วันนี้ (30 พ.ค.2567) เมื่อ 08.24 น.กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยม วิทยา รายงานว่าเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 2.4 ศูนย์กลางแผ่นดินไหว อยู่ที่ ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ความลึก 4 กิโลเมตร รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
นอกจากนี้กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ระบุว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.กระบี่ ประมาณ 196 กม.โดยผู้ที่อยู่พื้นที่ดังกล่าว ออกมาโพสต์ว่ารู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน คล้ายกับมีแผ่นดินไหว ก่อนจะได้รับการยืนยันว่า เกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริงๆ
นอกจากนี้ยังมีการแจ้งมูลรับแจ้งการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากประชาชนหลายจุด เช่น ต.บ่อผุด ต.หน้าเมือง ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เช่น ชั้น 2 บ้านสะเทือน สองทีตึงๆ คล้าย ระเบิด หรือ ช้อกเวฟ สัญญานกันขโมยรถโดยรอบดัง ส่วนอีกคนบอกว่า ชั้น 1 นั่งทำงานอยู่ในตึกนึกว่าอะไรตกหรือรถชนกำแพง ขณะที่บางคนบอกว่า อยู่ทาวน์เฮาส์ ชั้น 1 ความรู้สึกเหมือน อะไรระเบิด แบบตึ้ม แล้วสั่นครื่นๆ
ยันเกาะสมุยปลอดภัย-ไม่อยู่แนวแผ่นดินไหว
ด้านนายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ สาเหตุที่คนในเกาะสมุยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในวงกว้าง เนื่องจากเกิดใกล้ชุมชน และระดับความลึกแค่ 4 กม. ทำให้ประชาชนตื่นตกใจ
จากการตรวจสอบเบื้องต้น ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่า แผ่นดินไหวบนเกาะสมุย ไม่ได้มีสาเหตุจากแผ่นดินไหวจากรอยแนวรอยเลื่อน โดยเฉพาะแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ที่อยู่ห่างถึง 60-80 กม.ที่มีการวางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมซ้าย ประชาชนในพื้นที่ อ.กะปง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ถือว่าไกลกัน
แผ่นดินไหว 2.4 บนเกาะสมุย ไม่เกิดบนแนวรอยเลื่อน แต่สาเหตุการเลื่อนตัวของหินแกรนิตฐานที่มีการขยับตัว ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ชาวบ้านเคยรับรู้แรงสั่นสะเทือนมารอบหนึ่ง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนสาเหตุของปัจจัยที่ทำให้หินแกรนิตฐานใต้พื้นดินที่ลึกลงไป 4-5 กม.มีการขยับตัวจนเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกระแสน้ำใต้ดินจากธรรมชาติ เหมือนกับหินผุ แต่ยืนยันว่า และพื้นที่เกาะสมสมุยไม่เสี่ยงแผ่นดินไหว และเสี่ยงดินถล่ม
ยืนยันและได้พูดคุยกับทางเทศบาลเกาะสมุย เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน นักท่องเที่ยวแล้วว่าเกาะสมุยเป็นโซนปลอดภัยไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว และไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาฟเตอร์ช็อก
ส่วนช่วงหลายปีก่อนในพื้นที่จ.พังงา เคยเกิดแผ่นดินไหวมาจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่น เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2566 เคยแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ในต.ท่านา อ.กะปง จ.พังงา และประชาชนรับรู้แรงสั่นไหวเนื่องจากเกิดที่ระดับความลึก 4 กม. และในอดีตประวัติเคยขยับ 4.3 ใน ต.ศรีสุนทร จ.ภูเก็ตเมื่อ 16 เม.ย.2555 ขณะที่ผลศึกษาประวัติเมื่อ 2,000 ปีก่อนเกิดระดับปานกลาง 6.8