พิรุธ สร้างผิดแบบ “ลู่วิ่ง-เสาไฟ” สนามกีฬาโรงเรียนบ้านโตนด

อาชญากรรม
5 มิ.ย. 67
13:59
6,106
Logo Thai PBS
พิรุธ สร้างผิดแบบ “ลู่วิ่ง-เสาไฟ” สนามกีฬาโรงเรียนบ้านโตนด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ลู่วิ่งสีแดงใหม่เอี่ยม กลางสนามฟุตบอลโรงเรียนเทศบาลบ้านโตนด อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย เพิ่งเปิดใช้งานยังไม่ถึงครึ่งปี มีถึง 4 ลู่วิ่ง หากไม่สังเกต หรือมองผิวเผิน  ด้วยสายตา จะไม่พบความผิดปกติ สภาพไม่ต่างจากสนามลู่วิ่งทั่ว ๆ ไป

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) และโยธาธิการจังหวัด ลงไปตรวจสภาพพื้นที่และวัดระยะพบว่า มีการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบสัญญา กล่าวคือ พื้นจำนวนลู่วิ่ง 4 ลู่ พบว่าในระยะ 100 เมตรแรกมีเพียง 3 ลู่วิ่ง เนื่องจากมีการตั้งฐานเสาไฟล้ำเข้ามาในลู่วิ่ง อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ใช้งานสนามกีฬาแห่งนี้ โดยเฉพาะหากมีการจัดแข่งขันวิ่ง อาจทำให้สะดุดล้มเป็นอันตรายได้

โครงการปรับปรุงปลูกหญ้าสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโตนด เริ่มทำสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2566 ถึงวันที่ 15 ต.ค.2566 โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.พี.เค.ดี.กรุ๊ป ใช้งบประมาณ 6,449,000 บาท

ในสัญญาระบุชื่อ ผู้ควบคุมงาน คือ นายบุญธรรม ขอนทอง นายอัจฉรินทร์ บุญมาก และนายยศพร ทัดเสือ ส่วนคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ คือ นายมะนัส อุไรพันธ์ ประธานกรรมการ นายรัฐธรรมนูญ ไพศาล กรรมการ และนายภุชงค์ รกไพร กรรมการ

“ร้องมาหลายรอบแล้ว ตั้งแต่สร้างเสร็จ และก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ ผมเป็นคนชอบออกกำลังกาย ก็เห็นว่า การมีลู่วิ่งในสนามฟุตบอล จะทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ” นิธี วุฒิสารเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านโตนด ยอมรับในวงประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และโยธาธิการจังหวัด ขอตรวจสอบเอกสารและสัญญาจ้าง โดยมีนายบุญธรรม ผู้อำนวยการกองช่าง และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลบ้านโตนดร่วมชี้แจง โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวมีการเขียนแบบโดยนายช่างประจำของเทศบาลตำบลโตนด และการออกแบบใช้แบบที่ได้มาตรฐาน แต่ยอมรับว่าไม่มีวิศวกรตรวจและเซ็นรับงาน

พลิกแฟ้มโครงการปรับปรุงฯ สนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง

2 เม.ย.67 หนังสือแจ้งเบาะแสลงเลขรับ 470/2567 ส่งตรงมายังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) ระบุว่าต้องการร้องเรียนให้เข้าตรวจสอบโครงการปรับปรุงสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง เทศบาลบ้านโตนด เนื่องจากพบว่ามีการใช้วงเงินงบประมาณที่สูงถึง 6,449,000 บาท พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีการเผยแพร่โครงการดังกล่าวในเว็บไซต์ของเทศบาลตำบลบ้านโหนด ไม่ทราบราคากลางของการซื้อจ้าง ไม่ทราบผู้ชนะการประกวดราคา ใช้งบคุ้มค่าหรือไม่ในการดำเนินโครงการนี้ และคณะกรรมการตรวจรับได้มีการบริหารสัญญาอย่างไร และมีการตรวจรับงานครุภัณฑ์ รวมทั้งกรณีการผู้รับจ้างขุดดินกองไว้และทิ้งงานนานหลายเดือน เทศบาลฯ ได้ตรวจสอบหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้ร้องเรียนที่ไม่เปิดเผยชื่อ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจำนวนลู่วิ่ง 4 ลู่วิ่ง แต่ระยะ 100 เมตร มีเพียง 3 ลู่วิ่ง และการก่อสร้างเป็นไปตามแบบที่ระบุไว้หรือไม่

27 พ.ค.2567 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลบ้านโตนด แฟ้มเอกสารหนานับ 10 เล่ม ถูกส่งมอบให้ตัวแทนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 6 (ป.ป.ท.เขต 6) และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุโขทัย ที่ขอตรวจเอกสารรายละเอียดโครงการปรับปรุงปลูกหญ้าสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโตนดตามข้อร้องเรียน โดยนายมะนัส อุไรพันธ์ ปลัดเทศบาล อ้างว่า ยังไม่ได้รับหนังสือ จึงไม่ได้เตรียมเอกสารไว้ แต่ทาง ป.ป.ท.เขต 6 ยืนยันว่าได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์เมื่อวันที่ 23 พ.ค. และพบว่ามีผู้เซ็นชื่อ "วันเพ็ญ" รับหนังสือแล้วในเวลา 10.00 น. ของวันที่ 24 พ.ค.2567

ผู้ตรวจสอบขอดูเอกสารตัวจริงของโครงการนี้ ในเวลาไม่นานนัก เจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ ทยอยนำเอกสารมาให้ตามคำร้องขอ โดยมีนายกเทศมนตรีตำบลบ้านโตนด ปลัดเทศบาลฯ และผู้อำนวยการกองช่างของเทศบาลฯ ชี้แจงข้อสักถามและข้อสงสัยของคณะเจ้าหน้าที่ ทั้งรายละเอียดวัสดุ ไม่มีค่าบดอัดแนบท้ายสัญญา ค่ากำลังอัดของคอนกรีต (Strength) ประเด็นฐานเสาไฟล้ำลู่วิ่ง รางระบายน้ำ มาตรฐานการรับรองต่าง ๆ เพราะการตรวจรับไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้

ผู้อำนวยการกองช่าง ชี้แจงว่า ตนเองเป็นผู้ทำหน้าที่เขียนแบบ และรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการทุกสัปดาห์ แต่ยอมรับว่าไม่มีวิศวกรรับรองแบบ ส่วนกรณีการก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากฝนตก และสั่งซื้อวัสดุจากจีนมาส่งล่าช้า ซึ่งผู้รับเหมาจ่ายค่าปรับแล้วประมาณ 700,000 บาท โดยฝ่ายสอบสวนและฝ่ายชี้แจงได้ใช้เวลากว่านาน 1 ชั่วโมงที่ใช้เวลาตอบข้อสงสัย ก่อนจะลงพื้นที่สนามกีฬาสำรวจข้อเท็จจริง

ก่อสร้างผิดแบบ-ข้อบกพร่องมีปัญหาในการใช้งาน

ท่ามกลางแดดบ่ายอันร้อนระอุ เจ้าหน้าที่โยธาธิการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการฯ เดินรอบสนามฟุตบอล โดยเฉพาะจุดที่มีปัญหาฐานปูนเสาไฟล้ำลู่วิ่ง ก้ม ๆ เงย ๆ พร้อมตลับเมตรคู่ใจ วัดความยาวเส้นกลางสนามฯ ขอบเขตลู่วิ่งว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

“เต็มๆ” เสียงเจ้าหน้าที่ในทีมนายหนึ่งร้องบอก เมื่อเห็นที่ตั้งเสาไฟฟ้า กินพื้นที่ไป 1 เลนลู่วิ่ง พร้อมสั่งทีมให้เตรียมตลับเมตรวัดระยะความกว้าง ยาว ของลู่วิ่ง

นายสุเมธ วรรณเขียว พนักงานสถาปนิก สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่างานก่อสร้างบางส่วนไม่เป็นไปตามแบบ เช่น พื้นลู่วิ่ง ในแบบระบุว่ามีจุดเริ่มต้น 2 ด้าน แต่กลับมีเพียงด้านเดียว เพราะมีสิ่งกีดขวางเป็นฐานเสาไฟ ทำให้ประชาชนใช้งานไม่สะดวก ซึ่งอาจเกิดปัญหาระหว่างก่อสร้าง แต่ไม่ได้มีการแจ้ง หรือประสานงาน

จำนวนของพื้นฐานที่กำหนดไว้ 2 จุด พบแค่จุดเดียว และความปลอดภัยในการใช้งาน พบสิ่งกีดขวางบริเวณลู่วิ่ง

ขณะที่นายนนทพัฒน์ สิงห์ประยูร หัวหน้าคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 6 กล่าวว่า ประเด็นหลักคือการตรวจสอบการก่อสร้างว่าเป็นไปตามแบบหรือไม่ โดยสำนักงานโยธาฯ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ พบว่าไม่ครบตามแบบทั้งหมด ซึ่งทาง ป.ป.ท.เขต 6 จะนำข้อมูลทั้งหมดไปเทียบกับเอกสารข้อเท็จจริงที่ทางเทศบาลฯ ได้ชี้แจงว่าการดำเนินการมีหลักฐานการขอแก้ไขแบบหรือไม่ ช่างควบคุมงานได้แจ้งหรือไม่ว่าติดปัญหาอุปสรรคในส่วนใด กรณีที่ผู้มีผู้ร้องเรียนปัญหาความปลอดภัยและไม่เป็นไปตามแบบเป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่

ส่วนการตรวจสอบทางกายภาพได้ข้อเท็จจริงบางส่วนแล้ว หากพบว่างานก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบ จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ว่าจะรับไว้ตรวจสอบเอง หรือส่งกลับให้ ป.ป.ท.ดำเนินการ

เราจะวิเคราะห์ว่าหากไม่ตรงกัน ไม่มีรายงานการขอแก้ไข ไม่เป็นไปตามแบบ ต้องส่งต่อให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ

ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจรับงานและเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงต้องดูว่าความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

หลังก่อสร้างเสร็จมีคณะกรรมการตรวจรับ แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการตรวจรับงาน กลับไม่ทราบว่า โครงการดังกล่าวข้อบกพร่องตั้งแต่การเขียนแบบ และประเด็นสำคัญคือ มีการตรวจรับงานไปเรียบร้อยแล้วตามสัญญา ๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่สามารถทำเอกสารย้อนหลังเพื่อแก้ไขในแบบได้ ซึ่งตามกฎหมายถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว และเป็นหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จะเข้าไปตรวจสอบ

เปิดกฎหมายเอาผิดเจ้าหน้าที่-ผู้เกี่ยวข้อง

สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ผู้ที่กระทำความผิดจะถูกดำนินคดีอาญาตามกฎหมาย ดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่
(1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ
(2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง
(3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือ
(4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ

วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท และประมวลกฎหมาย มาตรา 172 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับ "ความผิดอาญา" แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังต้องรื้อถอนเพื่อให้ตรงไปตามแบบอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างไม่ตรงตามแบบ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สำนักงานป้องกันและปราบการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบว่า ในแต่ละปีมักจะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากที่สุด ทั้งการก่อสร้างถนน ระบบประปา อาคารเรียน สถานที่ ลานกีฬาอเนกประสงค์ สนามฟุตบอล ฯลฯ ซึ่งตรวจพบว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาถึงร้อยละ 50 ที่สำนักงาน ป.ป.ท.เขตทั่วประเทศ และสามารถตรวจสอบพบ แต่ในส่วนที่ยังตรวจไม่พบและไม่มีการร้องเรียนเข้ามาอีกจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการปกครอง ระบุว่า ประเทศไทยมี 76 จังหวัด และ 878 อำเภอ มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 2,472 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง และ อบต. 5,300 แห่ง ยังไม่รวมพื้นที่เขตปกครองพิเศษอย่างเมืองพัทยา และกรุงเทพฯ

อ่านข่าว

พิรุธ เครื่องออกกำลังกายสแตนเลสหรู โผล่กลางเนินเขาเพชรบูรณ์ 

ลานกีฬากลางป่าเพชรบูรณ์ ใช้งบไม่คุ้ม ป.ป.ท.ส่ง สตง.ตรวจสอบ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง