ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเกมงัดข้อ เอา(ฐานเสียง)คืน ? ส่ง "กัญชา" กลับบัญชียาเสพติด

การเมือง
9 ก.ค. 67
17:50
2,221
Logo Thai PBS
เปิดเกมงัดข้อ เอา(ฐานเสียง)คืน ? ส่ง "กัญชา" กลับบัญชียาเสพติด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

มองข้ามไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวประเด็นการเมือง เมื่อรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้คืนสถานะให้ "กัญชา" กลับเป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกครั้ง โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2568 หลังจากเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้การผลักดันของพรรคภูมิใจไทย ประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด โดยให้เหตุผล ว่าเพื่อสุขภาพของประชาชน และประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย

ในขณะที่นโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ที่เคยหาเสียงไว้ก่อนจะมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2562-2566 ว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายกัญชาเสรี หรือการนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และจะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดให้ได้ ท่ามกลางสภาวะขาลงของพรรคเพื่อไทย เพียง 2 ปีให้หลัง ความพยายามในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดก็ประสบความสำเร็จ

เสมือนไม่ใช่เกม งัดข้อเอาคืน พรรคภูมิใจไทย ในฐานพรรคร่วมรัฐบาล แต่เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ได้ผ่านพิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อ ยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 กำหนดให้กัญชา-กัญชง เป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายยาเสพติด โดยที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นตรงกัน ว่า "กัญชา" มีประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย

แต่ไม่เห็นด้วยในการใช้สันทนาการ ขณะที่ความเห็นส่วนน้อยกังวลว่าการควบคุมที่เข้มข้นเกินไปอาจทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยร่างประกาศดังกล่าวเป็นการเพิ่มกัญชา กัญชง ในส่วนช่อดอกและสารสกัดที่มีค่า THC มากกว่าร้อยละ 0.2 ให้เป็นยาเสพติด ยกเว้น กิ่ง ก้าน ราก ใบ เมล็ด

นอกจากนี้ยังเร่งให้ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้กัญชา วัตถุประสงค์ทางด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น

ขณะที่ฟากฝั่งพรรคภูมิใจไทย "อนุทิน" รมว.มหาดไทย ในฐานะอดีตรมว.สาธารณสุข ยืนยันว่า หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็จะโหวตโน แน่นอน

"...ในอนาคตปรับคณะรัฐมนตรี แล้วพรรคภูมิใจไทย ได้กลับไปเป็นรมว.สาธารณสุขอีกครั้ง เกิดวันนั้น จะดึงกัญชาออกจากยาเสพติดอีก ก็ต้องไปทำกันใหม่หมด แบบนี้จะสร้างความเชื่อมั่นกับคนที่มาลงทุนเกี่ยวกับกัญชาอย่างไร มันชักเข้าชักออก เรื่องนี้มันกระทบทั้งประเทศ"หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าว

และย้ำว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้ต่อสู้กับใคร เพราะโหวตไปก็แพ้ แต่ก็จะโหวต หากจะตัดสินกันด้วยมติ กระทรวงมหาดไทยมีแค่ 4 เสียง ไม่ทราบว่าปลัดกระทรวงมหาดไทย จะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะไม่สามารถบังคับใครได้ และไม่คิดที่จะไปสั่งใคร ทุกคนต้องใช้ดุลยพินิจของตนเอง

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสายเขียว คงมีเพียงกลุ่มของ "ประสิทธิชัย หนูนวล" เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ที่เสนอให้มีคณะกรรมการร่วมเพื่อพิสูจน์ใน 4 ประเด็น คือ ผลต่อร่างกายของกัญชาร้ายกว่าแอลกอฮอล์และบุหรี่หรือไม่, ผลต่อสังคมร้ายแรงกว่าแอลกอฮอล์และบุหรี่หรือไม่, กัญชารักษาสุขภาพและโรคได้ดีกว่าบุหรี่หรือแอลกอฮอล์หรือไม่ และ กัญชาส่งผลกระทบต่อสมองเยาวชน ทำให้เกิดโรคจิตเวชจริงหรือไม่

และยังมีการตั้งเวทีปราศรัยย่อย ๆ ขู่ยกระดับการชุมนุม โดยมีการเปิดข้อมูลว่า มีกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์จากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และมีข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า ไม่ว่ากัญชาจะกลับไปเป็นยาเสพติดอีกหริอไม่ก็ตาม จะสามารถปลูกได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะคู่แข่งทางการค้าจะหายไป

"กัญชาไม่ได้ร้ายแรงกว่าบุหรี่และแอลกอฮอล์ ไม่เป็นสาเหตุของโรคจิตเวช หรือทำลายสมองเด็ก ก็ให้ควบคุมโดยใช้ พ.ร.บ.กัญชา แต่ถ้าหากพบว่าร้ายแรงกว่า ก็ให้นำไปควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติดตามเดิม หรือจะควบคุมโดยกฎหมายใด " ตัวแทนเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ระบุ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์ ของการปลดล็อกกัญชา เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพ และอานิสงส์ดังกล่าว ทำให้ประชาชนทั่วไป สามารถปลูกกัญชา ซื้อ -ขาย นำไปผสมในอาหาร และใช้เพื่อนันทนาการในพื้นที่ส่วนตัวได้ แต่ข้อเท็จจริงพบว่า กัญชาจะถูกนำไปใช้ใน 3 รูปแบบ คือ เพื่อการแพทย์ และแพทย์ทางเลือก รวมทั้งสันทนาการ โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่าตัว ส่วนการใช้เพื่อสุขภาพและทางการแพทย์ กลับรองลงมา

ข้อมูลจากทีดีอาร์ไอ โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทำการศึกษาในโครงการ "การประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจากกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง"  พบว่า การใช้กัญชาส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงกับสังคมมากที่สุด รองลงมาคือสุขภาพของผู้ใช้ เห็นได้จากในปี พ.ศ. 2565 (ปีที่ปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5) และปี พ.ศ. 2563 (หลังการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้) มีจำนวนผู้ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นมาก

ผลการสำรวจประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,017 คน พบว่า มีประมาณ 1 ใน 4 เคยได้รับผลกระทบจากผู้ใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสม ขณะที่ผู้ที่ใช้กัญชาโดยตรงได้รับผลกระทบในหลายมิติ เช่น ปัญหาทางด้านการเงิน ความสามารถในการควบคุมสติและการตัดสินใจลดลง ความสามารถในการขับขี่ลดลง และอาจนำไปสู่การ ทดลองใช้สารเสพติดชนิดอื่นซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ตามมา นอกจากนี้ กลุ่มที่มีการใช้กัญชามากหรือความถี่สูง มีแนวโน้มว่าจะอายุน้อยลง หรือเป็นผู้ใช้หน้าใหม่มากกว่าร้อยละ 10

ทีมวิจัยด้านเศรษฐกิจของดีทีอาร์ไอ ประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจทางตรงในส่วนของผลิตภัณฑ์จากธุรกิจที่จดทะเบียนพบว่า ธุรกิจที่จดทะเบียนมีรายได้รวมจากกัญชา 39 ล้านบาท ขาดทุนรวม 194 ล้านบาท ธุรกิจที่สามารถทำกำไรมีเพียงร้อยละ 25 และทำกำไรได้ เฉลี่ยร้อยละ 37.6 แม้ผลิตภัณฑ์สินค้าจากกัญชาจะเป็นที่กล่าวถึง ในตลาดสินค้าผู้บริโภค แต่เมื่อเวลาผ่านไป กระแสความนิยมในผลิต ภัณฑ์สินค้าจากกัญชาเริ่มลดลง

หากประมาณการ มูลค่าเศรษฐกิจ จากจำนวนผู้ลงทะเบียนปลูกในแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" พบว่า หากมีการนำกัญชาที่ลงทะเบียนปลูกเข้ามาขายในระบบตลาดเพียงร้อยละ 10 ตลาดกัญชาในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท นอกจาก มูลค่าที่เกิดจากกัญชาโดยตรงแล้ว ร้านค้าจำหน่ายกัญชา ได้นำเอาอุปกรณ์ประกอบมาจำหน่ายร่วมด้วย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกประมาณ 500 ล้านบาท แต่พบว่าอุปกรณ์เหล่านั้นส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนที่ผลิตในไทยมีเพียงส่วนน้อย ซึ่งไม่ได้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร

ส่วนประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจทางอ้อม การปลูกกัญชาตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยตามจำนวนที่ลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" จะช่วยสร้างเศรษฐกิจต้นน้ำหมุนเวียนต่อไปยังเศรษฐกิจสาขาอื่น ๆ ได้อีกเป็นมูลค่า 10,000 ล้านบาท และจะช่วยสร้างการจ้างงานในสาขาการผลิตต่าง ๆ ได้ 8,349 คน และสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสาขาการผลิตต่าง ๆ ที่ได้รับการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ได้รวม 303 ล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลผลการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายตามประกาศสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) 2565 ระบุว่า ภาพรวมของประเทศมีการออกใบอนุญาต จำหน่าย หรือแปรรูป ส่งออก และศึกษาวิจัย จำนวน 14,518 ฉบับ แบ่งเป็น จำหน่าย 13,970 ฉบับ ส่งออก 515 ฉบับ ศึกษาวิจัย 33 ฉบับ ในพื้นที่กรุงเทพฯ 2,924 ฉบับ เป็นแปรรูปและจำหน่าย 2,724 ฉบับ ส่งออก 190 ฉบับ และศึกษาวิจัย 10 ฉบับ

ใน 76 จังหวัด จำนวน 11,594 ฉบับ ใบอนุญาตจำหน่ายและแปรรูป 11,246 ฉบับ ส่งออก 325 ฉบับและขอใบอนุญาต วิจัยจำนวน 23 ฉบับ โดยมีการดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต 71 ราย มีโทษจำคุก 35 ราย ปรับและริบของกลาง 33 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 3 ราย

หากนำข้อมูลมาเปรียบเทียบตัวเลขจะพบว่า การขอใบอนุญาตใช้สมุนไพรควบคุม (กัญชา) เพื่อศึกษาวิจัยและส่งออก มีปริมาณน้อยมาก ขณะที่จำหน่ายและแปรรูป มีปริมาณที่สูงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการ

การนำกัญชากลับคืนสู่บัญชียาเสพติดประเภท 5 ย่อมมีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ หากวิเคราะห์พบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 3 ประเภท คือ กลุ่มที่ทำฟาร์มธุรกิจปลูกกัญชา ซึ่งได้รับความเสียหายแน่นอน แต่เชื่อว่า ผู้ประกอบการสามารถปรับหรือแปรสภาพธุรกิจไปทำอย่างอื่นได้ เนื่องจากกัญชาเป็นพืชยืนต้น มีอายุเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเพาะปลูกใหม่ก็ได้

ประเภทที่ 2 เป็นกลุ่มที่เปิดหน้าร้านขายเพื่อการสันทนาการ จากการสำรวจข้อมูลเชิงลึก เจ้าหน้าที่พบว่า กัญชาส่วนใหญ่ที่นำมาจำหน่ายให้ลูกค้า ไม่ใช่กัญชาที่ปลูกภายในประเทศ แต่ถูกลักลอบนำเข้ามา มีต้นทางจาก ลาว ยุโรป อเมริกา หรือ เนเธอร์แลนด์ ดูลักษณะทางภายภาพจะชัดเจน คือ มีช่อดอก เป็นก้อนสวยงาม และจัดเก็บอย่างดี ต่างจากกัญชาของไทย มักเป็นกัญชาแท่ง ผู้ขายจะนำมาฉีก ใส่ถุงพลาสติกแบบซิปล็อกเพื่อแบ่งขาย

และประเภทสุดท้าย คือ เป็นกัญชาระดับล่าง ที่มีการนำมาขายบริเวณริมถนน กลุ่มนี้จะขายกัญชาที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นเครือข่ายกัญชาใต้ดิน อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่พบในปัจจุบัน กัญชาที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในไทยขณะนี้ เป็นกัญชา มาจากนอกประเทศเกือบทั้งหมด

มีข้อมูลระบุว่า ยุคที่กัญชายังเป็นสิ่งเสพติดผิดกฎหมาย ในแต่ละปีสามารถจับได้ถึงปีละ 30-40 ตัน แต่หลังจากทำกัญชาถูกกฎหมาย ปริมาณการลักลอบนำเข้า ก็ไม่ได้ลดจำนวนลง และเชื่อว่าอาจมีปริมาณเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

ท่ามกลางข้อกังวลได้-ไม่คุ้มเสียจากนโยบายกัญชา แง่มุมหนึ่งทางการเมือง อาจมองได้ว่า พรรคเพื่อไทยต้องการปลดล็อกตัวเอง จากประเด็นเศรษฐกิจที่ยังแก้ไม่ตก กอปรกับ เสียงเรียกร้อง จากชาวบ้านในต่างจังหวัดที่มีคนในครอบครัว ได้รับผลกระทบ จากการใช้ยาเสพติดแบบลูกผสม จาก ยาบ้า กัญชา และกระท่อม หากไม่เร่งแก้ไข ก็จะส่งผลกระทบต่อฐานเสียงของพรรคฯ ในภายหลัง ขณะที่นโยบายกัญชา เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่ายที่สุด

เมื่อต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่วันที่ 1 ม.ค.2568 คืนสถานะให้ กัญชา กลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดเหมือนเดิมแล้ว คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติ (บอร์ด ปปส.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จะพิจารณาอัตราโทษของผู้เสพและผู้ค้าฯ อย่างไร ใช้ฐานความผิดกฎหมายเดิม หรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์

อ่านข่าวอื่น :

ราคาทองคำ ร่วงทั้งวัน ปิดตลาดลบ 150 บาท นักลงทุนแห่เทขายทำกำไร

ครม.ไฟเขียว ทหารยศสูงเออร์ลี่ ตอบแทน 7-10 เท่าของเงินเดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง