ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.หาทางสกัด "ปลาหมอคางดำ" จ่อลงทะเบียนเยียวยาเกษตรกร

สังคม
13 ก.ค. 67
10:30
1,126
Logo Thai PBS
กทม.หาทางสกัด "ปลาหมอคางดำ" จ่อลงทะเบียนเยียวยาเกษตรกร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กทม.เตรียมเปิดลงทะเบียนเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก "ปลาหมอคางดำ" พร้อมเร่งหาทางสกัดแพร่ระบาด ด้าน สส.ก้าวไกลจ่อบุกกรมประมง 23 ก.ค.จี้หาสาเหตุปลาหมอคางดำหลุดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

วันนี้ (13 ก.ค.2567) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่สถานีสูบน้ำและประตูเรือสัญจร คลองสนามชัย-บางขุนเทียน ติดตามปัญหาปลาหมอคางดำระบาด ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการแพร่ระบาดในเขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ บางบอน ส่งผลให้เกษตรกรกว่า 900 คน ผู้เลี้ยงกุ้ง-เลี้ยงปลา ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำที่กินไข่ปลาและปลาเล็ก ส่งผลต่อราคาและร้านอาหาร

ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า กทม.จะร่วมมือและหาทางเยียวยาเกษตรกรที่รายได้ลดลง จากนี้จะเปิดลงทะเบียนและหามาตรการสกัดไม่ให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ซึ่งอาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม กทม.จะต้องรับฟังความเห็นจากกรมประมงเป็นหลัก เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขณะนี้พบการแพร่ระบาดใน 3 เขตพื้นที่ของ กทม.และเกรงว่าจะแพร่ระบาดไปยังฝั่งตะวันออกด้วย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ขณะที่นายศรายุทธ์ เมธินาพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมงพื้นที่ กทม. ได้กล่าวถึงมาตรการรับมือ 6 มาตรการ ได้แก่ 1.กำจัดด้วยการจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำให้มากที่สุดเพื่อลดจำนวน 2.การปล่อยพันธุ์ปลาผู้ล่า ปลากินเนื้อหรือพันธุ์ปลากระพง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ 3.การจับมาใช้ประโยชน์แปรรูปเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นปลาแดดเดียวหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ 4.การสำรวจแนวกันชน กำหนดไม่ให้เกิดการระบาดเพิ่ม 5.สร้างการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชน และ 6.ติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด รวมทั้งทำหมันปลาเพื่อลดจำนวน

อ่านข่าว : ไขปริศนา! ทำไมต้องใช้ "ปลากะพงขาว" จัดการ "ปลาหมอคางดำ" 

ด้านนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.ก้าวไกล ในฐานะรองประธานอนุกรรมมาธิการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ในกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ปัญหาปลาหมอคางดำส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่กู้ยืมเงินมาลงทุนเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะถูกปลาหมอคางดำกินสัตว์เลี้ยงทำให้ขาดทุนจนต้องนำโฉนดที่ดินไปจำนอง ซึ่งตนได้รับเรื่องร้องเรียนในประเด็นนี้จึงนำไปสู่การอภิปรายตั้งกระทู้ถามต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมาและรัฐบาลรับเรื่องไปแก้ไขปัญหา ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 16 ก.ค.นี้ พร้อมฝากให้ผู้ว่าฯ กทม.เยียวยาเกษตรกรกว่า 800 คนที่ได้รับผลกระทบ

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.ก้าวไกล

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.ก้าวไกล

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.ก้าวไกล

สส.ก้าวไกล กล่าวอีกว่า วันที่ 23 ก.ค.นี้จะเดินทางไปกรมประมง เพื่อสอบถามถึงสาเหตุและที่มาของการนำปลาหมอคางดำหรือปลาสายพันธุ์อื่นที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์เข้ามาในไทยและหลุดออกมาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เชิญหน่วยงานมาชี้แจงต่อ กมธ.แล้ว 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ พร้อมทั้งสอบถามวิธีการรับมือกับปัญหา เพื่อนำไปสู่การหาผู้รับผิดชอบและร่วมกันแก้ไขโดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันได้ประสาน สวทช.เพื่อศึกษาวิจัยวิธีการตัดต่อพันธุกรรมทำให้ปลาเป็นหมัน ควบคู่ไปกับการดำเนินการของกรมประมง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ยกเป็นวาระแห่งชาติเพราะเกิดปัญหาหนัก

ในคลองสนามชัยเจอปลาหมอคางดำ 2-3 ตัน แต่เจอปลาสายพันธุ์อื่นเพียง 2-3 ตัว ถือว่าวิกฤตหนักเพราะไม่ใช่บ่อธรรมชาติ แต่เป็นคลองหลักที่สำคัญของกรุงเทพฯ และมีอีกหลายที่เป็นแบบนี้

ส่วนนายสุทิน อ่อนฟุ้ง ประธาน ประธานสภาองค์กรชุมชน เขตบางขุนเทียน สะท้อนปัญหาในพื้นที่ ว่า เกษตรกรในพื้นที่บางขุนเทียน แขวงท่าข้ามและแสมดำ ที่เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอยปูปลา ถูกปลาหมอคางดำกินลูกปลา ลูกหอย ซึ่งมาทราบในภายหลังว่าปลาหมอคางดำเป็นนักล่าทำให้ปลาตะเพียน ปลากระดี่ ปลาช่อน สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาจะไม่สามารถลดจำนวนปลาหมอคางดำได้ พร้อมขอให้เยียวยาเกษตรกรในพื้นที่

อ่านข่าว

เปิดรายงานฉบับเต็ม "คณะกรรมการสิทธิฯ" ใครทำ "ปลาหมอคางดำ" ระบาด?

รับซื้อ “ปลาหมอคางดำ” ตัดตอนตัวทำลายระบบนิเวศ จี้รัฐเร่งแก้ปัญหา

รง.ปลาป่นสมุทรสาคร รับซื้อ "ปลาหมอคางดำ" ลดปัญหาล้นตลาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง