"นางสาวสยาม" เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย

สังคม
19 มิ.ย. 67
16:26
719
Logo Thai PBS
"นางสาวสยาม" เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
CAAT จัดพิธี มอบเครื่องบินจำลอง “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย

วันนี้ (19 มิ.ย.2567) นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นประธานจัดพิธี มอบเครื่องบินจำลอง “นางสาวสยาม” ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ โดยมี พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ น.อ.วีระยุทธ ดิษยะศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเลิศชาย พงษ์โสภณ ทายาท น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ ประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล ส่งเสริม พัฒนากิจการการบินพลเรือนให้มีประสิทธิภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา CAAT มีโอกาสเข้าร่วมประชุม สร้างความร่วมมือกับองค์กรด้านการบินที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น CAAT จึงจัดทำของที่ระลึกเพื่อมอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ในฐานะผู้แทนด้านการบินของประเทศไทย

ด้วยประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของเครื่องบิน “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย CAAT จึงขออนุญาต น.อ.วีระยุทธ ดิษยะศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนา อากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาและฟื้นฟูเครื่องบินนางสาวสยาม จัดทำเครื่องบินจำลองนางสาวสยาม ขนาดลำตัว 40 เซนติเมตร และ 20 เซนติเมตร เพื่อเป็นของที่ระลึกเชิงสัญลักษณ์ของการบินพลเรือนไทย โดยมุ่งหวังให้ประวัติศาสตร์ของเครื่องบินนางสาวสยามยังคงอยู่ในความทรงจำและ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนสืบต่อไป

“นางสาวสยาม” เป็นเครื่องบินส่วนตัวของ น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ อดีตนักเรียนทุน ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่เดินทางไปศึกษาวิทยาการด้านการบิน ณ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความสามารถที่โดดเด่นด้านการบิน น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ ได้รับจ้างแสดงเครื่องบินผาดโผนจนเป็นที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา รายได้จากการเดินสายไปแสดง ในรัฐต่าง ๆ กว่า 30 รัฐ ทำให้ น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ สามารถซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้ 1 ลำ ในราคา 6,000 บาท พร้อมตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า “นางสาวสยาม”

“นางสาวสยาม” เป็นเครื่องบินรุ่น OX-5 travel Air 2000 ถือเป็นเครื่องบินรุ่นแรกที่ได้รับการรับรองจากกรมการบินของสหรัฐอเมริกาให้สามารถใช้รับส่งผู้โดยสารได้ และมีเพียง 3 ลำในโลก ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2475 น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ ได้บินเดี่ยวด้วยเครื่องบิน “นางสาวสยาม” มุ่งหน้าทำภารกิจเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน การเดินทางท่ามกลางสงครามทางการเมือง ในครั้งนั้น ต้องผ่านอุปสรรคทั้งเสี่ยงเป็นและเสี่ยงตาย แต่ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ สามารถทำภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้สำเร็จภายในเวลา 17 วัน

ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า วันที่ 19 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบภารกิจ “The wings of friendship” หรือ “ปีกแห่งมิตรภาพ” ที่ น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องบินนางสาวสยามและเป็นผู้บุกเบิกการบินพลเรือนของประเทศไทย บินเดี่ยวจากประเทศไทยเพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 92

ดังนั้น CAAT จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของการบินพลเรือน โดยภายในงานมีพิธีมอบเครื่องบินจำลอง นางสาวสยาม เพื่อเป็นเกียรติแก่ทายาทและครอบครัวของ น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาเครื่องบินนางสาวสยามและเป็นผู้อนุญาตให้ CAAT นำต้นแบบเครื่องบินมาจัดทำเป็นของที่ระลึก รวมทั้งมอบให้กองทัพอากาศ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสื่อสารเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอากาศยานไทยแก่สาธารณชน

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ย้อนรอยประวัติศาสตร์เครื่องบินนางสาวสยาม” เพื่อร่วมถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่าของ “เครื่องบินนางสาวสยาม” ผ่านการพูดคุยกับผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ นายเลิศชาย พงษ์โสภณ ทายาทที่ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตอันโลดโผนของ น.อ.เลื่อน พงษ์โสภณ ผู้เป็นบิดา จนได้รับฉายาว่า “เลื่อน กระดูกเหล็ก”

ส่วน น.อ.วีระยุทธ ดิษยะศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจและ ความท้าทายในการอนุรักษ์และฟื้นคืนชีวิตให้เครื่องบินนางสาวสยามกลับมาโบยบินสู่ท้องฟ้าอีกครั้ง ด้านนายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานด้าน การบินพลเรือน มุ่งสานต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์และสืบสานคุณค่าของเครื่องบินนางสาวสยาม ด้วยการจัดทำเครื่องบินจำลองนางสาวสยามเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกให้แก่บุคคลหรือองค์กรสำคัญทั่วโลก ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย

ที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้มอบเครื่องบินจำลองนางสาวสยามให้กับบุคคลสำคัญไม่ว่าจะเป็น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และ Mr. Han Kok Juan ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ หรือ CAAS ซึ่ง CAAT มีเป้าหมายให้เครื่องบินจำลองนางสาวสยามทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธไมตรีกับหน่วยงานด้านการบินต่าง ๆ ทั่วโลกตามเจตนารมณ์เดิม ให้คงอยู่ต่อไป

อ่านข่าว :

นานาชาติร่วมยินดี "ไทย" ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ดันท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี "โนนพลล้าน" โคราช

เยือน "ชุมพร" ยลสันทรายบางเบิด - ดันโครงการส่วนพระองค์ รับกิจกรรมไมซ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง