ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการแม่โจ้แนะเร่งกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ก่อนปลาไทยสูญพันธุ์

สิ่งแวดล้อม
26 ก.ค. 67
13:26
2,185
Logo Thai PBS
นักวิชาการแม่โจ้แนะเร่งกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ก่อนปลาไทยสูญพันธุ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการ ม.แม่โจ้ ชี้ต้องกำจัด “ปลาหมอคางดำ” โดยเร็วก่อนทำให้ปลาไทยสูญพันธุ์ พร้อมแนะวิธีเร่งด่วน รวมถึงวิธีใช้ปลานักล่าจัดการตามธรรมชาติ

กรณีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในแหล่งน้ำพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่แถบ จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการและจังหวัดทางภาคใต้ ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำเช่นปลาและกุ้ง ซึ่งหากไม่เร่งควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำ ก็จะสร้างความเสียหายให้ภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ระบบนิเวศและทรัพยากรอย่างมาก

รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ปลาหมอคางดำมีสัญชาตญาณของสัตว์ป่าที่เป็นนักล่า ปรับตัวอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และน้ำเน่าแพร่พันธุ์เร็วมาก เกิดง่ายตายยาก และรุกคืบแย่งชิงพื้นที่ปลาท้องถิ่นด้วยพฤติกรรมการรวมฝูงเมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น

อ่านข่าว : จ่อฟ้องแพ่งค่าเสียหายคดี สวล."ปลาหมอคางดำ"

รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์

รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์

รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์

การรุกรานเริ่มจากการกิน กินทุกอย่าง กินทั้งวัน ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อกินแล้วจะสร้างอาณาจักรปิดกั้นการเข้ามาของปลาชนิดอื่น จนทำให้ปลาอื่นต้องออกไปจากพื้นที่ ซึ่งปลาหมอคางดำจะรุกพื้นที่จนปลาน้ำกร่อยไม่มีที่อยู่และหนีหายไป ส่วนปลาน้ำจืดก็ต้องถอยร่นเข้าไปอีก และจะเพิ่มจำนวนประชากรเป็นทวีคูณ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปจะทำให้ไม่มีทรัพยากรทางน้ำของปลาหลงเหลืออยู่ หรือแม้แต่ปลาไทย ปลาท้องถิ่นก็จะสูญพันธุ์ในที่สุด

ปลาหมอคางดำเป็นปลานักล่าขนาดเล็กและจะรวมกลุ่มกันเพื่อประสิทธิภาพการล่า เปลี่ยนสีสันให้เข้มข้นจนดูน่ากลัว เช่น สีน้ำเงินเข้มข่มขู่ปลาที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อสร้างความน่าเกรงขามและเพิ่มประสิทธิภาพการล่าได้มากขึ้น

ดังนั้น ในระยะเร่งด่วนจึงต้องเร่งกำจัดโดยใช้วิธีใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการหว่านแห อวนรุน ซึ่งมีข้อจำกัดทำได้เฉพาะกลางแม่น้ำ หรือแม้กระทั่งไฟฟ้าช็อต แต่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง โดยต้องเอาออกจากพื้นที่ให้มากที่สุดและนำไปใช้ประโยชน์

ที่สำคัญต้องเพิ่มจำนวนปลานักล่าในธรรมชาติให้มากเพียงพอกับการลงล่าเหยื่อ โดยบริเวณปากแม่น้ำ น้ำกร่อย ให้เพิ่มจำพวกปลากดทะเล ปลาริวกิว ปลาเก๋า ปลากดหัวผาน ปลาดุกทะเล ปลากะพง เป็นต้น ส่วนในแม่น้ำลำคลองที่เป็นน้ำจืด เพิ่มกลุ่มปลาชะโด ปลาช่อน ปลาหมอ เป็นต้น โดยควรเป็นปลาในระยะตัวเต็มวัยที่สามารถหากินเองได้ เพราะปลานักล่าตามธรรมชาติเหล่านี้สามารถหากินไข่ปลา ลูกปลาและกล้าบุกเข้าหากินปลาที่มีพฤติกรรมรวมฝูงอย่างปลาหมอคางดำได้ ช่วยให้ธรรมชาติปรับสมดุลธรรมชาติตามที่ควรจะเป็น

อ่านข่าว : หลักฐานใหม่ DNA "ปลาหมอคางดำ" ระบาดมีแหล่งที่มาร่วมกัน

เมื่อสามารถจัดการปลาหมอคางดำได้หมดแล้ว ก็ยังเหลือจำนวนปลาไทยนักล่าในแหล่งน้ำ หากเป็นปลาใหญ่ก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะรับประทานและนำมาใช้ประโยชน์ ประกอบกับปลาวางไข่เพียงปีละครั้ง ทำให้ประชากรถูกควบคุมโดยอัตโนมัติ เป็นโครงสร้างประชากรของปลาที่เหมาะสมในแต่ละลุ่มน้ำ แต่ละช่วงของแม่น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติควบคุมจนสามารถดูแลกันเองได้ อยู่ในระบบนิเวศที่เหมาะและปลาท้องถิ่นก็จะกลับมา

ส่วนเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหา ช่วงแรกอาจจำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนในการทรีตน้ำเตรียมบ่อ ฆ่าเชื้อ โดยใช้ด่างทับทิม กากชา (ซึ่งจะกำจัดได้เฉพาะปลาตัวโต ส่วนปลาตัวเล็กจะมีความอดทนมากกว่า) คลอรีน ฟอร์มาลีน เพิ่มระบบกรองน้ำด้วยผ้า เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการเล็ดลอดของไข่ปลาหมอคางดำ

รศ.ดร.อภินันท์ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางน้ำกันอย่างจริงจัง มีการทำลายต้นน้ำลำธาร เปลี่ยนทางน้ำ สร้างสิ่งกีดขวาง ทิ้งขยะและพลาสติก ปล่อยน้ำเสียและปล่อยสัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำจนทำให้สูญเสียระบบนิเวศ ส่งผลให้ปลาท้องถิ่นตามธรรมชาติลดจำนวนลง

ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานต้องร่วมมือบริหารจัดการเชิงระบบ สร้างความตระหนักในทรัพยากรและใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

สำหรับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีโครงการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหารและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาระบบนิเวศทางน้ำลุ่มน้ำยม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเรียนรู้ หวงแหน ใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าปลาไทยในท้องถิ่น มีเป้าหมายขยายผลโครงการให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำในประเทศไทย เพราะเมื่อปลาไทยเจ้าถิ่นมีจำนวนมากพอก็เป็นเหมือนด่านหน้าที่จะสกัดกั้นไม่ให้ปลาต่างถิ่นรุกล้ำเข้ามาจนเกิดปัญหาเหมือนปลาหมอคางดำในขณะนี้

อ่านข่าว

"ธรรมนัส" ยังไม่ฟันธงเอาผิดเอกชน ปมปลาหมอคางดำระบาด

"นาก" ไม่ใช่คำตอบปราบ "ปลาหมอคางดำ" ห่วงควบคุมยาก

“ซีพีเอฟ” ไม่มาชี้แจง ! อนุ กมธ.ฯ "ปลาหมอคางดำ" ผู้บริหารระบุติดภารกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง