กลายประเด็นร้อนที่พูดถึงอย่างกว้างขวางใน "โอลิมปิก ปารีส 2024 หลัง แองเจลา คารินี นักชกหญิงชาวอิตาลี ขอถอนตัวจากการแข่งขันหลังขึ้นชกกับ อิมาน เคลิฟ นักชกจากแอลจีเรีย ที่กำลังถูกพูดถึงเรื่องการตรวจเพศสภาพ ในเวลาเพียง 46 วินาที เรื่องนี้ถูกพูดถึงใน แอปพลิเคชัน X จนเกิดแฮชแท็ก #IStandWithAngelaCarini ขึ้น
คารินี ลงแข่งขันในมวยสากลโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2567 รุ่น 66 กก.หญิง รอบ 16 คนสุดท้าย โดยแองเจลาถูกชกเข้าที่คาง จากนั้นถูกชกเข้าที่ใบหน้าอีกครั้ง ทำให้คารินี บาดเจ็บรุนแรงบริเวณจมูก แองเจลาตัดสินใจเดินเข้ามุม พูดคุยกับโค้ช ก่อนจะส่งสัญญาณบอกกรรมการว่าจะขอยอมแพ้
Imane Khelif จากแอลจีเรีย
คารินีซึ่งเสียใจทรุดตัวลงคุกเข่าบนเวที ร้องไห้และปฏิเสธที่จะจับมือกับเคลิฟ หลังจากกรรมการประกาศว่านักชกชาวแอลจีเรียเป็นผู้ชนะ
Angela Carini จากอิตาลี การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส 2024 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2024
หลังจบการแข่งขัน คารินี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เธอสู้เพื่อประเทศชาติอย่างสมเกียรติเสมอ แต่ครั้งนี้ไม่สามารถสู้ได้อีก เพราะไม่เคยเจอหมัดที่หนักขนาดนี้มาก่อน
ขณะที่ เคลิฟ หยุดพูดหลังการชกกับสำนักข่าวบีบีซี โดยบอกว่า เธอมาที่นี่เพื่อเหรียญทอง และจะสู้กับใครได้ทั้งหมด หลังจากนั้นได้โพสต์ข้อความลงในโซเชี่ยลส่วนตัวว่า "ชัยชนะครั้งแรก" ก่อนจะมีแฟนกีฬาเข้าไปแสดงความคิดเห็นมากมาย
ภาพจาก IG : imane_khelif_10
ขณะที่ เจ.เค.โรว์ลิ่ง นักเขียนนิยายชื่อดัง เจ้าของผลงาน "แฮร์รี่ พอตเตอร์" ก็ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้เช่นกันว่า เป็น "ความเสื่อมเสีย" หลังนักมวยชายเอาชนะนักมวยหญิงในการแข่งขันชกมวยหญิง
"นักมวยสาวคนหนึ่งเพิ่งถูกพรากทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอได้ฝึกฝนมาไปเพราะพวกคุณยอมให้ผู้ชายขึ้นสังเวียนกับเธอ และโอลิมปิกครั้งนี้จะต้องมัวหมองไปตลอดกาลจากความอยุติธรรมอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับคารินี"
เช่นเดียวกับ อีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัทสเปซเอ็กซ์, เทสล่า และอีกมากมาย รีโพสต์ในแอป X แสดงความเห็นด้วยว่า "ผู้ชายไม่ควรอยู่ในกีฬาของผู้หญิง พร้อมแฮชแท็ก #IStandWithAngelaCarini"
ไม่เพียงเท่านี้ยังมีคนดังในหลายแวดวงที่ให้ความคิดเห็นกับประเด็นนี้
ด้าน รีม อัลซาเล็ม ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเรื่องความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง โพสต์ข้อความแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยบอกว่า คารินี ทำถูกต้องที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางร่างกายของเธอก่อน พร้อมบอกว่านักกีฬาหญิงคนอื่น ๆ ไม่ควรเผชิญกับความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจตามเพศของพวกเธอ
ส่วน จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีหญิงของอิตาลี บอกว่า การแข่งขันไฟต์นี้ไม่ยุติธรรม และไม่เห็นด้วยกับไอโอซี เพราะคิดว่านักกีฬาที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเป็นผู้ชายไม่ควรได้แข่งขันในกีฬาประเภทหญิง ทางฝั่งคณะกรรมการโอลิมปิกแอลจีเรีย ยืนยันว่าชาวแอลจีเรียทั้งประเทศขอยืนเคียงข้างเป็นกำลังใจให้เคลิฟ
อ่านข่าว : โปรแกรมแข่งขันโอลิมปิก 2024 นักกีฬาไทย วันที่ 2 ส.ค.67
ไอโอซี ถูกวิจารณ์การตรวจเพศนักมวยหญิง
ก่อนหน้านี้มีประเด็นพูดถึงอย่างกว้างขวางในโอลิมปิก 2024 นั้นคือ การที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ไฟเขียวให้นักชกหญิง 2 คน ได้แก่ อิมาน เคลิฟ นักชกจากแอลจีเรีย วัย 25 ที่ถูกตัดสิทธิในการแข่งขันที่นิวเดลี อินเดีย เข้าร่วมการแข่งขันในรายการมวยสากลสมัครเล่นหญิงในปารีสเกมส์ได้
และ หลิน ยู่ติง นักชกจากไต้หวัน วัย 28 ปี ที่ถูกริบเหรียญทองแดงในการแข่งขันชิงแชมป์โลก เมื่อเดือน มี.ค.2023 สาเหตุที่ทั้ง 2 คน เคยถูกตัดสิทธิจากการแข่งขันชิงแชมป์โลกในปี 2023 โดยสมาคมมวยสากลนานาชาติ (ไอบีเอ) เนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศชาย หรือ เทสโทสเตอโรน ของทั้งคู่สูงเกินเกณฑ์ ซึ่งเคลิฟ เคยเจอ จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง รอบรองชนะเลิศในการแข่งขันที่อินเดีย และมีผลให้จันทร์แจ่มได้เข้าชิงชนะเลิศก่อนจะได้เหรียญ
อ่านข่าว : "ไอโอซี" ไฟเขียว 2 นักมวยไม่ผ่านการตรวจเพศแข่งโอลิมปิก 2024
ไอโอซี ให้เหตุผลว่า หลิน ยู่ติง และ อิมาน เคลิฟ เป็นผู้หญิงตามที่ระบุในหนังสือเดินทาง และผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดการควบคุมฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ที่กำหนดว่าต้องต่ำกว่าระดับ 10 nmol ต่อลิตร เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน ก่อนการแข่งขัน แต่เกณฑ์ของ ไอบีเอ คือต้องต่ำกว่า 5 nmol ต่อลิตร
เห็นได้ว่าข้อกำหนดของ ไอบีเอ เข้มงวดกว่า ไอโอซี ทำให้หลิน ยู่ติง และ อิมาน เคลิฟ เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกได้
นอกจากนี้ กรณีของ แคสเตอร์ เซมานญ่า นักกรีฑาจากแอฟริกาใต้ก็เคยถกเถียงเรื่องการควบคุมระดับ เทสโทสเตอโรน มาแล้วเช่นกัน เธอถูกสั่งห้ามไม่ให้แข่งขันในรายการวิ่งในระยะ 400 เมตร ถึง 1,500 เมตร จากกรีฑาโลก เนื่องจากระดับเทสโทสเตอโรนของเธอสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เพราะที่กรีฑาโลก กำหนดว่าต้องต่ำกว่าระดับ 5 nmol ต่อลิตร เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนก่อนการแข่งขัน
แต่เซมานญ่าต่อต้านข้อกำหนดนี้และไม่ยอมรับการลดระดับฮอร์โมนโดยใช้ยาหรือการรักษาอื่น ๆ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางร่างกายของเธอ ขณะที่ ไอโอซี และศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา ตัดสินให้กรีฑาโลก คงข้อกำหนดนี้ไว้
ทั้ง 3 กรณีทั้ง หลิน ยู่ติง, อิมาน เคลิฟ และ แคสเตอร์ เซมานญ่า ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการควบคุมระดับเทสโทสเตอโรนในนักกีฬาหญิง การปกป้องสิทธิของนักกีฬาและการรักษาความยุติธรรมในการแข่งขันยังคงเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
อ่านข่าว : "จุฑามาศ-จันทร์แจ่ม" 2 นักชกไทยเข้ารอบ 8 คน โอลิมปิก 2024