จากการนำเสนอข่าว เปิดให้ผู้เสียหาย "คอลเซนเตอร์" ลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิรับเงินคืน ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์จาก ปปง. เพื่อแจ้งความคืบหน้าให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากแก๊งคอลเซนเตอร์
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2567 อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังเจ้าของบัญชีติ๊กต็อกชื่อ "ตุ๊ดย่อยข่าว" หรือ เบนซ์ ได้ทำคลิปนำเสนอข่าวสารแจ้งชาวเน็ต "ปปง. ยึดทรัยพ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้หมื่นล้าน เตรียมให้ประชาชนที่เคยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ลงทะเบียนรับเงินคืน 3 ช่องทางตามนี้" ปรากฏว่าในเวลาต่อมา ถูกมิจฉาชีพนำไปโพสต์ตามเฟซบุ๊กหลายบัญชี เช่น Central Investigation Police, AOC Online Fraud Solutions Center, ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอีกหลายบัญชีที่มีชื่อแตกต่างออกไป แต่ล้วนเป็นชื่อของหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น
จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าเพจเหล่านี้เป็นเพจปลอม และสร้างขึ้นเพื่อใช้ความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐและอินฟลูเอนเซอร์ นำไปหลอกลวงประชาชนทั่วไปในเข้าใจผิด และหลอกลวงให้อาชญากรรมทางเทคโนโลยีซ้ำซ้อน
วันนี้ (8 ก.ค.2567) เบนซ์ เจ้าของช่องตุ๊ดย่อยข่าวให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ระบุว่า หลังจากทำคลิปนำเสนอข่าวสารไป ไม่กี่ชั่วโมงก็ได้รับข้อความ มีคนแจ้งมายังตนเองว่า คลิปของตนถูกนำไปใช้ในเพจที่เชื่อว่าเป็นเพจของมิจฉาชีพ ซึ่งมีการยิงโฆษณาเพื่อกระจายสู่ฐานผู้ชมได้กว้างขึ้น ทำให้เจ้าตัวต้องรีบทำคลิปแจ้งเตือนอีกครั้ง ขอประชาชนอย่าตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อเหตุ

เบนซ์ ผู้ใช้ติ๊กต็อกบัญชี ตุ๊ดย่อยข่าว ทำคลิปเตือนภัยประชาชนหวั่นถูกหลอกซ้ำซ้อน
เบนซ์ ผู้ใช้ติ๊กต็อกบัญชี ตุ๊ดย่อยข่าว ทำคลิปเตือนภัยประชาชนหวั่นถูกหลอกซ้ำซ้อน
ทั้งนี้ เจ้าของช่องตุ๊ดย่อยข่าว ได้เข้าไปดูความเคลื่อนไหวในเพจหน่วยงานรัฐดังกล่าว และพบว่า เพจดังกล่าว มียอดคนติดตามจำนวนหลักหมื่น มีการโพสต์ข่าวสารการทำงานของหน่วยงานแต่ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีการเปิดช่องให้คอมเมนต์ใด ๆ ทั้งสิ้น ต่อมาจึงทดลองส่งข้อความไปยังเพจหน่วยงานรัฐ และพบว่าปลายทางส่งไอดีไลน์ เพื่อให้กดรับเพื่อนเพื่อแชทคุยเพิ่มเติม จึงมั่นใจว่านี่คือเพจปลอม หลอกให้คนเข้าสู่กระบวนการของมิจฉาชีพ

หลักฐานครบแต่ยังไม่ใช่ "ผู้เสียหาย"
"เบนซ์" อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังยังระบุอีกว่า คลิปวิดีโอที่ตนเองทำนั้น ถูกมิจฉาชีพดูดคลิปไปใช้หลอกลวงคนอื่นต่ออีกหลายต่อหลายครั้ง สร้างความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของตนเอง และความเสียหายซ้ำซ้อนแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง ทุก ๆ ครั้งตนเองต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการก่อเหตุของมิจฉาชีพได้ อยากฝากถึงหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้เร่งจัดการให้เข้มงวดกว่านี้
แม้จะมีหลักฐานครบทุกอย่าง แม้กระทั่งประชาชนที่ถูกหลอก จะอ้างว่าความเสียหายเกิดจากการดูคลิปของเบนซ์ที่มิจฉาชีพนำไปหลอกต่อ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า ตัวของเบนซ์ยังไม่เสียเงิน ยังไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงทำได้เพียงลงบันทึกประจำวันเท่านั้น
ทั้งนี้เจ้าของบัญชีติ๊กต็อกชื่อดังยังฝากเตือนประชาชนว่า ขอให้สังเกตเพจหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ให้ดี โดยเฉพาะหากมีการเชิญชวนให้แอดไลน์ เพิ่มเพื่อน แสดงว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน นอกจากนี้แล้วยังพบว่า มิจฉาชีพก็เข้ามาในคราบ "ผู้เสียหายที่ได้เงินคืน" โดยพบว่ามีหลายคอมเมนต์ระบุว่า เคยเป็นผู้เสียหาย และได้เงินคืนแล้ว ให้แอดไลน์เข้ามาหากต้องการคำปรึกษา ซึ่ง เบนซ์ มองว่านี่คือภัยคุกคามออนไลน์ที่อันตราย และเล่นกับจิตใจของคนที่สูญเสียเงินจำนวนมาก
หน่วยงานรัฐติดต่อ ปชช.ผ่าน "กระดาษ" เท่านั้น
จากการตรวจสอบของไทยพีบีเอสออนไลน์พบว่า ยังมีติ๊กต็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ อีกหลายคนที่ถูกนำคลิปไปใช้หลอกลวงประชาชน เช่น ผู้ใช้ติ๊กต็อกบัญชี Yommynews ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของไทยพีบีเอส ก็ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ นำคลิปไปโพสต์เพื่อหลอกซ้ำซ้อนเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ถูกเพจหน่วยงานรัฐปลอมนำคลิปไปใช้หลอกลวงประชาชน
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ถูกเพจหน่วยงานรัฐปลอมนำคลิปไปใช้หลอกลวงประชาชน
ด้าน ร.ต.อ.ธนพล บุญซื่อ รอง สว.(สอบสวน) สน.ประชาสำราญ ฝากเตือนไปยังประชาชนว่า หน่วยงานรัฐไม่มีบริการ โทรหาประชาชนเพื่อแจ้งข่าวสารหรือคดีความใด ๆ รวมถึง ไม่แนะนำให้แอดไลน์ พูดคุยผ่านข้อความทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแชท หรือ วิดีโอคอล หากหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องติดต่อประชาชน จะมีหนังสือจากทางราชการแจ้งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านเท่านั้น
ทั้งนี้หากประช่าชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์ สามารถแจ้งความผ่านสายด่วน 1441 หรือเว็บไซต์ แจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (www.thaipoliceonline.go.th หรือ www.thaipoliceonline.com) แต่หากกังวลเรื่องเว็บไซต์ปลอมอีก สามารถเดินทางไปยังสถานีตำรวจใกล้บ้านได้ทันที