"ปลาหมอสีคางดำ" แพร่ระบาดในหลายพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นปัญหาระดับชาติที่หลายฝ่ายระดมกำลังและหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่รับซื้อในกิโลกรัมละ 15 บาท ปล่อยปลากระพงไปกินลูกปลาหมอคางดำ
ล่าสุดมีข้อเสนอจากชาวบ้านบางส่วน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ให้ใช้ "นาก" เป็นผู้กำจัด ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ถึงความเป็นไปได้ของการใช้นากล่าปลาเอเลี่ยนสปีชีส์
น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วย หรือคัดค้านแนวคิดนี้ แต่ต้องดูพฤติกรรมของนาก และพิจารณาให้รอบด้านถึงผลกระทบเชิงลบ ไม่ใช่มองแค่เป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินปลา
นากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่ผ่านการฝึกและใช้โซ่คล้องคอไปล่าปลาได้ อีกทั้งการควบคุมพฤติกรรมของสัตว์ป่าทำได้ยาก อาจขยับเข้าไปกินปลาในบ่อเลี้ยงสร้างความเสียหายเพิ่มเติม
ต้องดูรอบด้านทั้งพฤติกรรม ผลกระทบ ประสิทธิภาพในการกินมากน้อยแค่ไหน นากเป็นสัตว์ป่ามีวงรอบและทางเลือกการหากินเอง อย่ามองว่าผู้ล่าต้องกินเหยื่ออย่างเดียว
ส่วนกรณีการนำนากจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ไปปล่อยในแหล่งน้ำลำคลองที่พบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ต้องศึกษาว่าสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ หรือเป็นอันตรายต่อนากเองหรือไม่ เพราะถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่สถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจเป็นเพียงทางเลือก แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง
ฟังดูดีในแง่ให้ธรรมชาติควบคุมกันเอง แต่ปลาหมอคางดำมีเป็นแสนเป็นล้านตัว เหยื่อมากกว่าสัตว์ผู้ล่า คำถามแรกจะเอานากมาจากไหน ถ้าย้ายมาให้ช่วยกินปลาแล้วไปรบกวนประชากรนากเดิมไหม
สอดคล้องกับความเห็นของ น.สพ.เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่มองว่า "นาก" อาจไม่ใช่ทางออก โดยตั้งข้อสังเกตว่า นาก เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำ และไม่มีผลต่อการกำจัดปลาในปริมาณมาก
อีกทั้งในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ มีนากอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งนากเล็กเล็บสั้น และนากใหญ่ขนเรียบ ซึ่งไม่ได้เลือกกินเฉพาะปลาหมอคางดำ แต่กินหมดทั้งปลานิล ปลาซ่อน ปลาดุก
นากฝูงละ 20 ตัว แต่ 1 ตัวกินเหยื่อได้วันละ 10% ของน้ำหนักตัว ซึ่งนากเล็กเล็บสั้นน้ำหนัก 2 กิโลกรัม กินเหยื่อวันละ 200-400 กรัม เท่ากับกินปลาแค่วันละ 1 ตัว
น.สพ.เกษตร อธิบายพฤติกรรมของนาก ว่า กินเฉพาะเมื่อหิว และเน้นปลาตัวใหญ่เป็นหลัก ไม่มีผลต่อการกำจัดลูกปลา โดยเฉพาะปลาหมอคางดำที่ออกลูกครั้งละ 200-300 ตัว มนุษย์จึงเป็นทางออกดีที่สุดในการแก้ปัญหาด้วยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ จับปลาชนิดนี้
การแก้ปัญหาด้วยการใช้สัตว์กำจัดกันเองอาจไม่ใช่คำตอบ ยกตัวอย่างในนิวซีแลนด์ ประสบปัญหาหนูที่ติดมากับเรือขนคนอพยพจากทวีปยุโรปเข้าไปทำลายพืชผลการเกษตร สุดท้ายใช้วิธีนำเข้า "แมว" มากำจัดหนู แต่แมวแพร่กระจายพันธุ์ และทำลายสัตว์พื้นเมืองของนิวซีแลนด์สูญพันธุ์หลายชนิด
ให้มนุษย์จับออกจากพื้นที่ นั่นคือทางออก เพราะจับได้ไม่อั้น เมื่อมนุษย์เป็นคนเริ่มก็ต้องเป็นคนแก้
อ่านข่าว : "นาก" ทูตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ เสี่ยงสูญพันธุ์ของโลก
“อุ๋งอุ๋ง” สุดน่ารัก สัตว์คุ้มครองชี้วัดความอุดมสมบูรณ์
เปิดชื่อบอร์ด กยท.ทุ่มงบฯ ซื้อ “ปลาหมอคางดำ” ทำน้ำหมักชีวภาพ