การพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าเป็นพระประธานในวัดโบราณ ในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระประธานในพระอุโบสถวัดหลายแห่ง ใน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประเทศไทย ทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่า ศิลปะโบราณเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน แม้จะมีแม่น้ำโขงกั้นกลาง
ความเก่าแก่ของเชียงแสน ทำให้กรมศิลปากรเคยมีดำริว่า จะเสนอเป็นมรดกโลก เมื่อหลายปีก่อน
อ่านข่าว : พบ “พระประธาน” วัดโบราณ จมแม่น้ำโขง เมืองต้นผึ้ง ประเทศลาว
นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 (เชียงใหม่) เล่าว่า ที่เมืองเชียงแสน ในวัดป่าสัก แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ
อันดับแรก คุณค่าเชิงพื้นที่กายภาพ เชียงแสนเป็นเมืองเก่าแก่ มีกำแพงเมือง คูเมือง ป้อมเมือง ที่สมบูรณ์ที่สุดของล้านนา มีวัดในเมืองมากสุดในล้านนารวมแล้วถึง 139 วัด ในกำแพงเมือง 76 วัด นอกกำแพงเมือง 63 วัด เฉพาะในเมืองก็มากกว่าเชียงใหม่ที่มีประมาณ 50 กว่าวัด
“เชียงแสน” ที่ขีดเส้นยาว คือกำแพงเมืองโบราณ ในพื้นที่กำแพงเมืองและใกล้วัดจำนวนมาก จุดที่ขีด X คือ จุดที่ค้นพบพระพุทธรูปมากกว่า 200 องค์ เสาวิหาร เจดีย์ และเป็นบริเวณที่คาดว่า พบพระที่คาดว่าเป็นพระประธานด้วย
พื้นที่ตั้งของเมืองยังเป็นภูมิศาสตร์ จุดยุทธศาสตร์การค้าขายสำคัญ มาตั้งแต่อดีต คือ ลาว พม่า จีน โบราณสถานสำคัญของเมือง เช่นที่วัดป่าสัก จึงได้รับอิทธิพลจากหลายชนชาติ
อันดับสอง คุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ เชียงแสนเป็นเมืองสำคัญทุกสมัย และเคยเป็นศูนย์กลางของล้านนาในยุคแรก ช่วงราชวงศ์มังราย สมัย พญาแสนภู พญาคำฟู พญากือนา ล้วนปกครองเชียงแสน ก่อนย้ายเมืองหลวงกลับเชียงใหม่ หรือแม้แต่สมัยพม่าปกครองเมืองนี้ ก็ยังคงความสำคัญเป็นเมืองหลักคุมที่ราบลุ่มเชียงราย-เชียงแสน
เมืองเชียงแสนใน-นอกเมือง มีวัด 139 วัด ตรงข้ามคือ เมืองสุวรรณโคมคำ ปัจจุบันเมืองต้นผึ้ง ประเทศลาว
อดีตที่รุ่งเรืองสะท้อนผ่านซากโบราณสถานหลายแห่ง เช่น วัดป่าสัก คือภาพสะท้อนสูงสุดของงานช่างเจดีย์ที่รับอิทธิพลทางศิลปะ เช่น จากจีน พม่า ผ่านลายปูนปั้น ที่วิจิตรงดงามสะท้อนผ่านจุดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ในมติของเมืองที่มีความหลากหลายชนชาติของผู้คน
แม้ความรุ่งเรืองของเมืองจะเห็นเป็นที่ประจักษ์ทั้งกายภาพ และเอกสารประวัติศาสตร์ แต่นายสายกลาง ยอมรับว่า “เมืองเชียงแสน” ที่กรมศิลปากรจะนำเสนอเป็นมรดกโลก ลำพังอาจทำไม่ได้ หากขาดคนที่อยู่ในชุมชนเมืองเชียงแสน ที่ต้องร่วมกันทำแผนจัดทำพื้นที่กับชุมชน และผังเมือง ออกแบบพื้นที่ทั้งการอนุรักษ์ให้คนอยู่กับเมืองเก่าอยู่ร่วมกันได้
โบราณสถานจำนวนมากที่พบได้ทั่วไปในบริเวณเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งกรมศิลปากรพยายามผลักดันให้เป็นมรดกโลก
และด้วยการพัฒนาที่ผ่านมาเชียงแสน ถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์เมืองสำคัญค้าชายแดน การขนส่งค้าขายลำน้ำโขงกับจีน ที่ผ่านมา ความพยายามสร้างท่าเรือเชียงแสน หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน แต่คนเชียงแสนก็ลุกขึ้นมาค้านให้ย้ายจากนี้ไปจุดอื่น เป็นหนึ่งตัวอย่างสะท้อนการพยายามที่จะรักษาเนื้อ หรือพื้นที่ของเมืองเก่า
สิ่งที่น่ากังวล คือการพัฒนาเมืองที่ไร้ทิศทาง ซึ่งปัจจุบันเชียงแสน ยังมีอาคารที่ไม่บดบังโบราณสถานมากนัก แต่ในอนาคตหากเมืองเติบโตขึ้น การขยายของเมือง สิ่งปลูกสร้าง จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก หากไม่มีการจัดผังเมือง ออกแบบผังเมืองที่ดี
เมืองเชียงแสนใน-นอกเมือง มีวัด 139 วัด ตรงข้ามคือ เมืองสุวรรณโคมคำ ปัจจุบันเมืองต้นผึ้ง ประเทศลาว
สำหรับเชียงแสนมรดกโลก จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือ ที่จะตอกย้ำให้คนในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญ และคนในพื้นที่ได้ภูมิใจ เห็นคุณค่ามรดกเชียงแสนเป็นมรดกวัฒนธรรม สะท้อนความรุ่งเรืองของคนเชียงแสนเอง ที่ต้องกระตุ้นให้ช่วยกันดูแลรักษา เพราะมรดกนี้ไม่ใช่แค่มรดกของคนเชียงแสน แต่เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติทั้งโลก
เกาะกลางลำน้ำโขง หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย ในเขตประเทศลาว ถูกถมกลายเป็นพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งพาณิชย์แหล่งใหม่ของทุนจีน ที่มาประกอบธุรกิจในลาว เช่าพื้นที่ 99 ปี ที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว
“เชียงแสน มรดกโลก” อาจไม่ได้ขึ้นทะเบียนได้ทันทีทันใด อาจต้องใช้เวลาอีก 10 หรือ 20 ปี แต่ต้องเริ่มทำ และค่อยๆ ทำให้ทุกคนรักและห่วงแหนมัน เพราะคือความยั่งยืนที่ทุกคนจะช่วยกันดูและรักษาเมืองนี้ไว้
รายงาน : โกวิท บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ