เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีน้ำท่วมขัง ความชื้นในอากาศสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดโรคผิวหนังต่าง ๆ ตามมาด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อราหรือเเบคทีเรียที่เจริญเติบโตเเละก่อโรคได้ดีในสภาพอากาศเเละสิ่งเเวดล้อมในฤดูฝน ประชาชนควรหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ และควรป้องกันโดย
- อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังจากโดนฝน
- ล้างมือ ล้างเท้าหลังลุยน้ำ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ
- สวมเสื้อผ้าที่สะอาดแห้งสนิทไม่อับชื้น
- หากมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยเเละการดูเเลรักษาที่ถูกต้องวิธี
อ่านข่าว : เช็ดเท้าให้แห้ง! ระวัง "น้ำกัดเท้า" โรคจากการแช่น้ำเวลานาน
ด้าน พญ.ชนิศา เกียรติสุระยานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า 6 โรคผิวหนังที่มักพบในฤดูฝน ได้แก่
- โรคเกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน เกิดบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ คอ ผู้ที่มีเหงื่อออกมากและใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น
- โรคกลาก มีลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ผื่นแดง ต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อยๆ และมักจะคันมากขึ้น พบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า
- โรคน้ำกัดเท้า มีการระคายเคืองผิวหนังจากความอับชื้น เมื่อสัมผัสสิ่งสกปรกบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหลังฝนตก ทำให้เกิดผื่นตามเท้าและซอกนิ้วเท้า บางรายอาจติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
- โรคเท้าเหม็น มีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดบริเวณผิวหนังชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะมีกลิ่นรุนแรงมากกว่าปกติ มีหลุม รูพรุนเล็กๆ บริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไป สังเกตจากผิวหนังมีผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมากที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ
- ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง ฤดูฝนจะมีการเพิ่มจำนวนของแมลง เช่น ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก หากสัมผัสอาจเกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้
แนวทางการรักษาโรคผิวหนังที่มักพบในฤดูฝน ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยอาจใช้ยารักษาตามชนิดของโรคและอาการที่พบ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษาได้ผลดีและป้องกันการเกิดโรคซ้ำได้
ที่มา : สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์
อ่านข่าวอื่น :