"ไฟดูด" ภัยใกล้ตัว รู้วิธีสังเกต - เอาตัวรอด - ช่วยเหลือ

ไลฟ์สไตล์
24 มิ.ย. 67
14:45
951
Logo Thai PBS
"ไฟดูด" ภัยใกล้ตัว รู้วิธีสังเกต - เอาตัวรอด - ช่วยเหลือ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ไฟดูด" ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม รู้วิธีสังเกต - เอาตัวรอด - ช่วยเหลืออย่างไรให้ปลอดภัย

อัตรายจากไฟฟ้าเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ควรมองข้าม หลายครั้งที่เห็นข่าวมีคนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจาก "ไฟฟ้าดูด" หรือ "ไฟฟ้าช็อต" วินาทีชีวิต คนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็อยากช่วยเหลือ แต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรเพราะขาดความรู้ บางครั้งจึงทำให้เกิดความสูญเสียเพิ่มขึ้น

ดังนั้นสิ่งที่ควรรู้ คือ วิธีการสังเกตรวมถึงสิ่งที่ควรปฎิบัติ และป้องกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากไฟฟ้า รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง วันนี้ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้น

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจ ไฟฟ้าช็อต หรือลัดวงจร คืออะไร และอันตรายจากไฟฟ้าที่พบได้บ่อย

ไฟฟ้าช็อต หรือลัดวงจร (Short Circuit)

มีคำอธิบายจาก กองวิศวกรรมและวางแผน ฝ่ายวิศวกรรมและบริการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคใต้) จังหวัดยะลา ที่สรุปสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิด ไฟฟ้าลัดวงจร ไว้ดังนี้ 

  • ฉนวนไฟฟ้าชำรุด หรือเสื่อมสภาพ
  • เกิดแรงดันเกินในสายไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจึงสามารถทะลุผ่านฉนวนได้

(เนื่องจากฉนวนไฟฟ้ามีความสามารถในการทนแรงดันไฟฟ้าได้ไม่เหมาะสมกับแรงดันไฟฟ้าที่ใช้งาน)

  • ตัวนำไฟฟ้าในวงจรเดียวกัน แต่ต่างเฟสกัน (คนละเส้น) สัมผัสกัน กรณีนี้มักเกิดในระบบ
    ไฟฟ้าแรงสูงที่สายไฟฟ้า หรือตัวนำใช้เป็นสายเปลือย
  • มีสิ่งก่อสร้าง ต้นไม้ หรืออื่น ๆ ไปสัมผัสสายไฟฟ้า
  • สายไฟฟ้าขาดลงพื้นไฟฟ้าลัดวงจรเกิดได้ทั้งในระบบไฟฟ้าแรงสูงและแรงต่ำ 

ไฟฟ้าช็อต หรือลัดวงจร มีลักษณะอย่างไร

  • ระแสไฟฟ้าไหลระหว่างสายไฟ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากฉนวนของสายไฟฟ้าชำรุด หรือจากการสัมผัสกันโดยบังเอิญ ผลจากไฟฟ้าลัดวงจรจะทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลมาก มีความร้อนสูง นอกจากนี้ยังมีประกายไฟ ด้วย
  • กระแสไฟฟ้าไหลลงดิน หรือเรียก ไฟฟ้าลัดวงจรลงดิน อาจเกิดจากการที่สายไฟฟ้าขาด และหลุดที่จุดต่อแล้วไปสัมผัสกับดิน หรือสัมผัสกับส่วนที่เป็นโลหะ ซึ่งต่ออยู่กับดิน ฉนวนชำรุด หรือเกิดจากที่มีตัวนำเปลือย 

อ่าน : เพื่อน-ครูไว้อาลัย นร.ถูกไฟดูดเสียชีวิตคาตู้น้ำดื่ม-เตรียมรื้อถอน

ไฟฟ้าดูด (Electric Shock) คืออะไร 

กระแสไฟฟ้าไหลจากแหล่งกำเนิดผ่านตัวคน และกลับไปแหล่งกำเนิดโดยผ่านทางดิน ไฟดูดมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายไปสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้า การที่ไฟฟ้าจะดูดได้นั้น ไฟฟ้าต้องไหลครบวงจร

คือ ต้องมีจุดที่กระแสไฟฟ้าไหลออกจากร่างกาย นั่นหมายความว่าร่างกายจะต้องสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้าสองจุดพร้อมกันและทั้ง สองจุดนั้นจะต้องมีแรงดันไฟฟ้าต่างกันด้วย

การถูกไฟดูดจากการสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้า แยกตามลักษณะของการสัมผัสได้ 2 แบบ นั้นคือ 

การสัมผัสโดยตรง

คือ การที่ส่วนของร่างกายสัมผัสถูกส่วนที่มีไฟฟ้าโดยตรง เช่น สายไฟฟ้ารั่วเพราะฉนวนชำรุดแล้วมีบุคคลเอามือไปจับ หรือจากการที่เอาโลหะ เช่น ตะปูแหย่เข้าในรูเต้ารับไฟฟ้า เป็นต้น ลักษณะนี้โดยตรงก็จะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายลงดิน

การสัมผัสโดยอ้อม

ลักษณะนี้บุคคลไม่ได้สัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้าโดยตรง แต่เกิดจากการที่บุคคลสัมผัสกับส่วนที่ปกติไม่มีไฟฟ้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่มีไฟฟ้าเนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้ารั่ว จึงมีไฟฟ้ามารออยู่ที่โครงโลหะของเครื่องไฟฟ้า เมื่อบุคคลไปสัมผัสจึงมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน เช่นเดียวกับการไปสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้า

การสัมผัสโดยอ้อมมีอันตรายสูงและน่ากลัวเนื่องจากส่วนที่สัมผัส โดยปกติแล้วจะไม่มีไฟฟ้า ผู้สัมผัสจึงขาดความระมัดระวัง

เห็นได้ว่า หากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับครอบครัว คนที่รัก จึงไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างสม่ำเสมอ

ปริมาณกระแสไฟฟ้า แค่ไหนอันตรายต่อคน

ปกติแล้ว หากมนุษย์ทั่วไป โดนไฟฟ้าที่มีความต่างศักย์ระดับตั้งแต่ 30 โวลต์ขึ้นไปดูด จะมี อันตรายถึงชีวิต ซึ่งไม่ว่าจะเป็น ไฟกระแสตรง DC (Direct Current) หรือ กระแสสลับ AC (Alternating Current) ก็เสียชีวิตได้เหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับกระไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกาย ในที่นี้ ยกตัวอย่าง "ค่ากระแสไฟฟ้า" ซึ่งค่ากระแสไฟฟ้า ที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อร่างกายต่างกันเช่นกัน

ตามรายงานของสำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งสหรัฐอเมริกา (OSHA) อธิบายผลกระทบต่อร่างการที่พบบ่อยที่สุดจากการถูกไฟฟ้าดูดที่ระดับกระแสไฟฟ้าต่างกัน ยกตัวอย่าง เช่น 

  • กระแสไฟฟ้า 1-5 มิลลิแอมแปร์ (mA) : มนุษย์จะรู้สึกถึงไฟฟ้าช็อตเล็กน้อย อึดอัดแต่ไม่เจ็บปวด
  • กระแสไฟฟ้า 6 - 30 mA : มนุษย์จะช็อกอย่างเจ็บปวด สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ
  • 1,000 - 4,300 mA : หัวใจมนุษย์จะหยุดสูบฉีดเลือด เกิดความความเสียหายของเส้นประสาท และอาจถึงแก่ชีวิต
  • 10,000 mA (10 แอมป์) ขึ้นไป : หัวใจมนุษย์จะหยุดเต้น เกิดแผลไฟไหม้รุนแรง และเสียชีวิตทันที

"ไม่จำเป็น ไม่ควรใช้วิธี "ถีบ" ช่วยคนถูกไฟฟ้าดูด"

ไม่เพียงเท่านั้น รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังยกประเด็นการช่วยคนถูกไฟดูด ในรายการ "คิดสิต้องรอด" ทางไทยพีบีเอส มาอธิบายว่าจะทำอย่างไร วิธีไหนที่ช่วยคนถูกไฟดูดให้ปลอดภัย

เริ่มที่การ "การกระโดดถีบ" จะเป็นช่วยทำให้คนที่ถูกไฟดูดอยู่ สามารถหลุดออกจากสายไฟได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นการช่วยที่เสี่ยงมากเช่นกัน เพราะอาจจะทำให้คนที่หลุดออกไปจากไฟดูด ไปกระแทกของที่อยู่ด้านหลัง จนได้รับบาดเจ็บ หรือดีไม่ดี เรากระโดดถีบเค้าออกไป แต่เป็นเราเองที่ตกลงทับสายไฟที่รั่วอยู่ กลายเป็นเราถูกไฟดูดเอง 

ส่วนวิธี "ใช้ผ้าที่คล้องที่ตัว และดึงเพื่อนออกมา" นั้นจะดีหรือไม่ ผ้าเป็นฉนวนที่ไฟฟ้าไหลผ่านไม่ได้ก็จริง แต่ต้องใช้ผ้าที่แห้ง และยาวพอที่จะโยนให้คล้องเข้ากับเป้าหมาย และดึงกระชากออกมา ซึ่งหากฝีมือไม่ถึง หรือพลาดไปสัมผัสโดนคนที่ถูกไฟดูดเข้า วิธีนี้ก็เสี่ยงทำให้เราถูกไฟฟ้าดูดด้วย วิธีนี้อาจไม่รอดทั้งคู่

อีกวิธี "ใช้ไม้เขี่ยสายไฟ" หากพบคนถูกไฟฟ้าดูด ให้หาไม้หรือพลาสติก หรืออุปกรณ์ที่เป็นฉนวนไฟฟ้า และต้องแห้งเท่านั้น นำมาเขี่ยสายไฟหรืออุปกรณ์ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้า เขี่ยให้หลุดออกจากตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด 

รศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า หากไม่จำเป็นจริงๆ " ก็ไม่ควรใช้วิธีกระโดดถีบช่วยผู้ถูกไฟดูดหรือหากต้องทำ ต้องมองว่าบริเวณข้าง ๆ ผู้ที่ถูกไฟดูดนั้น มีพื้นที่โล่งพอให้ผู้ป่วยล้มลงไปโดยไม่เจ็บตัวมากนัก ให้เลือกค่อยถีบช่วงก้น หรือ สะโพก ให้เร็วแรงพอที่จะให้หลุดออกได้ในครั้งเดียว

แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรเลี่ยง "การกระโดดถีบ" แล้วมองหาสิ่งของที่เป็นฉนวน ไม่นำไฟฟ้า และแห้งไม่เปียกน้ำ ไปเขี่ยสายไฟหรือสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโดนไฟดูด ออกไปจากร่าง หรือเขี่ยมือ แขน หรือ เท้าของผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีไฟดูด 

ที่สำคัญคือ ต้องรักษาระยะห่างจากผู้ถูกไฟดูด อย่าพึ่งรีบร้อนเข้าไปช่วย เพราะอาจจะสัมผัสโดนร่างกายของผู้ที่ถูกไฟดูดไปด้วย ควรตั้งสติ สังเกตก่อนว่าไฟฟ้าที่รั่วออกมาดูดนั้น มาจากที่ใด จะได้ไม่เข้าใกล้จุดนั้น และหาทางตัดไฟฟ้าได้ เช่น ปิดสวิตช์ หรือสับคัทเอาท์ ตลอดจนควรที่จะต้องใส่รองเท้าด้วยก่อนเข้าไปช่วย

ส่วนวิธีการปฐมพยาบาลนั้น เริ่มจากตรวจดูว่าผู้ป่วยยังมีสติแค่ไหน หาก "ยังมีสติ" ครบถ้วน ให้นอนพัก ตรวจร่างกายคร่าว ๆ ว่ามีบาดแผลร้ายแรงหรือไม่ มีรอยไฟไหม้ที่บริเวณใดหรือเปล่า แต่ถ้า "หมดสติ" และ "ไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น" ให้รีบทำการ ปั๊มหัวใจผายปอด CPR โดยด่วน จากนั้น ให้รีบนำส่งแพทย์ หรือโทรแจ้ง สายด่วนกู้ชีพ 1669

อ่านข่าว : หน้าร้อน ต้องระวัง สาเหตุเสี่ยง "ไฟไหม้" กับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "ไฟ"

นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ว่าทำอย่างไรหากพบเห็นคนถูกไฟดูด

  • สิ่งแรกที่ควรทำคือ  "ตั้งสติ" หาต้นตอของกระแสไฟฟ้า  และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกไฟดูดหรือเป็นผู้ประสบเหตุเสียเอง 
  • รีบตัดกระแสไฟฟ้า หากเป็นกระแสไฟฟ้าแรงสูง ควรแจ้งการไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย
  • มองหาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าในการช่วยเหลือ ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟดูดโดยตรง
  • กรณีที่ผู้ประสบเหตุถูกกระแสไฟฟ้าดูดและมีสายไฟผ่านตัวอยู่ ให้มองหาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น พลาสติก ผ้าแห้ง หรือถุงมือยาง เพื่อใช้ผลักหรือเขี่ยตัวผู้ประสบเหตุออกจากจุดที่กระแสไฟรั่วอย่างรวดเร็ว
  • กรณีที่ผู้ถูกไฟดูดอยู่ในบริเวณที่มีน้ำขัง ผู้ช่วยเหลือห้ามลงไปในน้ำเด็ดขาด
    ผู้ช่วยเหลือไม่ควรลงไปในน้ำเด็ดขาด จะต้องตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าไปช่วยเหลือ

5 ขั้นตอน วิธีตรวจสอบไฟฟ้ารั่วเบื้องต้น กรณีไม่ได้ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบที่มิเตอร์ไฟฟ้า : โดยการปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าและหลอดไฟฟ้า พร้อมถอดปลั๊กตู้เย็น แล้วดูมิเตอร์ว่าแผ่นจานโลหะในมิเตอร์ยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่ แสดงว่าเกิดไฟรั่วภายในบ้านจุดใดจุดหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 2 หากแผ่นจานโลหะในมิเตอร์ไม่หมุน : อาจเป็นไปได้ว่ามีไฟรั่วแต่น้อยมาก ๆ ให้จำตำแหน่งจานหมุนและเลขมิเตอร์ แล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 ชม. หากตำแหน่งจานหมุนและเลขมิเตอร์ไม่อยู่ตำแหน่งเดิม แสดงว่าเกิดไฟรั่ว

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อตรวจสอบพบมีไฟรั่ว : "ให้ปิด (OFF)" เบรกเกอร์ย่อยที่ตู้แผงเมนสวิตช์ทั้งหมดแล้ว "เปิด (ON)" เบรกเกอร์ย่อยทีละตัวสลับกันไป แล้วดูมิเตอร์แต่ละครั้ง ว่าแผ่นจานโลหะในมิเตอร์หมุนหรือไม่

หากหมุน แสดงว่ามีไฟรั่วที่วงจรของเบรกเกอร์ย่อยตัวที่เปิด (ON) ให้ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นโลหะทั้งหมดของวงจรที่ตรวจพบไฟรั่ว แล้วแจ้งช่างผู้ชำนาญการแก้ไขโดยเร็ว

ขั้นตอนที่ 4 หากมีความรู้ในการใช้ไขควง : ลองไฟอย่างปลอดภัยสามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้ "ให้เปิด (ON)" เบรกเกอร์ย่อยวงจรที่พบไฟรั่ว แล้วใช้ไขควงลองไฟ แตะเปลือกโลหะเครื่องใช้ไฟฟ้า และฉนวนสายไฟของวงจรย่อยนั้นทั้งหมดหากหลอดไฟที่ไขควงลองไฟติด แสดงว่ามีไฟรั่วที่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟ นั้น ๆ ให้ถอดปลั๊กใช้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ จนกว่าจะให้ช่างผู้ชำนาญการแก้ไขให้เรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 5 ขอคำแนะนำ : หรือปรึกษาแก้ไขไฟฟ้ารั่ว ติดต่อ MEA Call Center 1130  

สุดท้ายอย่าลืม ติดตั้งสายดินและเบรกเกอร์ป้องกันไฟรั่ว และหมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าให้มีสภาพพร้อมใช้งาน อยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัย ในการใช้ไฟฟ้า

แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้อง - ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับไฟฟ้า

  • กรุงเทพฯ นนทบุรี และ สมุทรปราการ แจ้ง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) MEA โทร. 1130
  • จังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจาก 3 จังหวัดของ กฟน. แจ้ง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) PEA โทร. 1129
  • หากพบปัญหาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาส่ง แจ้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) EGAT โทร. 1416

อ่านข่าว : เปิดใจคุย "เพ็ญโฉม" แก้ไฟไหม้โกดัง ต้องปฏิรูประบบตรวจสอบโรงงาน

ดีเดย์ 30 มิ.ย.ปิดอ่าวโละบาเกา-ถ้ำไวกิ้ง-ปิเละ ปะการังฟอกขาวหนัก

โคเรียนแอร์ ระบบความดันอากาศขัดข้อง ผู้โดยสารบาดเจ็บนับสิบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง