ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

8 จังหวัด "ริมแม่น้ำโขง" ยื่นจดหมายถึงนายกฯ ทบทวนซื้อขายไฟฟ้าจากลาว

ภูมิภาค
12 ก.ค. 67
15:29
471
Logo Thai PBS
8 จังหวัด "ริมแม่น้ำโขง" ยื่นจดหมายถึงนายกฯ ทบทวนซื้อขายไฟฟ้าจากลาว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัดส่งจดหมายถึงนายกฯ หวั่นเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงเฉียดเขตแดนทำไทยเสียดินแดน-ทำลายแหล่งทำมาหากินของคนเล็กคนน้อย-เอื้อประโยชน์แค่กลุ่มทุนใหญ่-วอนทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

วันนี้ (12 ก.ค.2567) นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ส่งจดหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน เพื่อขอให้ทบทวนและยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง

ในโอกาสที่นายเศรษฐา และคณะจะเดินทางมาลงพื้นที่ จ.เชียงราย โดยในวันที่ 13 ก.ค.นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมายังริมแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน เพื่อรับฟังสถานการณ์เกี่ยวกับแม่น้ำโขง และศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบชลประทานเพื่อการอุปโภคบริโภคและพบปะประชาชนใน อ.เชียงแสน

นิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย8จังหวัดลุ่มน้ำโขง

นิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย8จังหวัดลุ่มน้ำโขง

นิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย8จังหวัดลุ่มน้ำโขง

เนื้อหาในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีระบุว่า ในการประชุมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่นครหลวงเวียงจันทน์ มีการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการเขื่อนปากแบง (Pak Beng HPP) เป็นเขื่อนที่จะก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขง ที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ประเทศลาว ห่างจากชายแดนไทย-ลาว ที่ อ.เวียงแก่น 70-92 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตติดตั้ง 920 เมกะวัตต์ มีเป้าหมายขายไฟฟ้า 95 % ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และจะต้องนำส่ง กฟผ. แล้วจึงดำเนินการเกี่ยวกับสินเชื่อจากสถาบันการเงินของไทย

ในจดหมายระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง มาตรา 5 ปี 2538 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2559-19 มิ.ย.2560 โดยกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย

ในขณะนั้นมีการจัดเวทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงแก่ประชาชนจำนวน 4 ครั้ง โดยประชาชนที่ได้เข้าร่วมเวทีมีคำถามและข้อกังวลจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนปากแบงอย่างยิ่งในประเด็นดังนี้

1.ผลกระทบจากภาวะ “น้ำเท้อ” จากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ในเขตชายแดนไทยในเขต อ.เวียงแก่น, อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน ซึ่งมีชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง และบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสาขาน้ำโขง เช่น น้ำอิง น้ำงาว เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรจำนวนมาก

2.ผลกระทบสะสมจากเขื่อนจิงหง ที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ทางตอนบน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชนไทยที่อยู่ท้ายน้ำในเขตจ.เชียงราย มากว่า 20 ปี โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ

3.ผลกระทบต่อการอพยพของปลาและการประมงของชุมชนริมแม่น้ำโขง 4. ผลกระทบต่อการเก็บ ไก-สาหร่ายแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูแล้งที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจท้องถิ่นสำคัญของคนทั้ง 3 อำเภอ ที่สร้างรายได้คนละร่วมแสนบาท

5.ผลกระทบต่อเส้นเขตแดนชายแดนไทย-ลาว ที่มีเกาะแก่งเป็นจำนวนมาก อาจจะเสียดินแดนทางอธิปไตยจากกรณีภาวะน้ำเท้อตลอดทั้งปี

จดหมายระบุด้วยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งความคิดเห็นต่อหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงความไม่จำเป็นและความบกพร่องของเขื่อนปากแบงในประเด็นต่าง ๆ

สรุปได้ดังนี้ 1.ความไม่สมบูรณ์ของเอกสารรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งหมดของโครการเขื่อนปากแบง มีการใช้ข้อมูลเก่า ไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลกระทบทำให้เกิดการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและมาตรการที่จะป้องกัน ติดตามและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และไม่มีมาตรฐาน

2.ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอติดแม่น้ำโขง ใน จ.เชียงราย ไม่เคยได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะน้ำเท้อจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ว่าน้ำจะท่วมเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนตนอย่างไร มีระดับสูงขนาดไหนและจะเสียหายอย่างไร ระยะเวลาเท่าใด

ซึ่งหากเกิดผลกระทบจากน้ำเท้อดังกล่าว จะทำให้แม่น้ำโขงมีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ และจะมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ประชาชนไทยที่อาศัยการไหลของน้ำในการประมง จะไม่สามารถทำมาหากินทั้งการจับปลา การเก็บไก และยังมีความเสี่ยงของน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ในที่ราบลุ่มน้ำงาว และน้ำอิง

ซึ่งเป็นที่ทำกินของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ปลูกส้มโอและข้าว พืชเศรษฐกิจของชุมชนอำเภอเวียงแก่นและเชียงของ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้พัฒนาโครงการยังไม่สามารถชี้แจงข้อมูลผลกระทบที่แท้จริง มาตราการ และกลไกที่ใช้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนดังกล่าวได้

อ่านข่าว : เกษตรฯ ประกาศรับรอง "เทคโนโลยีจีโนม" เดินหน้าปรับปรุงพันธุ์พืช-สัตว์

เปิดรายงานฉบับเต็ม "คณะกรรมการสิทธิฯ" ใครทำ "ปลาหมอคางดำ" ระบาด?

ค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.67 จ่อปรับขึ้นแตะ 4.65 - 6.01 บาทต่อหน่วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง