ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดใจคุย "เพ็ญโฉม" แก้ไฟไหม้โกดัง ต้องปฏิรูประบบตรวจสอบโรงงาน

สิ่งแวดล้อม
24 มิ.ย. 67
11:12
388
Logo Thai PBS
เปิดใจคุย "เพ็ญโฉม" แก้ไฟไหม้โกดัง ต้องปฏิรูประบบตรวจสอบโรงงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เหตุไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสส ที่ชุมชนหนองพะวา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ผ่านมาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ... เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารเคมีอันตรายในปริมาณมาก เพราะที่ตั้งของโรงงานถูกใช้เป็นจุดลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี

และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยังมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมเกิดกระแสตื่นตัวต่อปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในประเทศไทย ตั้งแต่การขุดกากแคดเมียมจากหลุมฝังกลบที่ จ.ตาก ส่งมาที่ จ.สมุทรสาคร และถูกส่งต่อไปยังโรงงานทุนจีนเถื่อนใน จ.ชลบุรี ,การเกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังที่ลักลอบเก็บถังสารเคมีอันตรายของบริษัท เอกอุทัย จำกัด ที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา

รวมไปถึงตรวจพบว่า มีกากของเสียอันตรายถูกลักลอบฝังกลบไว้ในโรงงานของบริษัท เอกอุทัย ที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี ต้องเร่งเสนอแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการหางบประมาณเร่งด่วนมาแก้ไขผลกระทบเฉพาะหน้า รวมทั้งการเสนอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งก็ยังมีอุปสรรคติดขัดในเกือบทุกขั้นตอน

ในสายตาขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง "เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง" ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ มองว่า เป็นปัญหาที่ไทยต้องแก้ไขอย่างจริงจังมากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ "การปฏิรูปการติดตามตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม" ต้องถูกประกาศให้เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

อุตสาหกรรมต้องทำงานใหม่ ติดตามตรวจสอบโรงงานแบบ on site

ข้อมูลจากกรมโรงงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ระบุว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่จัดอยู่ในกลุ่มโรงงานรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย (Waste Processor) รวมทั้งหมด 2,718 แห่ง เป็นโรงงานรับกำจัดของเสียอันตราย (ลำดับที่ 101) จำนวน 144 แห่ง ,โรงงานคัดแยกขยะหรือทำหลุมฝังกลบของเสียไม่อันตราย (ลำดับที่ 105) จำนวน 1,581 แห่ง และเป็นกลุ่มโรงงานรีไซเคิล ซึ่งสามารถรับของเสียอันตรายมารีไซเคิลได้ (ลำดับที่ 106) จำนวน 993 แห่ง

ข้อมูลในปี 2565 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีปริมาณของเสียอันตรายทั้งหมด 2.72 ล้านตัน ... เป็นของเสียที่ขอกักเก็บในโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) 1.2 ล้านตัน และแจ้งขนส่งออกไปยังโรงงาน Waste Processor 1.48 ล้านตัน ... แต่เมื่อตรวจสอบกับโรงงานที่มีหน้าที่รับกำจัดของเสียอันตราย (101) พบว่า มีของเสียอันตรายเพียงประมาณ 3 แสนตันต่อปีเท่านั้น ที่ถูกส่งเข้าสู่ระบบการกำจัดอย่างถูกต้อง

"สำหรับโรงงานในกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดของเสียอันตราย (Waste Processor) ในต่างประเทศจะมีระบบตรวจสอบที่ on site โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงงานบ่อยๆ ว่ามีรูปแบบการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตรงกับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ได้รับมาหรือไม่ ... แต่ในประเทศไทย เราแทบไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบอย่างจริงจังกับโรงงานกลุ่มนี้เลย"

"ระบบการติดตามตรวจสอบโรงงานกลุ่มกำจัดและบำบัดของเสียอันตรายมีปัญหา" เป็นประเด็นหลักที่ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ใช้อธิบายให้เห็นถึงต้นตอของการเกิดขบวนการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายขึ้นในประเทศไทย

เพราะเมื่อวิเคราะห์ลงไปในเชิงลึกก็จะพบว่า โรงงานกลุ่มที่รับกำจัดหรือบำบัดของเสียที่ก่อปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานรีไซเคิล (106) มักจะเป็นโรงงานที่ไม่มีศักยภาพในการรีไซเคิลของเสียที่รับมาตั้งแต่แรก แต่กลับยังสามารถขอรับของเสียในระบบได้อยู่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เคยลงไปตรวจสอบโรงงานแบบ on site จริงๆ

เพ็ญโฉม บอกว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา คนไทยได้รับรู้เรื่องการขนย้ายเตรียมจะขายกากแคดเมียม รับรู้เรื่องการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมของโรงงานที่มีปัญหาหนักๆอย่างวิน โพรเสส และเอกอุทัยผ่านเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ทำให้เห็นความเสียหายร้ายแรง ซึ่งก็อาจจะทำให้โรงงานอื่นๆ ที่มีปัญหาเช่นเดียวกันอยู่ในความระมัดระวัง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจจะกลับมามีปัญหาอีก

... เราเชื่อว่า ถ้ากรมโรงงานฯ เดินหน้าตรวจสอบลงพื้นที่แบบ on site กับโรงงานกลุ่มนี้ทั้ง 2,700 กว่าแห่ง ก็อาจจะพบอีกหลายโรงงานที่ไม่มีศักยภาพรีไซเคิลของเสียได้จริงตามใบอนุญาต หรือแจ้งรับของเสียที่ไม่คุ้มค่ากับการรีไซเคิลเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมาก

"ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบลงไปตรวจสอบโรงงาน 105 106 แบบ on site ก็อาจจะหยุดยั้งวงจรนี้ ด้วยการตัดโรงงานที่ไม่มีศักยภาพในการจัดการของเสียจริงๆ ออกไปจากระบบได้ก่อนเลย ส่วนโรงงานที่ผ่านการตรวจแล้ว พบว่า มีศักยภาพในการจัดการของเสียได้จริง ก็สามารถประชาสัมพันธ์ให้รับรู้โดยทั่วกันไปได้เลยว่า ผ่านการตรวจสอบแล้ว"

นอกจากข้อเสนอให้ลงพื้นที่ตรวจสอบศักยภาพที่แท้จรทั้งหมด เพ็ญโฉม ยังเสนอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนวิธีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มโรงงาน 106 (รีไซเคิล) ควรจะต้องระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า จากศักยภาพของโรงงานที่ตรวจสอบ โรงงานมีสิทธิรับวัสดุหรือสารอะไรมารีไซเคิลได้บ้าง

และต้องลงรายละเอียดไปอีกด้วยว่า สารเคมีบางประเภทที่ควรต้องถูกส่งไปกำจัด เพราะไม่คุ้มค่ากับการรีไซเคิล เช่น กรด ไม่ควรได้รับอนุญาตให้รับมารีไซเคิลอีกแล้ว หรือจะรับมาได้เฉพาะโรงงานที่ผ่านการตรวจสอบแล้วสามารถรีไซเคิลกรดได้จริงเท่านั้น ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังเปิดช่องให้โรงงาน 106 สามารถรับกรดมารีไซเคิลได้ จนกลายเป็นกากของเสียอันตรายตัวสำคัญที่ถูกนำไปลักลอบทิ้งเพระไม่มีทางคุ้มกับราคาค่าบำบัด และมีโรงงานไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ทำได้จริง

ไทยไม่เคยมีแผนรับมือ-งบประมาณจัดการพื้นที่ปนเปื้อน

ทบทวนอีกครั้ง ... จำนวนโรงงานที่เป็นต้นทางของการก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) ในประเทศไทย จากข้อมูลเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 คือ 72,846 แห่ง ... ส่วนจำนวนโรงงานกลุ่มรับกำจัดและบำบัดของเสีย (Waste Processor) ที่สำรวจไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน คือ 2,718 แห่ง ... คิดเป็นอัตราส่วน เท่ากับ 26 ต่อ 1 ... หรือ มีโรงงานรับบำบัด 1 แห่ง ต่อโรงงานที่ก่อกำเนิดของเสีย 26 แห่ง

ข้อมูลจำนวนโรงงานกลุ่ม รับบำบัด 101 105 106 และสัดส่วน 26/1 ในปี 2567 : ที่มา กรมโรงงานอุตสาหกรรม

ข้อมูลจำนวนโรงงานกลุ่ม รับบำบัด 101 105 106 และสัดส่วน 26/1 ในปี 2567 : ที่มา กรมโรงงานอุตสาหกรรม

ข้อมูลจำนวนโรงงานกลุ่ม รับบำบัด 101 105 106 และสัดส่วน 26/1 ในปี 2567 : ที่มา กรมโรงงานอุตสาหกรรม

แต่ถ้าค้นข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมย้อนหลังกลับไป 10 ปี คือ ในปี 2558 ประเทศไทย มีสัดส่วนของโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย ต่อ โรงงานกลุ่มรับบำบัดของเสีย อยู่ที่อัตราส่วน 40 ต่อ 1 

ข้อมูลปี 2558 สัดส่วน 40/1 ที่มา:  กรมโรงงานอุตสาหกรรม

ข้อมูลปี 2558 สัดส่วน 40/1 ที่มา: กรมโรงงานอุตสาหกรรม

ข้อมูลปี 2558 สัดส่วน 40/1 ที่มา: กรมโรงงานอุตสาหกรรม

สรุปได้ว่า ในช่วง 10 ปีหลัง มีโรงงานกลุ่มรับบำบัดของเสียโดยเฉพาะโรงงานลำดับที่ 105 (คัดแยกขยะหรือฝังกลบของเสียไม่อันตราย) และ 106 (รีไซเคิล) “เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก” และการออกใบอนุญาตให้โรงงานลำดับที่ 106 ก็มักจะมีใบอนุญาต 105 ถูกพ่วงมาด้วยภายใตชื่อบริษัทเดียวกัน

ในขณะที่โรงงานกลุ่มรับกำจัดและบำบัดของเสีย (Waste Processor) เพิ่มขึ้นมากตามข้อมูลนี้ เสียงร้องเรียนของผู้ได้รับผลกระทบจากหลากหลายพื้นที่ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งพื้นที่ดั้งเดิมและพื้นที่ที่เริ่มได้รับผลกระทบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ราชบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา หรือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ... แต่ประเทศไทย กลับยังไม่เคยมีงบประมาณที่ถูกตั้งไว้สำหรับการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนเลย

มีภูเขาแห่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา ถูกค้นพบว่า เป็นแหล่งสำหรับการลักลอบทิ้งถังสารเคมีอันตรายที่ใช้แล้ว โดยปริมาณที่พบ คือ 17,000 ตัน ทำให้รัฐบาลของเขาตื่นตัวด้วยการออกกฎหมายและตั้งกองทุนที่เรียกว่า Super Fund ขึ้นมาสำหรับใช้ในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนทันที

"แต่ในประเทศไทย แค่ของเสียอันตรายที่เราพบในโรงงานวิน โพรเสส แห่งเดียว ก็มีจำนวนหลายหมื่นตัน ยังไม่รวมจุดอื่นๆที่โรงงานแวกซ์ กาเบ็จ ราชบุรี ,โกดังภาชี ,หลุมฝังกลบที่ศรีเทพ และที่อื่นๆ แต่ผู้นำของรัฐบาลไทยกลับไม่แสดงความเดือดร้อน ไม่แสดงท่าทีใดๆที่จะหาช่องทางในการนำงบประมาณมาจัดการพื้นที่ปนเปื้อนเหล่านี้เลย" ผอ.นิธิบูรณะนิเวศ ตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลไทย

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนกากของเสียอันตราย ก็คือ ต้องใช้เงินจำนวนมากในการจัดการ ทำให้โรงงานที่ลักลอบทิ้งใช้วิธีการแบบเดียวกันทุกกรณี คือ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย อ้างว่าไม่มีเงิน อ้างว่าล้มละลาย ในขณะที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ไม่มีงบประมาณในการจัดการพื้นที่เหล่านี้ และไม่มีช่องทางตามกฎหมาย ที่จะไปนำเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมมาใช้

จึงทำได้เพียงขอใช้งบกลางจากรัฐบาลมาบรรเทาผลกระทบ และกำลังเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน เพื่อนำเงินค่าปรับมาตั้งเป็น กองทุนอุตสาหกรรม สำหรับจัดการพื้นที่ปนเปื้อน ... แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน

อ่านข่าว : ทางตันกำจัดกากอันตราย "เอาเงินมาจากไหนดี" คำถามที่ไร้คำตอบ

"ประเทศไทยมีของเสียปนเปื้อนที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนหลายพื้นที่ เราพิสูจน์ได้ว่า โรงงานเป็นผู้ลักลอบทิ้งของเสีย แต่กลับทำอะไรไม่ได้เลย เรียกเก็บเงินจากโรงงานไม่ได้ เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมก็ไม่เข้าเงื่อนไขให้นำมาใช้และไม่มีหน่วยงานใดเสนอแก้ไขกฎหมายนี้ ... แม้ว่ากรมโรงงานฯ จะพยายามขอแก้ไขกฎหมายเพื่อนำค่าปรับที่กรมโรงงานฯได้มาในแต่ละปีมาตั้งกองทุนอุตสาหกรรม ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง หรือหากตั้งกองทุนอุตสาหกรรมได้จริง ก็ไม่แน่ว่าจะได้เงินมากพอ ... ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กลไกทางกฎหมายไม่เอื้อต่อการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนเลย และเมื่อมองดูกลไกอื่นๆ ไล่ไปตั้งแต่นายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรฯ ไปจนถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เลยที่จะทำให้สามารถนำเงินมาใช้จัดการพื้นที่ปนเปื้อนได้"

ยิ่งถ้าเรามาดูงบประมาณปี 2568 ที่รัฐบาลเสนอต่อรัฐสภา จะพบว่า รัฐบาลตั้งงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการจัดการมลพิษไว้เพียงแค่ 800 ล้านบาท ซึ่งมันหมายถึงงบประมาณที่จะใช้แก้ไขปัญหามลพิษทุกปัญหาของประเทศ แต่เงินเพียงแค่นี้จะนำไปแก้ปัญหาในพื้นที่ไฟไหม้โรงงาน วิน โพรเสส เพียงจุดเดียวก็อาจจะยังไม่พอด้วยซ้ำ เพราะไม่มีเงินจากกองทุนอื่นๆ ให้สามารถนำมาใช้ได้เลย ... ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไทย ไม่ได้สนใจปัญหากากอุตสาหกรรมเลย”

นอกจากข้อเสนอให้ปรับปรุงกระบวนการติดตรามตรวจสอบโรงงานแบบ on site และต้องทำให้มีงบประมาณสำหรับการจัดการพื้นที่ปนเปื้อน ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังสะท้อนปัญหาในภาพใหญ่ในประเด็นอื่นๆ ไว้ด้วย คือ ไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบปฏิบัติการรับมือกับภัยพิบัติสารเคมีซึ่งเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่เห็นบทบาทที่มากพอของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่จะมาติดตามปัญหาสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

“เราไม่แน่ใจว่าการที่รัฐบาลไทยไม่ยอมลงทุนกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เป็นเพราะรัฐบาลกำลังเป็นห่วงว่า หากตั้งงบประมาณฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมขึ้นจะไปทำให้ไทยถูกมองจากต่างชาติว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักมาก ใช่หรือไม่ ...”

“แต่รัฐบาลน่าจะมองในมุมกลับว่า ปัญหามลพิษ โดยเฉพาะการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมเป็นปัญหาที่ไม่มีทางปกปิดไว้ได้ และในระยะยาวมันจะไปสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงในเรื่องที่สำคัญกว่านี้แน่นอน เช่น สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นแหล่งอาหารปลอดภัย ต่อเนื่องไปถึงการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร และยังจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่หวาดกลัวจะได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมต่างออกมาต่อต้านการขยายตัวของอุตสาหกรรมมากขึ้น โอกาสในการลงทุนโครงการใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ฝากข้อคิดทิ้งท้ายให้รัฐไทย

สัมภาษณ์พิเศษโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง