วันนี้ (12 ก.ค.2567) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เคาะ 3 ทางเลือกปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดปลายปี หลังจากมีการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา พิจารณาอัตราค่า Ft งวดปลายปี (ก.ย.-ธ.ค.2567) พบว่า ต้นทุนค่าไฟจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณหน่วยละ 46-182 สตางค์ต่อหน่วย
สาเหตุมากจากหลายปัจจัย เช่น กกพ.ต้องทยอยคืนชำระหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (98,000 ล้านบาท), เงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องกระทบราคาซื้อก๊าซธรรมชาติ และแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นจากความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้หากนำต้นทุนและการคืนภาระหนี้ให้กับ กฟผ.มาคำนวณและรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟงวดปลายปีเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 - 6.01 บาทต่อหน่วย จากค่าไฟงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. แถลงยื่นข้อเสนอ 3 ทางเลือก เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดปลายปี ประกอบด้วย การขึ้นค่าไฟฟ้าไม่มากและทยอยคืนหนี้ กฟผ.เพียงเล็กน้อย ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย, ขึ้นค่าไฟฟ้าพร้อมกับคืนหนี้ กฟผ.บางส่วน ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย และขึ้นค่าไฟฟ้าสูงสุดตามต้นทุนที่แท้จริง เพื่อคืนหนี้ให้ กฟผ.เต็มวงเงิน ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย
ซึ่งหลังจากนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อนประกาศผลการพิจารณาในช่วงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ เพื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ต้องประกาศค่าไฟรอบใหม่ล่วงหน้า 1 เดือน
ขณะที่ รศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองเรื่องการพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟรอบใหม่ ว่า ขณะนี้ประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่าย หากค่าไฟ ค่าพลังงาน ราคาสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย มีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทำให้ฟื้นตัวช้า
ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เข้าใจได้ว่าค่าไฟเพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัย แต่ภาคเอกชนมองว่าในครึ่งปีหลังปริมาณการใช้จริงไม่น่าจะสูงขึ้นมาก เนื่องจากปัญหาสงครามความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่รุนแรงตามที่คาดจนส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานสูงขึ้น จึงไม่ควรไปตั้งราคาไว้สูงขนาดนั้น ทั้งนี้หากมีการปรับขึ้นค่าไฟจริงจะยิ่งซ้ำเติมต้นทุน รวมไปถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันย่ำแย่อยู่แล้ว และจะทำให้นักลงทุนหนี้ไปประเทศอื่นแทน
อย่างไรก็ตามต้องจับตาอีก 1 แนวทาง คือการตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ที่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วยเช่นเดิม ซึ่งขึ้นกับอยู่กับ รมว.พลังงาน จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางและอาจนำเข้า ครม.เพื่อของบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุน
อ่านข่าว
สหภาพฯ ขสมก.ยื่นหนังสือค้านปฏิรูปเส้นทางเดินรถ
แจ้งความ "รอง ผกก.-ภรรยา" อ้างปล่อยเงินกู้-คิดดอกเบี้ยเกินกำหนด