การค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา ตอนที่ 2

ภูมิภาค
7 ก.ค. 67
17:18
352
Logo Thai PBS
การค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา ตอนที่ 2
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การค้าชายแดนทางฝั่งจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับรัฐฉาน ประเทศเมียนมา จุดนี้จะได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมาหรือไม่

วันที่ 6 ก.ค.2567 ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ได้พูดถึงผลกระทบการค้าชายแดนไทย-เมียนมา การจากสู้รบในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอนไปแล้ว

อีกหนึ่งจุดที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการค้าชายแดนทางฝั่งจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับรัฐฉาน ประเทศเมียนมา จุดนี้จะได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมาหรือไม่

ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่พูดคุยกับรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ถึงสถานการณ์การค้าชายแดนในปัจจุบัน

"เชียงราย" เมืองการค้าชายแดนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย

ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย

ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย

นางผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย บอกว่า แม้ว่าสถานการณ์ของเมียนมายังไม่สงบ แต่ว่าไม่ได้มีการสู้รบกันทางฝั่งนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดทางภาคตะวันตกของเมียนมา ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน หรือ จ.เมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก

ส่วนบริเวณแม่สายกับรัฐฉาน ยังมีการค้าขายได้ปกติ และก็ชาวเมียนมาเองก็นิยมที่จะข้ามมาซื้อสินค้าไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภค-บริโภค ประกอบกับขณะนี้มีการลงทุนมากในฝั่งตรงข้ามจังหวัดเชียงราย

ไม่ว่าจะในจังหวัดท่าขี้เหล็ก หรือในส่วนของอาณาจักรคิงโรมัน ฝั่งประเทศลาว ที่มีการลงทุนในพื้นที่จากชาวจีน ส่งผลทำให้สินค้าไทยไปได้ดี เพราะว่าไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ต้องใช้สินค้าจากไทย

จ.เชียงราย มีด่านพรมแดนหลายจุด โดยจุดที่สำคัญคือ ด่านเชียงของเป็นด่านทางบก ด่านเชียงแสนเป็นด่านทางน้ำคือแม่น้ำโขง ด่านแม่สายเป็นด่านทางบกเหมือนกันและจะเป็นด่านถาวรเข้าไปสู่รัฐฉาน สุดท้ายคือด่านทางอากาศผ่านทางสนามบินแม่ฟ้าหลวง ซึ่งสามารถเลือกเดินทางไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้น

เนื่องจากรัฐบาลเมียนมา มีแนวโน้มเปิดสนามบินเชียงตุง ให้เป็นสนามบินนานาชาติ เชื่อมต่อกับเชียงตุง-เชียงราย หรือเชียงตุง-เชียงรุ้ง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกันได้ 3 ประเทศ ในอนาคตตรงนี้ก็น่าจะไปได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยทุกด่านยังคงสามารถค้าขายได้ตามปกติ

สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ คือ ผลักดันเชียงราย โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย เป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินโดยไม่ต้องเดินทางไปมา เพราะการทำธุรกรรมกับต่างประเทศ หรือต้องเดินทางไปที่เชียงใหม่ ทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสในการทำธุรกิจ นอกจากนั้นการขอเอกสารต่าง ๆ ควรมาตั้งที่ชายแดน หรือควรเป็น One Stop Service เพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจในอนาคต

นี่คือคำบอกเล่าของทางรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ที่เธอเห็นว่า การค้าชายแดนผ่านทางจังหวัดเชียงรายในอนาคต จะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

สิ่งที่น่าจับตามองคือ ในอนาคตประเทศจีน อาจจะอนุญาตให้บุคคลเข้าทางท่าเรือได้ ดังนั้นด่านเชียงแสน จึงถือว่าได้เปรียบเป็นอย่างยิ่ง ในการขนส่งสินค้าผ่านทางแม่น้ำโขง ภาคธุรกิจใน จ.เชียงราย จึงกำลังมองเรื่องการส่งสินค้าจากไทย ไปยังตอนเหนือของประเทศจีน

เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่ติดทะเล หรือที่เรียกว่า Landlock โดยเฉพาะมณฑลยูนนาน กุ้ยโจ และเสฉวน ที่มีประชากรไม่ต่ำกว่า 160 ล้านคน ในการส่งพืชผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง รวมถึงอาหารทะเล ไปยังประเทศจีนในอนาคต

รศ.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า การค้าไทยและเมียนมา ต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน เมื่อมีสงครามเกิดขึ้น มันเลยส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนของการขนส่งสินค้า

โดยเฉพาะการขนส่งจากเมืองชายแดนของไทยฝั่งที่มีสงคราม เข้าไปยังตัวเมืองชั้นในพุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ส่งผลต่อราคาสินค้าในเมียนมาสูงขึ้นตามไปด้วย

จุดนี้เองเมื่อสินค้าเข้าไปยังในประเทศเมียนมาตอนในแล้ว ผู้ประกอบการของไทยเองไม่สามารถตั้งราคาสินค้าได้ ทำให้เกิดความผันผวนด้านราคาเกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เกิดสงครามหรือสงครามเพิ่งสิ้นสุด

อย่างไรก็ตามความต้องการในประเทศเมียนมายังคงมี การอุปโภคบริโภคยังจำเป็นต้องใช้ ทำให้สินค้าต่าง ๆ ก็จะไปทางช่องทางอื่นแทน

เนื่องจากความต้องการใช้สินค้ายังมีจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค- บริโภค หากสินค้าเข้าทางพื้นที่ที่เกิดสงครามไม่ได้ ก็จะไปทางอื่นแทน เช่นทางอากาศ ทางเรือ หรือช่องทางที่ไม่เกิดสงคราม อาจมีต้นทุนการส่งสินค้าที่แพงขึ้น แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ไป

และรับรองว่า ปลอดภัยถึงปลายทางแน่นอน ผมเรียกว่า การค้าดำเนินสะดวก คือที่ไหนสะดวกก็ไปทางนั้น และการค้ากับเมียนมาจะยังคงมีต่อไป ต่อให้ภาวะสงครามในเมียนมายังไม่จบลงก็ตาม

ประไทยและเมียนมาถือเป็นประเทศที่มีการค้าชายแดนเป็นอันดับ 3 ของประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า ปีที่ผ่านมา ไทยและเมียนมามีการค้าร่วมกันมากถึง 257,620 ล้านบาทต่อปี สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยเป็นน้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันปาล์ม ขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช และสัตว์น้ำ

รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ติดตามตอนอื่น :
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341037
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341334
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341061
https://www.thaipbs.or.th/news/content/340824
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341289
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341316
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341774
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341777
https://fb.watch/tb2HUjHqfN/
https://fb.watch/tb2x0fv5PX/


ข่าวที่เกี่ยวข้อง