การสู้รบในเมียนมาทวีความรุนเเรงต่อเนื่อง ทำให้แรงงานทะลักเข้าไทย

ภูมิภาค
13 ก.ค. 67
17:04
378
Logo Thai PBS
การสู้รบในเมียนมาทวีความรุนเเรงต่อเนื่อง ทำให้แรงงานทะลักเข้าไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ที่ทวีความรุนเเรงขึ้นในทุกส่วน ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นโดยหวังว่าจะมีความปลอดภัยเเละมีความมั่นคงในชีวิต

สงครามเมียนมาสะเทือนไทย ส่งผลให้เเรงงานชาวเมียนมาทะลักเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ที่ทวีความรุนเเรงขึ้นในทุกส่วน ตั้งเเต่เกิดการรัฐประหารในปี 2022 ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นโดยหวังว่าการมาทำงานที่ประเทศไทย จะมีความปลอดภัยเเละมีความมั่นคงในชีวิต

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับการไหลทะลักของแรงงานเมียนมา จากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการแรงงานราคาถูกของไทย สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการสู้รบของกองกำลังติดอาวุธในเมียนมา รวมถึงโอกาสในการหางานทำและรายได้ที่ดีกว่าในประเทศไทย

ธนกร สังขรัตน์ ผู้ประกอบการชาวไทยในประเทศเมียนมา

ธนกร สังขรัตน์ ผู้ประกอบการชาวไทยในประเทศเมียนมา

ธนกร สังขรัตน์ ผู้ประกอบการชาวไทยในประเทศเมียนมา

ธนกร สังขรัตน์ ผู้ประกอบการชาวไทยในประเทศเมียนมา ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานชาวเมียนมาที่มีทักษะและความรู้ความสามารถ เข้ามายังประเทศไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อเสาะแสวงหาโอกาสในการเติบโตเเละความมั่นคงทางอาชีพ  ซึ่งนับว่าเป็นผลดีของประเทศไทยที่จะได้ใช้โอกาสในการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนทักษะที่สำคัญกับเพื่อนบ้าน แต่ในทางกลับกัน ภาครัฐก็ต้องมีการบริหาร รวมถึงการจัดการเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติให้มีระบบ เพื่อป้องกันการแย่งงานกับคนไทย

เจาะลึกปัจจัย และสาเหตุที่ทำให้แรงงานเมียนมาเลือกเข้ามาทำงานในไทย มีอะไรบ้าง

1. เศรษฐกิจ การเมือง และสงครามในเมียนมา 

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในเมียนมาทำให้ประชาชนหลายคนต้องหาโอกาสในการทำงานในต่างประเทศเพื่อหาทางออกในการสร้างรายได้และเลี้ยงครอบครัว รวมถึงแสวงหาความปลอดภัยในชีวิต

ในปี 2567 สถานการณ์แรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยยังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะหลังรัฐประหารในเมียนมา มีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก ที่เข้ามาในไทยเพื่อหางานทำและหนีสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศตนเอง ตามรายงานจากกระทรวงแรงงานของไทย ระบุว่า มีแรงงานชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยจำนวนประมาณ 334,000 คน โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 63,000 คนที่เข้ามาหลังรัฐประหารในปี 2567

2. ความต้องการแรงงานของไทย 

อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยบางส่วน ต้องการใช้แรงงานข้ามชาติ มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น เกษตรกรรม, ก่อสร้าง และการผลิต ที่คนไทยไม่นิยมทำ มักจะเป็นที่ต้องการของแรงงานข้ามชาติ ที่มีค่าแรงต่ำ ทำให้แรงงานเมียนมามีโอกาสได้งานทำมากกว่าในประเทศเมียนมา

3. ปัญหาด้านความปลอดภัย และทรัพย์สิน 

ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศเมียนมา มีปัญหาการสู้รบและการต่อสู้ภายในประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง มีสงครามการเมืองอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้ประชาชนในประเทศเมียนมา เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงเลือกที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตามแนวตะเข็บชายแดน

ผลกระทบจากการไหลทะลักของแรงงานเมียนมา

1. ปัญหาทางสังคม 

การเข้ามาของแรงงานจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาทางสังคม เช่น การแข่งขันในตลาดแรงงานที่ทำให้แรงงานไทยบางส่วนต้องเผชิญกับการขาดแคลนงานหรือได้รับค่าจ้างต่ำลง 

2. ปัญหาสุขภาพและความเป็นอยู่ 

แรงงานต่างชาติมักต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากและขาดความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่งปัญหาทางด้านสาธารณสุข เป็นอีกหนึ่งปัญหา ที่ต้องมีการติดตามและจัดการ และดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างใกล้ชิดปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 

3. ปัญหาการควบคุมและดูแลแรงงาน 

การที่แรงงานจำนวนมากเข้ามาในไทยทำให้การควบคุมและดูแลเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งในด้านกฎหมาย การคุ้มครองแรงงาน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การค้ามนุษย์ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ควบคู่กับปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานชาวเมียนมา

ตามข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงแรงงาน แสดงให้เห็นว่า ไทยมีแรงานข้ามชาติที่ ‘ได้รับอนุญาต’ ให้ทำงาน คงเหลือทั่วประเทศอยู่ที่ 3.41 ล้านคน โดยจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นอาเซียนกว่า 3.18 ล้านคน และแรงงานชาวเมียนมามีสัดส่วนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง สูงถึง 2.3 ล้านคน

การไหลทะลักของแรงงานเมียนมาเข้าไทยเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และต้องการการแก้ไขที่ครอบคลุมทุกมิติ การพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เป็นธรรม การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และการพัฒนาในประเทศต้นทาง เป็นแนวทางที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว

รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ติดตามตอนอื่น :
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341037
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341334
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341061
https://www.thaipbs.or.th/news/content/340824
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341289
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341316
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341774
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341777
https://fb.watch/tb2HUjHqfN/
https://fb.watch/tb2x0fv5PX/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง