ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ วิ่งตามราคาสินค้าไม่เคยทัน

การเมือง
15 พ.ค. 67
13:36
968
Logo Thai PBS
ขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ วิ่งตามราคาสินค้าไม่เคยทัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมครม.สัญจรที่ จ.เพชรบุรี กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน และลูกจ้างต่างได้รับข่าวดี มติ ครม.เห็นชอบปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 400 บาทพร้อมกันทั้งประเทศ เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้

ถือเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งที่ 3 ของปี 2567 หลังจากปรับขึ้นครั้งแรก 1 ม.ค. ครั้งที่ 2 นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ สำหรับกิจการโรงแรม ขนาด 4 ดาวและ 5 ดาว ครั้งที่ 3 เริ่ม 1 ต.ค. มากครั้งที่สุดเท่าที่เคยมีมา

แม้ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยจะให้ขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ โดยให้เหตุผลว่า บางกิจการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อสภาพคล่อง จนทำให้ธุรกิจเกิดปัญหาได้ อาทิ เอสเอ็มอี กิจการในท้องถิ่น ร้านขายของชำ

แต่กระทรวงแรงงาน เจ้าภาพนำข้อเสนอสู่ที่ประชุม ครม.สัญจร แจกแจงละเอียดยิบ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพของผู้ใช้แรงงานมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น หรือปรับลดขนาดหรือปริมาณลง

จึงสมควรให้มีการทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ใหม่ และคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาด้วยความรอบคอบ เหมาะสม และเป็นธรรม อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค

ความจริง ปัจจัยนำไปสู่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งใหม่ นอกจากสู้ค่าครองชีพปัจจุบันไม่ได้แล้ว ยังปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัจจัยทางการเมือง หลังจากพรรคการเมืองใหญ่ ได้หาเสียงเรื่องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไว้ รวมทั้งพรรคเพื่อไทย

นอกจากประกาศจะขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 600 บาท ในปี 70 แล้ว ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ยังประกาศปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท โดยทำทันทีในปีแรก ซึ่งจะครบ 1 ปีรัฐบาลในเดือน ก.ย.นี้

จึงเป็นทั้งคำพันธะสัญญากับประชาชน และไม่ต้องถูกสะกิดเตือนจาก กกต.ว่า ไม่ตรงกับที่หาเสียงไว้ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเรื่องคะแนนนิยมต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ที่หวังจะกลับมาเป็นพรรคเบอร์ 1 ด้วย เพียงแต่เรื่องค่าแรงนั้น ต้องขับเคลื่อนผ่านพรรคภูมิใจไทยที่ดูแลกระทรวงแรงงาน

ขณะที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำให้พรรคภูมิใจไทยต้องจุกอก เพราะจะเอากัญชากลับมาเป็นยาเสพติด ถือเป็นการเตะตัดขาโดยตรง บ้างก็อาจใช้คำว่า “หักหลัง” เพราะเป็นนโยบายเรือธงของพรรคภูมิใจไทย และเป็นที่มาของมอตโต้ “พูดแล้วทำ”

แม้เรื่องค่าแรงขั้นต่ำพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีแรงงาน ของพรรคภูมิใจไทย ประกาศอย่างมั่นใจวันก่อนว่า ค่าแรงจะเป็นวันละ 400 บาท ซึ่งหากทำสำเร็จ พรรคภูมิใจไทยจะได้เครดิตไปเต็มๆ ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย เพราะยังไม่สามารถเดินหน้านโยบายเรือธง อย่างดิจิทัลวอลเลตได้

ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ตุนผลงานเรื่องค่าไฟฟ้า และจ่อจะดันกฎหมายคุม “ราคาน้ำมัน” ป้องกันขึ้น-ลงแบบรายวันของผู้ค้า อยากจะขึ้นก็ขึ้น อยากจะลงก็ลง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ กำลังมีผลงานเรื่องที่ดินทำกิน และเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. ไม่นับเรื่องคุมกระทรวงเกษตรฯ เบ็ดเสร็จขณะนี้

สำหรับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ คำถามสำคัญคือที่ได้รับอยู่ปัจจุบันเพียงพอกับค่าครองชีพที่เป็นอยู่หรือไม่ คำตอบคือไม่พอ ขณะเดียวกันอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ใช้แรงงานพยายามสู้มาตลอด คือรายได้ควรต้องครอบคลุมคู่สมรสและลูกด้วย ไม่ใช่เพียงแค่คนเดียว

ยังไม่นับเรื่องสิทธิประโยชน์พึงมีพึงได้ ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ รวมทั้งเรื่องผู้ใช้แรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับสวัสดิการอื่นใด

ที่สำคัญที่สุดคือ การปรับขึ้นค่าแรงจะมีผลช้ากว่าราคาสินค้าอุปโภคบริบริโภค และค่าครองชีพที่จะถีบตัวไปดักรอล่วงหน้าหลายเดือนอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ทั้งราคาอาหาร สินค้าทั่วไป ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ขึ้นไปก่อนหน้าหลายเดือนแล้ว แต่ค่าแรงขั้นต่ำจะไปเริ่ม 1 ต.ค.

ขณะที่รัฐมนตรีแรงงานเพิ่งบอก จะไปคุยกับรัฐมนตรีพาณิชย์เพื่อสกัดไม่ให้มีการฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้ารับค่าแรงใหม่เมื่อไม่กี่วันก่อนนี้เอง

แต่ครั้นจะไปตำหนิร้านค้า ร้านข้าวแกงสำหรับขายคนทั่วไปก็ไม่ได้ เพราะมีการขยับราคามาตั้งแต่ต้นทาง จากผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ก่อนแล้ว จึงต้องปรับราคาตามต้นทุนที่แพงขึ้น

ฉะนั้นการจะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานสามารถสัมผัสได้จริง ๆ ว่า ค่าแรงได้รับการปรับขึ้น ต้องมีฝ่ายผู้อำนาจไปปรามและสั่งห้าม กิจการเจ้าสัวรายใหญ่ และแหล่งผลิตวัตถุดิบที่เป็นต้นทาง ไม่ใช่ทำได้แค่ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการอย่างที่ผ่านๆ มา

ปัญหาอยู่ที่จะทำจริงได้หรือเปล่า หรือแค่คุยโวเพื่อให้ดูดี แต่แท้จริงแล้ว ค่าแรงที่ปรับขึ้นกลับมีค่าน้อยกว่าค่าครองชีพที่ต้องจ่ายจริง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง