำ

" ... ที่ผ่านมา มิก หลงจิ นักโทษคดีร้ายแรง ก่อเหตุในพื้นที่ จ.ตรัง ก็เคยยื่นถวายฎีกา แต่สุดท้าย ก็ไม่ได้อภัยโทษ และถูกประหารชีวิตไป เมื่อปี 2561 อย่างไรก็ตาม การขออภัยโทษถือเป็นกระบวนการปกติของกฎหมาย" รองอธิบดีราชทัณฑ์ ทิ้งท้าย

อ่านข่าวอื่น :

บรรลุดีลลับ! รัสเซีย-สหรัฐฯ แลกเปลี่ยนนักโทษครั้งใหญ่สุดหลังสงครามเย็น

"ปลาหมอคางดำ" สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ตำบลเดียวกว่า 100 ล้าน/ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง