เราสิ้นหวังกับตำรวจไทยหรือยัง…?
เรายังมีความหวังกับตำรวจได้หรือไม่…?
ปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นได้ไหม…?
ความขัดแย้งของ 2 บิ๊กตำรวจที่เกิดขึ้นมานานหลายเดือน ยังไม่มีทีท่าจะจบลง ทำให้เกิดคำถามมากมายจากประชาชนตามมา จนลามถึงวิกฤตศรัทธาที่มีต่อองค์กรตำรวจ แม้ขณะนี้จะมี พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 บังคับใช้แล้วก็ตาม แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย
"มิสเตอร์คลีน" ในวงการตำรวจไทย "พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์" อดีตรองผบ.ตร.ในฐานะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีเส้นทางชีวิตอยู่ในแวดวงสีกากี มากว่าค่อนชีวิต ได้เปิดอกคุยใน "รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" แบบคลุกวงในของเรื่องราวและปัญหาในทุ่งปทุมวัน ว่าในที่สุดแล้วจะมีทางออกออกอย่างไร และอะไร คือ ชนวนเหตุที่เกิดขึ้น

พล.ต.อ.เอก ยอมรับว่า วงการสีกากีในช่วงนี้นับว่าตกต่ำที่สุด ปัญหามาจากเรื่องบริหารงานบุคคล ต่อเนื่องความขัดแย้งของ 2 บิ๊กตำรวจในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หลายคนจึงมองว่า การปฏิรูปตำรวจ น่าจะเป็นทางออก แต่การจะปฏิรูปตำรวจ จะต้องปฏิรูปการเมืองก่อน หากย้อนไปการปฏิวัติรัฐประหาร ปี 2549 และปี 2550 ถือเป็นปฐมบทของการศึกษาทำความเข้าใจการปฏิรูปตำรวจอย่างชัดเจน 3 เรื่องหลัก 1. เรื่องโครงสร้าง ศูนย์รวมอำนาจ , 2. ปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล ที่ไม่มีระบบคุณธรรม 3. เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงาน , 4. เรื่องของงบประมาณ สิ่งเหล่านี้มันคือบรรทัดฐานที่ควรจะนำมาใช้แก้ไข แต่ก็ไม่ได้มีการนำมาใช้
เมื่อถามว่า ตอนนี้ได้มีการปฏิรูปแล้วหรือยัง? คำตอบก็คือ "มีการปฏิรูปแล้ว" แต่ก็เหมือนไม่ได้ปฏิรูป ด้วยภายใต้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ปรากฏเนื้อใน ไม่ตรงปก ยกตัวอย่าง การแทรกแซงทางการเมือง ปัญหาใหญ่ที่สุดในการบริหารคน และประธาน ก.ตร. ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ดี ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปครั้งนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามที่ได้ศึกษาค้นคว้ามา
นอกจากจะต้องอาศัยรัฐธรรมนูญ ฉบับ 60 ด้วยการให้คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 20 คนขึ้นไปยื่นแก้กฎหมาย ขณะที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) อาจจะต้องลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขตำรวจฉบับเพิ่มเติม ในข้อที่เห็นว่าไม่เป็นไปตามพื้นฐานกฎหมายรัฐธรรมนูยที่กำหนดไว้
วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีสมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และชมรมพนักงานสอบสวน ได้ประชุมหารือกัน ส่วนผมมีหมวกอีกใบในฐานะที่ปรึกษาชมรม ผมก็ได้เข้าไปร่วมหารือด้วย ในเรื่องที่ไม่ตรงปกเพื่อแก้ไขให้ตำรวจดีขึ้น
สำหรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พล.ต.อ.เอก บอกว่า จะเน้นใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. การปฏิรูปตำรวจเพื่อผลประโยขน์ของประชาชน ต้องการให้เป็นตำรวจของประชาชน 2. ปัญหาที่เคยมีโอกาสพูดคุย ปัญหาเรื่องความขาดแคลนทั้งบุคลากร และงบประมาณต่าง ๆ ควรที่จะได้รับความเอาใจใส่ในการเข้าไปแก้อย่างจริงจัง 3. เรื่องพนักงานสอบสวน ถือเป็นบุคลากรด่านหน้าที่สำคัญ
ด้วยบริบทอาชญากรรมช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา มีคดีอาชญากรรมไซเบอร์ "หลอกลวงออนไลน์" กว่า 5 แสนคดี มูลค่าความเสียหายกว่า 7 หมื่นล้านบาท เดือนละกว่า 3 หมื่นคดี สวนทางกับการขาดแคลนของพนักงานสอบสวนที่มีอยู่

พล.ต.อ.เอก บอกว่า อัตราพนักงานสอบสวนมีอยู่ 18,000 คน ตอนนี้ทำงานจริงอยู่ประมาณ 11,000 คน ในโรงพัก 1,400 กว่าแห่ง ตอนนี้การทำงานโหลดหนักมากจนคนหนีออกจากสายงาน เนื่องด้วยไม่มีความเจริญเติบโตในหน้าที่ และงานหนัก ปีที่แล้วผมสำรวจตัวเลขนะ ติดลบอีก 80 ตำแหน่ง เพราะทุกคนไม่อยากอยู่สายงานนี้ และดูสถานการณ์อาชญากรรมไซเบอร์ตอนนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน
การแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวน ได้มีการเขียนเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขตำรวจฉบับเพิ่มเติมเข้าไปด้วย โดยจะนำต้องมีเส้นทางของการเติบโตทางสายงานที่เคยถูกยกเลิกไปสมัย คสช. ให้กลับมา ด้วยให้มองการทำงานและเงินเดือนเท่ากับผู้ปฎิบัติหน้าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมอื่น เช่น ศาล อัยการ ป.ป.ช.
พล.ต.อ.เอก บอกว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1. การเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ที่มีผลตั้งแต่การแต่งตั้ง ระดับ ผบ.ตร. ดังนั้นจึงต้องการให้ ก.ตร. เป็นองค์กรกลางดูแลเรื่องการบริหารงานบุคคล ต้องมีความเป็นอิสระและปลอดจากการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งได้เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ด้วยการเสนอให้นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย - ยุทธศาสตร์ เพื่อเชื่อมต่อกับการเมืองและหน่วยงานอื่น แต่ไม่มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคล
2. การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คน เพื่อเข้าไปช่วย “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม” (ก.พ.ค.) ให้สามารถทำงานได้รวดเร็ว เนื่องด้วยปัจจุบันสำนวนคดีหลายร้อยฉบับ และกฎหมายต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะล่าช้า เกิดความเสียหาย
3. การสรรหาบุคคลเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ” (ก.ร.ตร.) จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และยินยอมที่จะเข้ามาทำหน้าที่มากกว่าการถูกคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่
4. เรื่องพนักงานสอบสวน ที่จะต้องเร่งแก้ไขให้เขาสามารถเติบโตในสายงานได้เหมือนในอดีต เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนทำงาน
"เราเข้าใจภาพพจน์ของตำรวจดี ยังมีตำรวจ อดีตตำรวจ มีองค์กรของตำรวจบางส่วน ที่เข้าใจเห็นปัญหา เข้าใจวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นเพื่อจะแก้ไขให้ถูกต้อง ยืนยันว่ายังมีตำรวจดี ๆ ที่จะพยายามช่วยกัน ทำให้องค์กรแห่งนี้ให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชนตามแนวทางที่ควรจะเป็นที่ถูกต้อง"

มีคนถามว่าการที่ออกมาพูดเรื่องการปฏิรูป ในที่สาธารณะ จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจแย่ลงหรือไม่…. "พล.ต.อ.เอก" ยืนยันว่า การลงมือทำดีกว่าการไม่ลงมือทำ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้รับรู้ว่ายังมีตำรวจที่พยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะลำพังแค่ตำรวจเองก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ และทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจริง เพื่อให้ประชาชนมองตำรวจเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ศักดิ์ศรี
อีกช่องทางในการแก้ปัญหากฎหมาย ได้มีการเข้าไปคุยกับพรรคการเมืองเพื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ
"ผมได้มีโอกาสคุยกับ ส.ส.แกนนำของหลายพรรค ที่มีโอกาสได้พบกัน แต่ก็ยังนิ่งเงียบเฉยกันอยู่ อาจจะให้ความสำคัญในเรื่องการเมืองเรื่องอื่นที่ยังไม่ลงตัวกันมากกว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร แต่หากพรรคการเมืองมีความใจในปัญหา ก็จะทำให้มีโอกาสการแก้กฎหมายสูง และทำให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้น ก็หวังว่าจะมีคนที่มีวิสัยทัศน์มองไปทิศทางเดียวกันมากขึ้น"

พล.ต.อ.เอก” ยอมรับว่า ไม่ใช่ตนเองคนเดียว ยังมีอดีตตำรวจอีกหลายคนที่รวมตัวกันเป็นแกนนำในเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแค่สร้างภาพลักษณ์ของตำรวจในสายตาประชาชนให้ดีขึ้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยน แปลงระบบการทำงานของตำรวจให้มีสวัสดิการ มีขวัญกำลังในการทำงาน และเป็นที่ยอมรับของประชาชนเพื่อเรียกวิกฤตศรัทธากลับคืนมา
"ก้าวต่อไปสำคัญ นักการเมืองต้องเข้าใจ รัฐบาลต้องเข้าใจ ฝ่ายค้านต้องเข้าใจ นักวิชาการสื่อสารมวลชน ผมว่าก็มีใจที่จะสะท้อนถึงปัญหา เพราะเราก็รู้ว่าปัญหามันเดือดร้อนถ้าเราไม่แก้ปัญหาตรงนี้ บ้านเมืองก็อยู่ลำบาก"
พบกับ : รายการคุยนอกกรอบกับ "สุทธิชัย หยุ่น" ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส