ซากปรักหักพัง จากแรงระเบิดของโรงงานพลุระเบิดกลางตลาดมูโนะ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2566 ถูกปรับสภาพเหลือให้เห็นเพียงลานดินโล่ง ๆ เพื่อเตรียมก่อสร้างบ้านเรือนใหม่ทดแทนของเดิม หลังจาก จ.นราธิวาส ได้สำรวจความเสียหาย และเริ่มให้มีการทำสัญญาเพื่อสร้างบ้านให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย
แม้เหตุโกดังพลุระเบิดกลางตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จะผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว แต่ความเจ็บปวดยังอยู่ในแววตาของนาย จิรายุ ดาโอ๊ะ ที่สูญเสียทั้งพ่อ พี่สาว น้อง และหลานชาย วันนี้ "ครอบครัวดาโอ๊ะ" จึงเหลือเพียงตัวเขาและแม่ ที่ยังต้องอาศัยบ้านเช่า เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป
นายจิรายุ เล่าย้อนกลับไปยังวันเกิดเหตุ ที่เขากำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยใน จ.ยะลา ตลอดเวลาขับรถจักรยานยนต์เพื่อเดินทางกลับมาบ้าน หลังทราบข่าว ก็แทบสิ้นสติ ผ่านมาจนถึงวันนี้ จึงต้องเข้มแข็งเพื่อแม่

"ผมขับรถมอเตอร์ไซค์ กลับมาบ้านแบบไม่มีสติ มาถึงเห็นสภาพบ้านที่พังหมดแล้วก็แทบทรุด ความสูญเสียคนในครอบครัวมันเจ็บปวดเกินจะบรรยาย แต่ก็ต้องพยายามฟื้นตัวให้เร็ว เพราะผมยังมีแม่ จึงได้แค่ปลอบแม่ว่า ผมยังอยู่ข้าง ๆ แม่นะ" นายจิรายุ ถ่ายทอดความรู้สึกโดยมีน้ำตาซึม
จากภาพมุมสูง บริเวณพื้นที่ไข่แดงใกล้โกดังพลุระเบิดวันนี้ ยังคงเห็นเพียงสภาพการถมดินปรับพื้นที่ และยังไม่มีการเริ่มการก่อสร้างบ้าน บ้านบางหลังที่เสียหายซึ่งอยู่รอบบริเวณได้เริ่มซ่อมแซมไปบางส่วน โดยเจ้าของบ้านบางคนต้องควักเงินเก็บมาใช้ร่วมด้วย เพราะจะอาศัยเงินจากรัฐก็อาจไม่เพียงพอ

บ้านของนายวิชิต พึ่งวรวัฒน์ ก็เช่นกัน บ้าน 3 ชั้นหลังใหญ่สีฟ้า ได้ซ่อมแซมไปบางส่วน ในรอบเเรก ได้รับการประเมินต่ำกว่าความเสียหายไปมาก จึงยื่นเรื่องขอให้ประเมินใหม่ เเละได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐประมาณ 4 เเสนบาท เเต่ใช้เงินซ่อมจริงไปเเล้วกว่า 1 ล้านบาท
"ผมขอให้เค้าประเมินใหม่ เพราะรอบแรกมันน้อยมากเลย นี้ผมจ่ายเงินค่าซ่อมไปเองกว่า 1 ล้านแล้ว แต่ก็ยังไม่พอ ถ้าได้เงินช่วยเหลือจากรัฐมาเพิ่มเติม ผมก็จะซ่อมต่อ" นายวิชิต กล่าว

ช่วงเช้าวันนี้ (23 ก.ค.2567) พื้นที่กลางตลาดมูโนะ มีชาวบ้าน ผู้ประสบภัย เเละภาคราชการมาร่วมกันละหมาดฮายัด ก่อนวันครบรอบเหตุการณ์ในวันที่ 29 ก.ค.นี้ โดยได้มีการมอบเงินให้ผู้ประสบภัย เป็นค่าเช่าบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านที่บ้านเสียหายทั้งหลัง ซึ่งยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างบ้านรวม 42 คน จำนวนเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลาต่ออีก 3 เดือน รวม กว่า 360,000 บาท หลังก่อนหน้านี้ได้มอบเงินค่าเช่นบ้าน จนกว่าบ้านหลังใหม่จะสร้างเสร็จ เเละมอบเงินค่าซ่อมเเซมบ้านในระเบียบราชการ ตามความเสียหายจริง จำนวน 48 ราย กว่า 4,500,000 บาท

โดยว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส ยืนยันว่า ราชการพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือ ซึ่งบ้านที่เสียหายทั้งหลัง รวม 76 หลังซึ่งอยู่ระหว่างการทำสัญญาระหว่างผู้รับเหมา และเจ้าของบ้าน ทางจังหวัดได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างเเล้วจำนวน 39 หลัง คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน เเละอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารเพื่อเสนอจังหวัดในการขออนุญาตก่อสร้าง 28 หลัง เเก้ไขเเบบเเปลนบ้าน 6 หลัง เเละอีก 3 หลังอยู่ในขั้นตอนการโอนที่ดิน เนื่องจากไม่มีโฉนด นอกจากนี้ ได้ปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมการช่วยเหลือเจ้าของบ้านเช่า หรือบ้านไม่มีเลขที่ด้วย
"อยากให้เข้าใจทางราชการด้วย เราก็พยายามปรับหลักเกณฑ์หลายครั้งเพื่อให้ช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด หลายคนถามว่า ทำไมไม่ให้เงินชาวบ้านไปสร้างเลย แต่พอให้ไป บางคนไปปรับแบบการสร้างเอง หรือ บางหลังก็อาจสร้างไม่เสร็จ ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ เราจึงหาทางออกให้ชาวบ้านได้ทำสัญญากับผู้รับเหมาเอง จะได้ร่วมตรวจสอบด้วย ... เงินทุกบาท ทุกสตางค์ ไม่ได้หายไปไหน " ผวจ.นราธิวาส ยืนยัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ยอมรับกับชาวบ้านว่า ในส่วนการเยียวยาเรื่องรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่เสียหาย อาจไม่คลอบคลุมการช่วยเหลือ และรัฐจำเป็นต้องนำเงินเท่าที่มีไปสร้างบ้าน หรือซ่อมแซมบ้านก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ก็จะเร่งฟื้นฟูอาชีพ และการค้าในพื้นที่
ทั้งนี้ เหตุโกดังพลุระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน เเละได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้บ้านเสียหาย 649 หลัง ซึ่งได้ก่อสร้างเเละซ่อมเเซมเเล้วเสร็จ 547 หลัง
รายงานโดย: ติชิลา พุทธสาระพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคใต้