คำพูดของผู้นำรัฐบาลเมียนมา ก่อให้เกิดคำถาม และข้อสงสัยให้กับคนเมียนมาเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลเมียนมา ประกาศต่ออายุคำสั่งภาวะฉุกเฉิน ที่บังคับใช้มาตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) ของนาง ออง ซาน ซู จี เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มาแล้วมากถึง 4 ครั้ง ซึ่งประกาศต่ออายุคำสั่งภาวะฉุกเฉิน ส่งผลทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมียนมาได้ตั่งแต่นั้น
ซึ่งพลเอก อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เคยให้เหตุผลก่อนหน้านี้ว่า “การเลือกตั้งทั่วไปเมียนมา จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ สันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมาเท่านั้น”
การประกาศให้มีการเลือกตั้งของผู้นำเมียนมา ในภาวะสูญเสียพื้นที่ควบคุมหลายแห่งทางตอนเหนือของรัฐฉาน จากปฏิบัติการ 1027 ที่เริ่มต้นปลายเดือนตุลาคม 2566 ของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์โกกั้ง MNDAA , กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ตะอั้ง TNLA และ กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อาระกัน AA ที่รวมตัวในนาม “พันธมิตรสามภราดรภาพ” (Three Brotherhood Alliance) และหลายเมืองในรัฐยะไข่และรัฐชิน ให้กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อาระกัน AA ในช่วงที่ผ่านมา
รวมถึงหลายรัฐของเมียนมาอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง เช่น เมืองล่าเสี้ยว เมืองจ๊อกเม เมืองสี่ป้อ เมืองหนองเขียวและเมืองกุดข่าย รัฐฉาน กำลังถูกกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์โกกั้ง MNDAA และ กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ตะอั้ง TNLA เข้ายึด
รัฐยะไข่และรัฐชิน กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อาระกัน AA มีปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ทุกวัน ,รัฐกะเหรี่ยง กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง KNU และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF เข้าตีฐานปฏิบัติการกองทัพเมียนมาไม่เว้นวัน เช่นเดียวกับรัฐกะเหรี่ยง กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง KNU เข้าตีฐานปฏิบัติการกองทัพเมียนมาไม่เว้นแต่ละวัน
ส่วนภาคมัณฑะเลย์ รัฐบาล NUG ประกาศเริ่มปฏิบัติการฉานมัณ จากพื้นที่รัฐฉานเหนือเข้าสู่ภาคมัณฑะเลย์ เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 พร้อมแถลงว่ากองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF ได้ยึด อ.มะดะหย่า จ.ปยินอูลวิน และกองพันป้องกันภัยทางอากาศ 1014 และฐานปฏิบัติการทหารเมียนมา 8 ฐาน ทางเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ เช่นเดียวกับรัฐมอญ และภูมิภาคตะนาวศรี กองทัพปฏิวัติรัฐมอญ MSRF และ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติทวาย DNLA มีการเคลื่อนไหวและปะทะกับทหารกองทัพเมียนมาในพื้นที่บ่อยครั้ง
ซึ่งกองทัพเมียนมาทำได้เพียงส่งทหารและเครื่องบินทิ้งระเบิดตอบโต้ แต่หลายพื้นที่ไม่สามารถต้านทางกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF ทำให้ต้องสูญเสียกำลังพลและพื้นที่แทบทุกวัน และผลพวงที่ตามมาคือ ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
เลือกตั้งทั่วไปปี 2568 จึงกลายเป็นข้อสงสัย และ คำถามว่า ผู้นำรัฐบาลเมียนมาส่งสัญญาณอะไร?
แล้วเมียนมาพร้อมจัดเลือกตั้งแล้วหรือในภาวะสงครามกลางเมือง ?
คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาจะรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างไร รวมทั้งการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ควบคุมของชาติพันธุ์และพื้นที่สู้รบ ?
หรือขณะนี้รัฐบาลได้เปรียบ เพราะวางกติกาเพิ่มเติม และวางคนรองรับไว้แล้ว ?
สุดท้ายคือผลเลือกตั้ง นานาชาติ กลุ่มตรงข้ามรัฐบาลขณะนี้รับได้หรือไม่ แล้วอะไรจะตามมา ?
เดือนกรกฏาคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมา ประกาศรับรองพรรคการเมือง 36 พรรค ในจำนวนนี้ 7 พรรคสามารถส่งผู้สมัครได้ในการเลือกตั้งทุกระดับ ที่เหลือ 29 พรรค ส่งผู้สมัครได้เฉพาะการเลือกตั้งระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังประกาศยกเลิกระบบให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตนั้น มาใช้ระบบสัดส่วน
พร้อมกับเพิ่มกติกาใหม่ คือ “ห้ามพรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถือว่ามีความเชื่อมโยงกับบุคคลหรือองค์กรที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือถูกมองว่ากระทำผิดกฎหมาย ลงรับสมัครเลือกตั้ง รวมทั้ง “ห้ามมิให้ฝ่ายต่างๆ ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการลงสมัครรับเลือกตั้ง”
สำหรับพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซูจี และอีก 40 พรรคการเมืองจากทั้งหมด 90 พรรค ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาสั่งยุบพรรค แล้วตั่งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2566 โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้ลงทะเบียนสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปตามแผนการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้
รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ