เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2567 กลุ่มผู้ชุมนุมที่ต่อต้านแนวคิดขวาจัดรวมตัวกันบริเวณจัตุรัส PLACE DE LA REPUBLIQUE ใจกลางกรุงปารีส หลังจากผลสำรวจหน้าคูหาหรือ Exit poll ชี้ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสรอบที่ 2 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.ค. พันธมิตรการเมืองฝ่ายซ้ายได้คะแนนนำอย่างเหนือความคาดหมาย หลายคนถึงกับร้องไห้และโผกอดกันด้วยความตื้นตัน หลังผลการเลือกตั้งเบื้องต้นสะท้อนว่าชาวฝรั่งเศสโดยรวมไม่ได้สนับสนุนกลุ่มการเมืองขวาจัดมากเท่าที่คาด
การเลือกตั้งทั้ง 2 รอบที่ผ่านมา เป็นการเฟ้นหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส 577 ที่นั่ง และพรรคที่จะครองเสียงข้างมากจะต้องได้ที่นั่งในสภาเกิน 289 ที่นั่ง
ผลเบื้องต้น คาดว่า New Popular Front (NFP) พันธมิตรการเมืองฝ่ายซ้าย น่าจะได้ที่นั่งในสภาราว 200 ที่นั่ง ตามมาด้วย Ensemble หรือแนวร่วม Together ของมาครง น่าจะได้ราว 168 ที่นั่ง ต่อด้วย National Rally (RN) พรรคขวาจัดที่คาดว่าจะได้ 139 ที่นั่ง
ตัวเลขเหล่านี้ยังเป็นเพียงการคาดการณ์ ซึ่งผลทางการอาจจะทราบช่วงเช้าวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นฝรั่งเศส (8 ก.ค.2567)
ก่อนหน้านี้ การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองจำนวนไม่น้อย ชี้ว่า National Rally (RN) พรรคการเมืองขวาจัดที่นำโดย มารีน เลอ เปน จะได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ผลปรากฏว่า RN ทำได้คะแนนเพียงอันดับ 3
ขณะที่ผลการเลือกตั้งภาพรวมทำให้การเมืองฝรั่งเศสในอนาคตส่อเค้าไร้เสถียรภาพ หลังจากขั้วการเมืองทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายซ้าย กลุ่มการเมืองสายกลางของเอมมานูเอล มาครง ปธน.ฝรั่งเศส และกลุ่มขวาจัด ต่างได้ที่นั่งในจำนวนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ส่งผลให้ส่วนแบ่งเก้าอี้ในสภาอยู่ในภาวะสภาแขวน ไม่มีพรรคหรือกลุ่มการเมืองใดครองเสียงข้างมาก
กาเบรียล แอตตัล นายกฯ ฝรั่งเศส
ก่อนหน้านี้ กาเบรียล แอตตัล นายกฯ ฝรั่งเศส จากกลุ่มแนวร่วมฝ่ายกลางของ แอมานุแอล มาครง ประกาศจะยื่นหนังสือลาออกในวันนี้ (8 ก.ค.2567) หลังผลการเลือกตั้งชี้ว่าทางกลุ่มได้คะแนนเป็นรองกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย แอตตัล เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส และเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค.
การเลือกตั้งในฝรั่งเศสแบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกจัดขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยผู้สมัครที่ได้คะแนนเกินครึ่งจะถือว่าชนะการเลือกตั้งและไม่ต้องลงทำศึกรอบ 2 ซึ่งจากทั้งหมด 577 ที่นั่ง มีผู้สมัครที่คว้าเก้าอี้เอาไว้ได้แล้วในการเลือกตั้งรอบแรก 76 คน ในจำนวนนี้ 39 คนเป็นผู้สมัครจากพรรคขวาจัด ตามมาด้วยฝ่ายซ้าย 32 คน และแนวร่วมรัฐบาลได้ไป 2 คน
แต่ถ้าเขตไหน ผู้ชนะได้คะแนนไม่เกินครึ่ง คนที่ได้คะแนนร้อยละ 12.5 ขึ้นไป จะได้ลงแข่งรอบ 2 ซึ่งในการเลือกตั้งรอบนี้ ฝ่ายต่อต้านขวาจัดจะเสียเปรียบ เพราะซ้ายกับกลางแย่งเสียงกันเอง ดังนั้นจึงเกิดเป็นสูตรการถอนตัวเพื่อสกัดขวาของผู้สมัครมากกว่า 210 คน เพื่อทำให้ผู้สมัครในแต่ละเขตเหลือ 2 คน ชาวฝรั่งเศสจะได้เลือกง่ายขึ้น โดยแบ่งเป็นขวาปะทะซ้าย 146 ที่นั่ง และขวาปะทะกลาง 124 ที่นั่ง
แม้พรรคขวาจัดจะไม่สามารถคว้าตำแหน่งพรรคอันดับ 1 มาได้ แต่ตัวเลข สส.ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จาก 8 ที่นั่งในปี 2560 เป็น 89 ที่นั่งในปี 2565 และล่าสุด น่าจะเก็บมาได้ราว ๆ 132 ถึง 152 ที่นั่ง ก็ทำให้เราไม่สามารถมองข้ามความนิยมและอิทธิพลของพรรคนี้ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระแสเอียงขวากำลังมาแรงอยู่บนเวทีการเมืองยุโรป
ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับผลงานนับ 10 ปี ของ มารีน เลอ เปน ในการเปลี่ยนชื่อและปรับภาพลักษณ์ของพรรค ซึ่งช่วยขยายฐานเสียง และทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า พรรคนี้ไม่ได้มีแนวคิดสุดโต่งเหมือนในอดีต หรือในยุคของ เลอ เปน ผู้เป็นพ่อ รวมทั้งไม่ได้รู้สึกผิดที่จะสนับสนุนพรรคนี้
ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็น ชี้ว่า ชาวฝรั่งเศสส่วนหนึ่งเชื่อมั่นว่าพรรคของ เลอ เปน ซึ่งหาเสียงเรื่องการแก้วิกฤตค่าครองชีพ จะจัดการปัญหาเศรษฐกิจได้ดีกว่าพรรคอื่นๆ ทั้งๆ ที่พรรคนี้ขาดประสบการณ์ในการเป็นรัฐบาล ขณะที่นโยบายหลาย ๆ อย่างก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการตัดลดภาษีและขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
แม้ว่าผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จะพลิกทุกโผ เพราะพรรค RN ถูกผลักลงไปอยู่ในอันดับ 3 แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ผิดคาด นั่นคือ ไม่มีพรรคไหนที่สามารถคว้าที่นั่งได้เกิน 289 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ ดังนั้น การเมืองฝรั่งเศสนับจากนี้ น่าจะเต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพ
อ่านข่าวอื่น :