ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ราชทัณฑ์เปิดข้อมูลรักษา "บุ้ง ทะลุวัง" ก่อนส่ง รพ.ธรรมศาสตร์

อาชญากรรม
17 พ.ค. 67
15:38
855
Logo Thai PBS
ราชทัณฑ์เปิดข้อมูลรักษา "บุ้ง ทะลุวัง" ก่อนส่ง รพ.ธรรมศาสตร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การเสียชีวิตของ "บุ้ง ทะลุวัง" น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกหลายฝ่ายตั้งคำถามถึง ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การเกิดอาการวูบขณะพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จนถึงการส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ว่าเกิดอะไรขึ้น

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า จากรายงานของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า ในวันเกิดเหตุ "บุ้ง" และ "ตะวัน" นอนพักรักษาตัวอยู่ด้วยกัน เตียงอยู่ใกล้กัน ทั้งคู่ตื่นนอนประมาณ 03.00 น. และมีการพูดคุยกัน จากนั้น "ตะวัน" เดินไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาถาม "บุ้ง" ซึ่งยังนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วยว่า ยังปวดท้องอยู่หรือไม่

บุ้ง ทะลุวัง นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

"บุ้ง ทะลุวัง" นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

"บุ้ง ทะลุวัง" นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจสภาพร่างกาย "บุ้ง" ตามปกติทุกวัน ทั้งการตรวจวัดความดัน ออกซิเจน การเต้นของหัวใจ แล้วจึงไปตรวจ "ตะวัน" หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที หรือเวลาประมาณ 06.00 น. "บุ้ง" ได้ลุกขึ้นนั่ง และปรากฏว่า มีอาการวูบ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) จำนวน 4 คนก็ได้ยก "บุ้ง" ทั้งที่นอนไปรักษาต่อที่ห้องไอซียูทันที และทำ CPR มีการตรวจวัดชีพจร ให้กลูโคส ฉีดอะดรีนาลีนเพื่อกระตุ้นหัวใจโดยมีแพทย์เป็นผู้ฉีด

อ่านข่าว : เช็กวงจรปิดก่อน "บุ้ง ทะลุวัง" ตายผลชันสูตรเร็วสุด 15-30 วัน

"มีการทำ CPR ตลอดเวลาต่อเนื่อง จนกระทั่งนำตัวส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นมีการประเมินสภาวะร่างกายโดยการจับชีพจรแต่ไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ แต่สัญญาณชีพที่ตรวจวัดได้ครั้งสุดท้ายคือ 90 ครั้ง/นาที จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จึงแจ้งว่า "บุ้ง" เสียชีวิตอย่างสงบ"

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ข้อสงสัยและคำถามว่า "บุ้ง" เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์หรือไม่นั้น ทางกรมราชทัณฑ์จะต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติม แต่ระหว่างนั้น แพทย์และเจ้าหน้าที่ได้พยายามยื้อชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นชีพไปแล้ว

"ยืนยันว่า ไม่ได้ส่งตัวช้า เพราะหลังเกิดได้มีประสานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์โดยทันที แต่ระหว่างนั้น มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลายอย่าง ทั้งการเตรียมเครื่องกระตุ้นหัวใจ อุปกรณ์อื่น"

ส่วนข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ส่งตัวไปโรงพยาบาลที่ใกล้กว่าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ นายสหการณ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ใกล้กว่า เพราะขึ้นทางด่วนโทลเวย์ไปได้เร็วกว่า อีกทั้งมีประวัติการรักษาตัวอยู่แล้ว ส่วนการให้ความช่วยเหลือ เราได้พยายามสุดความสามารถแล้ว ซึ่งจากการได้พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นแพทย์ก็ยืนยันว่า ได้ทำไปตามมาตรฐานของโรงพยาบาล

"เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่มีอาการที่บ่งชี้มาก่อนว่า จะเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อชีวิต"

อ่านข่าว : ครอบครัวรับศพ "บุ้ง ทะลุวัง" ประกอบพิธี-เผา 19 พ.ค.นี้

อธิบดีราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือ ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ห้องกู้ชีพของทัณฑสถานและการรักษาของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีความพร้อมในระดับมาตรฐานของสถานพยาบาลชั้นทุติยภูมิโดยทั่วไป แต่หลังจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีสารอาหาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกู้ชีพเพียงพอหรือไม่

"การดูแลรักษาในวันนั้น เนื่องจาก "บุ้ง" เป็นผู้ป่วยพักฟื้น จึงไม่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่จะมีการตรวจ จัดอาหารและอาหารเสริมให้ตามปกติ และมีเจ้าหน้าที่ในห้องดูแล โดยมีแพทย์และพยาบาลควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง เพราะในชั้นที่ "บุ้ง" พักรักษาตัว มีผู้ป่วยหญิง 63 คน ทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณา"

สำหรับเรื่องการรับประทานอาหารของ "บุ้ง" มีภาพจากกล้องวงจรปิด ระบุชัดว่า บุ้ง เริ่มกลับมารับประทานอาหาร ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. เป็นอาหารอ่อน ประเภทข้าวต้ม ไข่เจียว แต่ปฏิเสธการรับสารอาหารทางหลอดเลือด

ซึ่งตามปกติทางโรงพยาบาลจะจัดอาหารสำหรับผู้ป่วย โดยมีนักโภชนาการพิจารณาว่า อาการป่วยลักษณะนี้จะต้องรับประทานอะไร ส่วนใหญ่เริ่มจากอาหารอ่อน ตามด้วยวิตามินเสริมและนม ขึ้นอยู่กับสภาพอาการของผู้ป่วย

"ที่ได้รับรายงาน บางครั้ง "บุ้ง" ก็เลือกดื่มน้ำหวาน หรือรับประทานอาหารเบาๆ ก่อน และบุ้งยังมีกิจกรรมกิจวัตรประจำวันปกติ ส่วนเรื่องการเต้นของชีพจรหัวใจของบุ้งก่อนเสียชีวิตอาจจะประมาณ 90 ครั้งต่อนาที ซึ่งมันเป็นค่าปกติ จึงไม่ได้ทำให้เห็นว่าต้องมีการกู้ชีพกะทันหัน"

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังกล่าวถึง กรณีที่ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของ "บุ้ง" ระบุว่า ผลการตรวจกระเพาะอาหารของ "บุ้ง" เบื้องต้น พบว่า ไม่มีอาหารเลยนั้น ต้องชี้แจงว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียด แต่ประสานไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้ว ทราบว่ารายละเอียดบางส่วน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ยังต้องประสานการทำงานร่วมกับสถานพยาบาลอื่นในการตรวจชันสูตร

"ขณะนี้ ผลการชันสูตรพลิกศพยังไม่ออก ขอให้รอการชันสูตรพลิกศพให้เสร็จสิ้นก่อน หากไม่รอกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ก็ยังยืนยันไม่ได้...ขอชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ทางส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ได้มีหนังสือส่งตัว "บุ้ง" และ "ตะวัน" ให้กลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยระบุว่า สภาพร่างกายปกติ และคู่อยู่ในสภาวะพักฟื้นไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน"

อ่านข่าว : "บุ้ง" ตายก่อนถึง รพ.ธรรมศาสตร์ ใบมรณบัตรชี้ "หัวใจล้มเหลว"

นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า "บุ้ง" ไม่ยอมรับสารอาหารทางหลอดเลือด ถือเป็นสิทธิของผู้ป่วยและสิ่งสำคัญคือแพทย์ไม่มีสิทธิไปบังคับด้วยการกินหรือให้สารอาหารทางหลอดเลือด ตามที่มีการกำหนดสำหรับแพทย์สมาคมโลก ((World Medical Association : WMA) ในกฎโตเกียวปี ค.ศ 1975

และคำประกาศมอลตา (Declaration of Malta) ที่ออกเมื่อปี 1991 และแก้ไขล่าสุดปี 2017 ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยินยอม หากไปทำก็ถือเป็นการทำลายคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ตามจากกฎดังกล่าวของแพทย์สมาคมโลก ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้มีการนำมาปรับใช้ก่อนว่า หากผู้ต้องขังมีการอดอาหารและน้ำ ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการโน้มน้าวก่อน และบอกผลเสียต่อสุขภาพหากอดอาหาร

แต่ถ้าเขายืนยันตามความมุ่งมั่นเราก็มีหน้าที่ประคับประคองดูแล หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็ต้องเข้าช่วยเหลือทันที

อ่านข่าว : 

"ราชทัณฑ์-แพทย์" แจงไทม์ไลน์ขั้นตอนกู้ชีพ "บุ้ง ทะลุวัง" ไม่ตรงกัน

ราชทัณฑ์ ยังรอผลชันสูตร "บุ้ง ทะลุวัง" ยันยึดหลักสิทธิมนุษยชน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง