วันนี้ (18 ก.ค.2567) นายพิชัย แซ่ซิ้ม นายกสมาคมการประมง จ.สมุทรปราการ นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ปากอ่าวไทย ใน จ.สมุทรปราการ หลังได้รับรายงานว่า มีชาวประมงพื้นบ้าน จับปลาหมอคางดำจำนวนมาก ในเขต 3 ไมล์ทะเล
จากการผ่าท้องปลาหมอคางดำ พบว่า มีเคยจำนวนมากอยู่ในท้องจึงกังวลว่า หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดปัญหาหนักกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ เพราะจะไปทำลายระบบนิเวศและสัตว์น้ำ ในทะเลอ่าวไทย และอาจแพร่พันธุ์ขยายวงกว้างไปสู่ทะเลประเทศเพื่อนบ้านได้
ทั้งนี้เมื่อวานนี้ ประมงจังหวัดสมุทรปราการได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในพื้นที่
นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ ยอมรับว่าปัญหาปลาหมอคางดำใน จ.สมุทรปราการ ขยายพันธุ์อยู่ในขั้นวิกฤต มีประชาชนแจ้งเข้ามาว่า นอกจากพบที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ และ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ แล้ว ยังพบอยู่ในพื้นที่ของ อ.เมืองสมุทรปราการ และที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ เพิ่มอีก ดังนั้นจึงต้องให้ความรู้ข้อมูลที่ถูกต้องกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำ
ส่วนเรื่องราคาที่รับซื้อตอนนี้มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ หลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ภาครัฐช่วยรับซื้อในราคาที่เหมาะสม คือ 15 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้รอคำสั่งอย่างเป็นทางการและพร้อมดำเนินการในทันที
อ่านข่าว : "ณัฐชา" แนะกำหนดไทม์ไลน์ให้ชัดแก้ "ปลาหมอคางดำ" ระบาด
ตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 10 บาท
ขณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชาวประมงจาก อ.ไชยา และ อ.ท่าชนะ นำปลาหมอคางดำขายให้กับเจ้าหน้าที่ ที่จุดรับซื้อในพื้นที่ ต.วัง อ.ท่าชนะ ตามโครงการควบคุมการแพร่ระบาด ของปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปจากพื้นที่
ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่าหลังพบการขยายพันธุ์ใน 2 อำเภอ คือ ท่าชนะ และ ไชยา ทำให้ขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการควบคุมไม่ให้แพร่พันธุ์ ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั้งการจับออกจากธรรมชาติ และวางแผนปล่อยปลานักล่า
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามสถานการณ์ เพื่อประเมินและหาแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในพื้นที่ อย่างเป็นรูปธรรม
"ปลาหมอคางดำ" กระทบธุรกิจปลา
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปลาหมอคางดำกำลังระบาดไปยังแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ค่อสข้างรุนแรง เช่น จ.นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกุ้ง ปลา ซึ่งถ้าปลาปลาหมอคางดำหลุดลอดเข้าไป จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งสร้างมูลค่าเสียหายนับพันล้าน ซึ่งคาดว่าภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี พื้นที่ภาคใต้จะมีการแพร่ระบาดหนาแน่น
ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีการพบปลาหมอคางดำพื้นที่ภาคเหนือ หรือ อีสาน แต่ถ้าหากพบจริงคาดว่าจะมาจากสาเหตุที่มีคนนำพาไป เพราะการเลี้ยงที่สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว
สำหรับปลาหมอคางดำจะชอบอาศัยอยู่ตามป่าชายเลนซึ่งจะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด ณ ขณะนี้ คือ จ.สมุทรสาคร
ทั้งนี้เมื่อวานที่ผ่านมา นายณัฐชา ได้ระบุว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจากหน่วยงาน สวทช. ได้แจ้งกับคณะกรรมาธิการมาว่า หากมีการแจ้งว่า มีการฝังกลบไปแล้ว เมื่อประมาณ 14 - 15 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถขุดดินบริเวณนั้น มาสืบหาข้อมูลทางพันธุกรรมได้ว่า เป็นปลาสายพันธุ์เดียวกัน DNA เดียวกัน พ่อแม่สายพันธุ์เดียวกัน กับที่หลุดรอดอยู่ในปัจจุบันหลายแสนหลายล้านตัวหรือไม่ ดังนั้นข้อมูลตรงนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะหาต้นตอ
อ่านข่าว :
กรมประมง ยันไม่พบข้อมูลส่งตัวอย่างนำเข้า "ปลาหมอคางดำ"
แห่จับปลาหมอคางดำ บึงมักกะสันตลอดคืน - เปิดประตูระบายน้ำแล้ว