จับตา "เลือกตั้งสหรัฐฯ" ไทยเตรียมมือสงครามการค้ารอบใหม่

เศรษฐกิจ
22 ก.ค. 67
14:47
1,299
Logo Thai PBS
จับตา "เลือกตั้งสหรัฐฯ" ไทยเตรียมมือสงครามการค้ารอบใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สนค.ชี้ เลือกตั้งสหรัฐฯ ดันสงครามการค้า จีน-สหรัฐฯปะทุ ไทยเตรียมรับมือนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ แนะผู้ประกอบการปรับตัวหาตลาดใหม่รองรับสินค้าไทยไปตลาดจีน-สหรัฐฯ ลดความเสี่ยงการค้าการลงทุน

วันนี้ (22 ก.ค.2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะบ่งชี้ถึงทิศทางภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้ ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และเทคโนโลยี ในด้านการเมือง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

สหรัฐฯ นับเป็นผู้นำประเทศโลกเสรีที่กุมทิศทางการเมืองโลก และด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มูลค่า 27.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.95 ของ GDP โลก และมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 81,695.2 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากจีนรวมถึงยังเป็นประเทศที่มียอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับ 5 รองจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์

ผอ.สนค. กล่าวอีกว่า การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 7 - 8 ปีผ่านมา ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากการใช้ นโยบายสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน (American First Policy) ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นชาตินิยม การคงไว้ซึ่งการเป็นมหาอำนาจ การปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และการสร้างความมั่นคงของชาติ และการเริ่มทำสงครามการค้ากับจีน ที่ทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกและไทยชะลอตัว/หดตัวอย่างชัดเจน

ที่มา:AP/John Locher

ที่มา:AP/John Locher

ที่มา:AP/John Locher

และในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโจ ไบเดน ที่มีการทำสงครามเทคโนโลยีกับจีน รวมถึงการออกพระราชบัญญัติชิปและวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ และพระราชบัญญัติการลดเงินเฟ้อ เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อและประเด็นภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศตนเอง ย้ายฐานการผลิตเข้าใกล้ตลาด และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศพันธมิตรในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากกระแสการเคลื่อนย้ายทางการค้าและการลงทุนของโลกที่เร่งตัวขึ้น

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ คาดว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคเดโมเครต กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งแม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศว่าเขาจะยุติการเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่สอง แต่ก็พร้อมสนับสนุนนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี เป็นตัวแทนลงชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้

ซึ่ง สนค. ประเมินว่า หากพรรคเดโมเครต ชนะการเลือกตั้ง การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดิม แต่หากทรัมป์ชนะ อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ 2 มิติ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ได้แก่ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะลดการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง

โดยเฉพาะการยกเลิก/ลดการสนับสนุนยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สิ้นสุดในไม่ช้า แต่ในขณะเดียวกัน การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนความมั่นคงในเวทีโลก โดยเฉพาะ NATO อาจทำให้มีความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ปะทุได้ง่ายขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในด้านเศรษฐกิจ การใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ จะเข้มข้นขึ้น รวมถึงสงครามการค้ากับจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

ผอ.สนค.กล่าว่วา การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศร้อยละ 10 และจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนร้อยละ 60 แม้ว่าเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ไบเดนประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเฉพาะสินค้าที่ถูกพิจารณาว่ามีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ เหล็กและอะลูมิเนียม รวมถึงแร่ธาตุสำคัญ

นอกจากนี้ การกลับมาของทรัมป์ที่น่าจะมาพร้อมกับนโยบาย American First อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีความยากลำบากมากขึ้น ด้วยการตั้งกำแพงภาษี สกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่เคยได้รับประโยชน์จากการลงทุนของสหรัฐฯ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เผชิญการถอนการลงทุนออก

โดยเฉพาะบริษัทในสาขาอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญที่ปัจจุบันยังตั้งอยู่ในจีน และบริษัทที่ได้ขยาย/ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาที่ภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ในช่วงก่อนหน้า อาจมีบางส่วนย้ายกลับสหรัฐฯ หรือประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เพื่อลดความเสี่ยงทางการค้า

สำหรับประเทศไทยเอง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในบางสาขาอุตสาหกรรม สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมปรับตัว เช่น การปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยการเปิดตลาดใหม่ การกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก รวมถึงการปรับใช้ e-Commerce ในการส่งออกสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลกโดยตรง

การใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น กรณีมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 จะทำให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้นหรือนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นทดแทนสินค้าจีน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ประเทศที่สาม รวมถึงไทย ในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ

และ ลดความผันผวนทางการค้าและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยเพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ/สินค้านำเข้า ไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายขยายการผลิตในประเทศหรือส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ ผ่านการส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานจะหยุดชะงัก

อ่านข่าว:

ราคา “ทองคำ” ยังพุ่ง หลังตลาดตอบรับเฟดลดดอกเบี้ย

"ไบเดน" ประกาศถอนตัว หนุน "แฮร์ริส" ชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ

ปราศรัยคู่! ทรัมป์-แวนซ์ ขึ้นเวทีถาม "เดโมแครต" ใครตัวแทนพรรค ?

จับตา "ทรัมป์" เตรียมกล่าวสุนทรพจน์ประชุมใหญ่ "รีพับลิกัน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง