ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา "สงครามค่ายรถยนต์ไฟฟ้า" พร้อมใจหั่นราคาทั่วโลก

ต่างประเทศ
5 ก.ค. 67
12:02
669
Logo Thai PBS
จับตา "สงครามค่ายรถยนต์ไฟฟ้า" พร้อมใจหั่นราคาทั่วโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การลดราคาของค่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สร้างความไม่พอใจให้กับลูกค้าในประเทศไทย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก สาเหตุของการลดราคากระหน่ำแบบนี้เกิดจากอะไรและแนวโน้มต่อจากนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน ?

นักวิเคราะห์เชื่อว่าการลดราคาจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ ในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นค่ายรถยนต์อื่น ๆ ทั้งที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และน้ำมัน จะต้องทำโพรโมชันส่งเสริมการขายอย่างหนัก สาเหตุหลัก ๆ เพราะว่าสงครามราคารถยนต์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หากใครไม่ขยับก็อาจจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 ยอดขายอยู่ที่ 10 ล้านคัน ในปีถัดมายอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ขึ้นอยู่ที่ 14 ล้านคัน และคาดว่าปีนี้แนวโน้มน่าจะเป็นขาขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อคาดการณ์จากยอดขายไตรมาสแรกแล้วเชื่อว่าปีนี้ยอดขายทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 17 ล้านคัน

เจ้าตลาด 2 รายที่แข่งกันสูสีในปีที่แล้วคือ "เทสลา" จากสหรัฐฯ และ "บีวายดี" จากจีน ยอดขายในภาพรวมบีวายดีเอาชนะเทสลาไปได้ในปีที่แล้ว ด้วยยอดขายมากกว่า 2,800,000 คัน ทิ้งห่างเทสลาประมาณ 1,000,000 คัน

หากเราย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้า เริ่มจากเทสลาที่ประกาศลดราคาขายทั่วโลกช่วงปลายปี 2565 ซึ่งสร้างความเจ็บช้ำให้กับลูกค้าของเทสลาที่ต่างก็เสียดายเงินที่หายไปหลายหมื่นจากการประกาศลดราคาในครั้งนั้น

อีกไม่กี่เดือนต่อมา บีวายดีค่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนก็เดินตามรอยเทสลาด้วยการลดราคาขาย ทำให้ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่น ๆ ในประเทศจีนต้องใช้กลยุทธ์ลดราคาเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถมัดใจลูกค้าเอาไว้ได้ และนั่นทำให้สงครามราคาเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีการลดราคาเป็นระยะ ๆ และสังเกตว่าจะเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

การลดราคาในตลาดใหญ่ ๆ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเทสลาประกาศปรับราคารถยนต์ลงหลายรุ่น ลดสูงสุดอยู่ที่ 73,000 บาท และในเดือนเดียวกัน บีวายดีก็ปรับลดราคาขายในตลาดหลัก ๆ อย่าง จีน สหรัฐฯ และเยอรมนี ลดสูงสุดประมาณ 79,000 บาท

สาเหตุที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสามารถกดราคาลงได้ เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศออกมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อลดมลพิษให้ได้ตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ราคาแร่ลิเธียม คาร์บอเนต ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่ใช้ทำแบตเตอรีปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยแบตเตอรีถือเป็นส่วนประกอบหลักและต้นทุนหลักของรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อแบตเตอรีทำได้ถูกลงก็สามารถกดราคาลงไปได้อีก

แต่สำหรับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนที่ทำตลาดในยุโรปกำลังเจออุปสรรคครั้งใหญ่ เมื่อสหภาพยุโรปเพิ่มการจัดเก็บภาษีศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของจีน ทั้งรถยนต์สัญชาติจีนและค่ายรถยนต์ของยุโรปที่ผลิตในจีน แต่เดิมรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจะต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ร้อยละ 10 แต่นับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.นี้เป็นต้นไป รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากประเทศจีน จะต้องเสียภาษีเพิ่มอีก ร้อยละ 17.4 - 38.1

สัดส่วนของการเสียภาษีขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือในการสอบสวนเรื่องการต่อต้านเงินอุดหนุน แต่มาตรการนี้ใช้ชั่วคราวจนถึงเดือนตุลาคมนี้เท่านั้น ซึ่งอียูจะดำเนินการสอบสวนและหารือกับรัฐบาลจีนอีกครั้ง ข้อกังวลของอียูคือ ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนกำลังมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งรถยนต์ของจีนครองส่วนแบ่งทางการตลาดในอียูมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปีที่แล้วมีสัดส่วนร้อยละ 8 และในปีหน้าอาจเพิ่มเป็นร้อยละ 15

หากมองสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมแล้วอาจเรียกได้ว่านับจากนี้ไปเป็นโอกาสทองของผู้บริโภคที่จะได้เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคุณภาพสูงในราคาที่น่าพึงพอใจ แต่สำหรับในประเทศไทยแล้ว จุดอ่อนของการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย ทั้งเรื่องจุดชาร์จไฟ การซ่อมบำรุง รวมถึงปัญหาการทำประกัน

อ่านข่าวเพิ่ม :

โชว์ห่วยโคราช ขานรับ "ดิจิทัลวอลเล็ต" ฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

วิเคราะห์เศรษฐกิจ ตลาดรถป่วน สงคราม “ยึด-แย่ง-ยื้อ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง