ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ชาวบ้านภูเก็ต” โอด หน่วยงานรัฐเงียบ ไม่มีใครช่วยเหลือ-เคลียร์พื้นที่หลังน้ำทะลัก

ภัยพิบัติ
3 ก.ค. 67
13:20
527
Logo Thai PBS
“ชาวบ้านภูเก็ต” โอด หน่วยงานรัฐเงียบ ไม่มีใครช่วยเหลือ-เคลียร์พื้นที่หลังน้ำทะลัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จ.ภูเก็ต เตรียมเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไว้ตามจุดต่างๆ รับมือฝนตกหนักอีกระลอก ขณะที่ชาวบ้านกะทู้เคลียร์พื้นที่หลังน้ำทะลัก โอดหน่วยงานรัฐช่วยเหลือล่าช้า

วันนี้ (3 ก.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีประกาศเตือนฝนตกหนักในหลายพื้นที่ รวมทั้ง จ.ภูเก็ต ในช่วงวันที่ 3-8 ก.ค.นี้ ทำให้ จ.ภูเก็ต เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไว้บริเวณพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก รวมทั้งคลองระบายน้ำสายสำคัญ เพื่อรับมือไว้ล่วงหน้า

ขณะเดียวกันชาวบ้าน บ้านหัวควน หมู่ 5 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ยังคงรอความช่วยเหลือ เข้าทำความสะอาดเคลียร์พื้นที่จากเหตุการณ์ดินโคลนสไลน์ แม้จะเป็นวันที่ 4 แล้ว แต่ยังมีดินโคลนค่อนข้างหนา มีเศษไม้และหินที่ถูกน้ำพัดจากภูเขากองทิ้งไว้ นอกจากนี้ยังมีบ้านอีกหลายหลังกำลังฟื้นฟูทำความสะอาด

ขณะที่คูคลองก็ยังเต็มไปด้วยดินตะกอน เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ ชาวบ้านกังวลว่าหากไม่เร่งขุดลอกออกจะทำให้น้ำท่วมซ้ำ โดยเฉพาะช่วงที่มีการแจ้งเตือนฝนตกหนักในสัปดาห์นี้

ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ขณะนี้ขอความช่วยเหลือจาก อบต.กมลา ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟู เพราะยังมีดินโคลนและซากต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ขอให้ช่วยนำออกไปจากพื้นที่ แต่ อบต.อ้างว่าไม่มีงบประมาณแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเอง

อ่านข่าว : ไขปม "น้ำท่วมภูเก็ต" ฝนไม่ใช่ปัจจัยหลัก-เสี่ยงอีกระลอก 7-8 ก.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุมีการสั่งการตามระบบบริหารราชการใน จ.ภูเก็ต ให้ช่วยเหลือชาวบ้านและฟื้นฟูพื้นที่ แต่เนื่องจากนายก อบต.กมลา ได้รับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว มีเพียงรองนายก อบต.รักษาการแทน ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะไม่กล้าลงนามงบประมาณ เพื่อออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน ทำให้การช่วยเหลือล่าช้า และเป็นที่สังเกตว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีอำนาจที่จะอนุมัติงบฉุกเฉินได้ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ

ส่วนโรงเรียนบ้านท่าเรือ อ.ถลาง มีการฟื้นฟูพื้นที่ เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว และจะกลับมาเปิดเรียนได้ตามแผนเดิมคือวันจันทร์ที่ 8 ก.ค.นี้ ส่วนการเฝ้าระวังค่อนข้างมีข้อจำกัด เพราะอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำได้เพียงติดตามสถานการณ์จากกล้องวงจรปิดเพื่อเตรียมการเท่านั้น

ปัญหาน้ำท่วมใน จ.ภูเก็ต นอกจากปริมาณฝนที่ตกหนักถึง 330 มิลลิเมตรแล้ว รศ.ดร.วีระพงค์ เกิดสิน คณบดีคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ยังระบุว่า เกิดจากการขยายตัวของเมืองกีดขวางร่องน้ำเดิม ซึ่งหลังจากนี้ควรบริหารจัดการด้วยการนำข้อมูลเหล่านี้มาออกแบบจัดการน้ำ และที่สำคัญควรมีข้อมูลที่มีเอกภาพ สำหรับเตือนภัย เพื่อลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด

ข้อมูลจากนักวิชาการ ระบุอีกว่า พื้นที่ป่าต้นน้ำของ จ.ภูเก็ต มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบปี 2561 จนถึงปีล่าสุด พื้นที่ป่าลดลงกว่า 1500 ไร่ โดยป่าต้นน้ำที่ลดลงทำให้การซับน้ำหรือชะลอน้ำลดลงไปด้วย นอกจากนี้การกักเก็บน้ำผิวดินก็ไม่สามารถทำได้ จึงมีผลต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทั้งที่จากข้อมูลพบว่าปริมาณน้ำผิวดินของ จ.ภูเก็ต มีเพียงพอ แต่ไม่มีพื้นที่กักเก็บ

อ่านข่าว : เตือน 20 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่า 3-8 ก.ค.นี้

อากาศแปรปรวนจ่อเผชิญ "ลานีญา" ระวัง "ฝนตกหนักสุดขั้ว"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง