ภาพมุมสูงเหนือพื้นที่หมู่ที่ 4 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เห็นได้ชัดถึงคลอง 3 สาย ต.ยี่สาร ตั้งอยู่รายรอบที่ตั้งของศูนย์วิจัย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้าปลาหมอคางดำในช่วงปลายปี 2553
เมื่อตรวจสอบรายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยแห่งชาติ ปี 2561 เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ แจ้งร้องเรียนปัญหาพบ “ปลาหมอคางดำ” ในลำคลองบริเวณเดียวกันกับที่ปรากฏในภาพมุมสูง เช่น คลองดอนจั่น ซึ่งไหลผ่านศูนย์วิจัยใน ต.ยี่สาร รวมไปถึงคลองลำประโดง ยังมีคลองอีก 2 สาย ไหลผ่านศูนย์วิจัยแห่งนี้ คือ คลองหลวง และคลองบางยาว ก่อนไหลลงทะเลอ่าวไทย ที่ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
สำหรับ จ.เพชรบุรี เป็นอีกแห่งแรก ๆ ที่พบการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำในปี 2555 คลองทั้ง 3 สายนี้ ผ่านบ่อกุ้ง บ่อเลี้ยงปลากะพง รวมถึงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ของชาวบ้าน ต.ยี่สาร ซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงแบบระบบเปิด
ย้อนไทม์ไลน์ "ปลาหมอคางดำ"
ไทยพีบีเอส ตรวจสอบพบความพยายามนำเข้าปลาหมอคางดำ เกิดขึ้นครั้งแรกปี 2549 มีคณะกรรมการ IBC ทั้งหมด 21 คน ร่วมพิจารณาอนุญาตให้นำเข้า ภายใต้เงื่อนไขต้องเก็บตัวอย่างครีบ แจ้งผลการวิจัย และต้องทำลายซากหากผลการศึกษาไม่ดี หรือไม่วิจัยต่อ นอกจากนั้นต้องเก็บซากปลาที่นำเข้าทั้งหมดให้กรมประมงตรวจ แต่ปี 2549 ยังไม่มีการนำเข้า
กระทั่งปี 2553 IBC พิจารณาอนุญาตอีกครั้ง ให้นำเข้าปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เมื่อตรวจสอบรายงาน กสม. พบว่า หลังผู้นำเข้าแจ้งว่า ปลาตาย ได้ทำลายซากทิ้งและส่งมอบซากด้วยวิธีการดอง 50 ตัวให้กรมประมง พร้อมแจ้งด้วยวาจา
แต่ข้อมูลอีกด้านที่ไม่ตรงกัน คือ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ไม่เคยได้ซากปลาหมอคางดำ 50 ตัว และไม่เคยได้รับรายงานเป็นเอกสาร หรือเป็นทางการ จากซีพีเอฟ มีเพียงการรายงานด้วยวาจา ซึ่งตรงกับเอกสาร จาก กสม .
ทีมข่าวตรวจสอบเอกสารมาตรการป้องกันควบคุมและกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า ในปี 2552 หรือก่อนการอนุญาตนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” มีปลา 7 ชนิดอยู่ใน “กลุ่มชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว” แต่ไม่ปรากฏชื่อ ปลาหมอคางดำ
จากรายงานเดียวกันในปี 2561 หรือ 8 ปี หลังจาก IBC อนุญาตให้นำเข้า พบว่าปลาหมอคางดำ มีชื่ออยู่ในปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว
ด้านศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปลา บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน หรือซีพีเอฟ ชี้แจงกับทีมข่าวไทยพีบีเอส ว่าทำลายซากปลาทั้งหมดแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 หลังนำเข้ามาเพียง 14 วัน เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จในการวิจัย พร้อมยืนยันทำตามขั้นตอนที่กำหนดตามหนังสือชี้แจงที่ส่งไปยังคณะกรรมธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กมธ. ส่วนปัญหาการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ทางบริษัทพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา
รายงานการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร ปี 2565 ระบุว่า ประชากรปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในพื้นที่ชายฝั่งของไทย 6 จังหวัด มีแหล่งที่มาร่วมกัน
อ่านข่าว : "ซีพีเอฟ" แจงอนุ กมธ.ปมนำเข้า "ปลาหมอคางดำ"
เคาะค่าหัวปลาหมอคางดำโลละ 15 บาท ห้ามเพาะแลกเงินเยียวยา
กรมประมง ยันไม่พบข้อมูลส่งตัวอย่างนำเข้า "ปลาหมอคางดำ"