ข่าวดี เมื่อองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศให้ "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" จ.อุดรธานี เป็น "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" แห่งใหม่ของประเทศไทย ในชื่อ ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งปีนี้จัดประชุมขึ้นที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรมสีมาหิน สมัยทวารวดี และเป็นการสืบทอดของวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องมากว่า 400 ปี โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสี
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เคยถูกเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2547 ต่อมาถูกถอนรายชื่อ กระทั่งปี 2559 ได้เสนอเพื่อให้มีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนอีกครั้ง และในที่สุด ปี 2567 ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
การประกาศของยูเนสโกครั้งนี้ ทำให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกลำดับที่ 8 ของประเทศไทย และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้ประกาศไปเมื่อปี 2566 และยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อปี 2535
มรดกโลก คืออะไร
แหล่งมรดกโลก หรือ World Heritage Site เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกจาก ยูเนสโก (UNESCO) เพราะมีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา สถานที่เหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ
อัปเดต 2567 ยูเนสโก ได้รับรองมรดกโลกไทยไปแล้ว 8 แห่ง เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม 5 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ล่าสุดก็คือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นับเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย นั้นเอง
รู้จัก มรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย
มาทำความรู้จัก "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทย แล้วไทยมีมรดกโลกที่ไหนบ้าง ไปติดตามกันเลย
อ่านข่าว : ยูเนสโกประกาศ "ภูพระบาท" เป็นมรดกโลก
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขือน้ำ) ในพื้นที่บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ ทางทิศตะวันตกของ จ.อุดรธานี สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะ เป็นลานหินและเพิงหิน ที่่เกิดจากธารน้ำ แข็งละลายกัดกร่อนบนภููพระบาท ทําให้เกิดเพิงหินรูปร่างต่าง ๆ มีอายุอยู่ในยุคครีเทเชียส อายุประมาณ 135 ปีมาแล้ว ประกอบด้วย หินทรายสีเทาเป็นชั้นหนา เม็ดตะกอนมีขนาดปานกลางถึงหยาบและหินทรายปนกรวดชั้นหนา
จากการสำรวจทางโบราณคดี พบว่าบน "ภูพระบาท"ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 2,500-3,000 ปี จากการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า 54 แห่ง
นอกจากนี้ ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้เป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดพื้นที่ 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524
จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 78 แห่ง มีภารกิจหลักในการดูแลรักษา อนุรักษ์และพัฒนา และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป
การประกาศของยูเนสโก้ครั้งนี้ ก็ทำให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้ประกาศไปเมื่อปีที่แล้ว และยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อปี 2535
ทั้งนี้ กรมศิลปากร จะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทฟรี ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม - 12 สิงหาคมนี้
ข้อมูลอ้างอิง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, กรมศิลปากร, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
"ยูเนสโก" รับรอง "มรดกโลกของไทย" ที่ไหนบ้าง
ปัจจุบัน "ยูเนสโก" ได้รับรองมรดกโลกไทยไปแล้ว 8 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม 5 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ดังนี้
มรดกโลกทางวัฒนธรรม
1. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร)
2. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร
3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
4. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ปี พ.ศ. 2566
5. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ปี พ.ศ. 2567
แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ
1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ปี พ.ศ.2534
2. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ปี พ.ศ.2548
3. กลุ่มป่าแก่งกระจาน ปี พ.ศ.2564
ปัจจุบันไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของไทยที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก คือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช, อนุสรณ์สถานและภูมิทัศน์วัฒนธรรม จ.เชียงใหม่, พระธาตุพนม, ปราสาทพนมรุ้ง, พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต และ ชุมชนที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลา
อ่านข่าว : กฟภ.ยกเลิกติดมิเตอร์เครื่องที่ 2 สำหรับชาร์จรถ EV เริ่ม 1 ก.ย.67