แกะข้อมูลกล่องดำ SQ321 เครื่องเจอ Turbulence - Autopilot ทำงาน

สังคม
30 พ.ค. 67
07:21
1,914
Logo Thai PBS
แกะข้อมูลกล่องดำ SQ321 เครื่องเจอ Turbulence - Autopilot ทำงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์เปิดเผยผลสอบสวนขั้นต้นกรณี SQ321 เที่ยวบินวันที่ 20 พ.ค.2567 เกิดอุบัติเหตุทางอากาศขอลงฉุกเฉินสนามบินสุวรรณภูมิ ข้อมูลจากกล่องดำพบเครื่องบินเข้าเขตสภาพอากาศแปรปรวน สูญเสียระดับความสูง ส่วน Autopilot พยายามปรับให้กลับสู่ความสูงเดิม

ไทยพีบีเอสออนไลน์สอบถามจากอดีตกัปตันที่เคยประจำการเครื่องบินแบบ Boeing 777-300ER ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นเดียวกับเครื่องลำเกิดเหตุ ถึงผลสอบ "ขั้นต้น" ของเที่ยวบิน SQ321 ข้อมูลจากกล่องดำพบ เครื่องบินบินเข้าเขตสภาพอากาศแปรปรวน มีการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเครื่องบินสูญเสียระดับความสูงตามที่ตั้งไว้ในระบบ เครื่องบินจึงพยายามปรับตัวเองให้เข้าสู่ระดับความสูงเดิมตามที่ถูกตั้งไว้จากระบบ Autopilot 

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567 สำนักงานสืบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่งของประเทศสิงค์โปร์ (TSIB - Transport Safety Investigation Bureau Preliminary) เปิดเผยผลการสอบสวนขั้นต้นด้านนิรภัยการบินกรณี SQ321 โดยคณะสอบสวนฯ ซึ่งประกอบด้วย TSIB, NTSB, FAA และ Boeing ได้ทำการดึงข้อมูลจากกล่องดำของเครื่องบินและลำดับเหตุการณ์ได้ ดังนี้

1. SQ321 บินออกจากลอนดอน ในวันที่ 20 พ.ค.2567 หลังจากบินมาถึงจุดที่เกิดเหตุบริเวณประเทศเมียนมาในช่วงเวลา 14:49:21 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) ขณะที่เครื่องบิน บินอยู่ที่ระดับความสูง 37,000 ฟุต และเป็นไปได้ว่าเครื่องบินได้บินผ่านบริเวณที่เป็นกลุ่มเมฆที่กำลังก่อตัว โดยเหตุการณ์ Turbulence เกิดอยู่ในช่วงเวลา 19 วินาที ที่บินผ่านบริเวณดังกล่าว ช่วงแรกมีแรงสั่นสะเทือนในระดับไม่แรง

ข้อมูลมีการบันทึกไว้ว่า เครื่องบินไม่สามารถรักษาระดับความสูงและความเร็วให้คงที่ได้ เริ่มแกว่งตัวขึ้นไปที่ความสูง 37,362 ฟุต และกลับมาที่ 37,000 ฟุต ในช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่นักบินให้สัญญาณรัดเข็มขัดที่นั่ง

2. จนมาถึงเวลา 14:49:41 น. เกิดการสั่นสะเทือนที่รุนแรงระดับจาก - 1.5G สู่ + 1.5G ภายใน 4 วินาที ในช่วงนี้เป็นไปได้ที่ภายในห้องโดยสารจะมีผู้ที่ลอยตัวและหล่นลงมาจากการสั่นสะเทือน

แต่การสั่นสะเทือนมาถึงจุดสูงสุดซึ่งเป็นไปได้ว่าการบาดเจ็บของลูกเรือและผู้โดยสารจะเกิดในช่วงต่อมาที่มีการสั่นสะเทือนอยู่ประมาณ 4.6 วินาที ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความสูง 178 ฟุต (เปลี่ยนจาก 37,362 ฟุต เป็น 37,184 ฟุต)

3. หลังจากนั้นนักบินได้ทำการบินแบบไม่ใช้ Autopilot ประมาณ 21 วินาที ต่อมาเมื่อได้รับรายงานจากทางลูกเรือว่ามีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ นักบินจึงขอเปลี่ยนเส้นทางบินโดยได้ขอลงฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นักบินเลยปลด Autopilot อย่างน้อยถ้ามีลมมาอีกครั้ง เครื่องจะได้ไม่ต้องมาปรับความสูงให้เท่าเดิม คือ ถ้าลมตีขึ้นไปสูงตรงไหนก็คงไว้เท่านั้นก่อน แต่ถ้ามี Autopilot เกิดโดนลมตีขึ้นไปสูง สักพักพอเครื่องประมวลผลแล้ว จะพยายามกดหัวเครื่องบินให้ลงมาที่ความสูงที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก จะกลายเป็นสู้กลับไปมาอยู่อย่างนั้น

4. หลังจากประสบเหตุการณ์ Turbulence แล้วประมาณ 17 นาที นักบินจึงได้ขอทำการลดระดับความสูงจาก 37,000 ฟุตลงมาบินที่ 31,000 ฟุตและทำการลงสนามที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 15:45:12 น.

5. ทั้งนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องทำการสืบสวนในเชิงลึกอีกหลายขั้นตอนต่อไป เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง รายงานดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลจากกล่องดำที่บันทึกเอาไว้เท่านั้น 

ที่มา : กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์

อ่านข่าวเพิ่ม : 

เปิดใจทีมปิดทองหลังเครื่อง ปฏิบัติการรับมือเหตุฉุกเฉิน SQ321

ผู้โดยสารโปรดทราบ! กรุณารัด "เข็มขัดที่นั่ง" ทุกครั้งเมื่อโดยสารเครื่องบิน

เรารู้อะไรบ้างจากการ "ตกหลุมอากาศ" ของ SQ321

ข่าวที่เกี่ยวข้อง