วันนี้ (3 ก.ค.2567) เจ้าหน้าที่และประชาชนช่วยกันเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากลงจากรถบรรทุก รวมถึงสิ่งของส่วนตัว ทั้งโทรศัพท์มือถือ กระเป๋าเงิน และบัตรประจำตัวต่าง ๆ ของผู้ประสบเหตุเหยียบกันจนเสียชีวิตที่งานชุมนุมทางศาสนาฮินดู ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขตหัตถราส รัฐอุตตระประเทศของอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 116 คน
ขณะที่ชาวอินเดียจำนวนมากอยู่ด้านหน้าสถานพยาบาล เพื่อเฝ้ารอญาติพี่น้องซึ่งได้ได้รับบาดเจ็บ และถูกส่งมาเข้ารับการรักษา ซึ่งสาเหตุของการเหยียบกันยังไม่แน่ชัด
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เปิดเผยว่า เหตุเกิดขึ้นขณะที่ผู้ร่วมงานเดินออกหลังงานจบ ขณะที่พยานในเหตุการณ์ระบุว่า ทางออกแคบเกินไป และระหว่างที่คนกำลังหลั่งไหลออกจากงานเกิดกลุ่มฝุ่นฟุ้งกระจาย สร้างความสับสนอลหม่าน ผู้คนแตกตื่น ส่งเสียงกรีดร้อง ทำให้หลายคนเสียหลักล้มลง และเกิดการล้มจนถึงเหยียบกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คาดว่ามีปัจจัยความร้อนและการขาดอากาศหายใจ รวมถึงจำนวนผู้ร่วมงานมากจนเกินไป
รายงานเบื้องต้น ระบุว่า มีผู้ร่วมงานกว่า 15,000 คน ขณะที่พื้นที่จัดงานนี้รองรับผู้เข้าร่วมงานได้ 5,000 คนเท่านั้น ซึ่งเหตุเหยียบกันเสียชีวิตมักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลทางศาสนาของอินเดีย เนื่องจากผู้คนจำนวนมากจะต้องเบียดเสียดกันในพื้นที่เล็ก ๆ ท่ามกลางมาตรการความปลอดภัยที่อาจหละหลวม
อินเดียซ้ำรอยเหยียบกันเสียชีวิตในศาสนพิธี
ย้อนไปเมื่อ 1 ม.ค.2565 ช่วงเวลา 03.00 น. เกิดเหตุเหยียบกันเสียชีวิตที่วัดไวษโณเทวี ศาสนสถานฮินดู ในแคว้นแคชเมียร์ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บ 13 คน ซึ่งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ผู้มีจิตศรัทธาพยายามเบียดเสียดกันเพื่อรีบเข้าไปสวดภาวนารับปีใหม่ ระหว่างที่คนจากภายในเดินสวนกลับออกมา
ขณะที่เมื่อ 14 ต.ค.2556 เกิดเหตุเหยียบกันเสียชีวิตบริเวณสะพานใกล้กับวัดฮินดู ในดาเทีย รัฐมัธยประเทศ หลายคนพยายามเอาชีวิตรอดโดยการใช้ส่าหรีผูกกับราวสะพานเพื่อไต่ลงมา ส่วนอีกจำนวนหนึ่งกระโดดสะพานหนีตาย ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตรวม 115 คน บาดเจ็บอีกนับร้อย
ตำรวจเปิดเผยภายหลังว่า ผู้คนที่เบียดเสียดกันเกิดแตกตื่นเพราะมีข่าวลือว่าสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำสินธุ์แห่งนี้กำลังจะพังถล่ม โดยบนสะพานมีคนเบียดกันอยู่ราว 20,000 คน ส่วนภายในวัดและโดยรอบ คาดว่ามีผู้คนอัดแน่นอยู่ถึง 400,000 คน
ขณะที่พยานในเหตุการณ์ระบุว่า สถานการณ์วุ่นวายมากกว่าเดิมเมื่อตำรวจพยายามใช้กระบองตะลุยเข้าไปในฝูงชนนับหมื่น ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ไม่พอ และมีคนเบียดกันหนาแน่นมาก ท่ามกลางความตื่นตระหนก โดยสะพานแห่งนี้เคยเกิดเหตุเหยียบกันเสียชีวิตมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2549